ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตาม รวมถึงทักษะของคนทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ในปี 2023 อาชีพและทักษะใดที่กำลังมาแรง และเราต้องทำอย่างไรจึงจะได้ค่าตัวเพิ่มขึ้น Future Trends สรุป 5 ขั้นตอน จากคำแนะนำของ โอชวิน จิรโสตติกุล ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟิวเจอร์สกิล (Future Skill) มาให้ทราบ ดังต่อไปนี้
1. ดูความสนใจของตัวเอง
ไม่ว่าจะทำงานอะไร สิ่งแรกที่ต้องพิจารณา คือ งานนั้นมันน่าสนใจสำหรับเราแค่ไหน หากเป็นทักษะหรือสิ่งที่เราสนใจ เรามีแนวโน้มว่าจะทำได้ดีและทำได้นานต่อเนื่องจนสำเร็จ
ข้อมูลจาก Future Skills พบว่า คอร์สที่คนนิยมเรียนมากที่สุดในปี 2022 คือ วิทยาการข้อมูล (Data science) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ World Economic Forum ที่ระบุว่า งานที่จะเกิดใหม่ในปี 2020 – 2025 คือ Data Analysis and Scientist, Digital Marketing and Strategy Specialists และ Big Data Specialists
บริษัทยุคนี้จะดำเนินการหรือตัดสินใจด้วยข้อมูล ฉะนั้น คนทำงานจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นให้ได้ เป็นทักษะที่ต้องมีในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ได้เปรียบกว่าคนที่ไม่มีทักษะนี้เมื่อสมัครงาน
ข้อมูลยังพบว่า คนเปลี่ยนงานกันมาก หลายคนไม่ได้ทำงานตามสาขาวิชาที่เรียนมา โดยผลสำรวจของ Nation Science Technology and Innovation Policy Office (2018) พบว่า 41.7 เปอร์เซ็นต์ ทำงานไม่ตรงสาขา มีเพียง 33.3 เปอร์เซ็นต์ ที่ทำงานตรงสาขา นั่นหมายถึงว่า ผู้ที่ทำงานไม่ตรงสาขาที่เรียนมา จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มเติม
2. ดูความต้องการของตลาดและธุรกิจที่เป็นขาขึ้น
ข้อมูลจาก indeed.com ระบุถึงเทรนด์ธุรกิจที่จะมาในอนาคตว่า ส่วนใหญ่อยู่ในสายเทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง, การตลาดแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายบนโซเชียลมีเดีย และอี-คอมเมิร์ช เป็นต้น
McKinsey & Company ยังพบอีกว่า ธุรกิจด้านนวัตกรรม จะเติบโตกว่าที่ไม่เป็นนวัตกรรมถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปกติ และกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงหลังวิกฤต สอดคล้องกับบริษัทที่เติบโตที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ในจำนวนนี้ 4 บริษัท (Apple, Microsoft, Alphabet (Google), Amazon) ล้วนมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม
3. ดูว่าอนาคตอีก 5 – 10 ปี ธุรกิจหรืองานนั้นจะยังเป็นที่ต้องการหรือไม่
ข้อนี้อาจต้องใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์มาประกอบ เพื่อดูว่า ทักษะและงานที่เราสนใจเรียนรู้ อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หรือมีอะไรมาแทนที่หรือไม่
ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Future Skills ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องการคนที่เป็นมันสมองมากขึ้น เนื่องจากช่วงปี พ.ศ. 2562 – 2563 มีข้อมูลพบว่า ประเทศไทยเกิดภาวะสมองไหล คนเก่งๆ แห่ออกไปทำงานต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น หลังโลกปลดล็อกจากวิกฤตโควิด-19
4. เขียน Learning Framework ของตัวเอง
เพื่อดูว่างานของเรานั้น ต้องการทักษะอะไรบ้าง โอชวินแนะนำให้ใช้ Buffer’s T-Shaped Marketer Framework ซึ่งไม่ได้ใช้ได้แค่เรื่องการตลาดอย่างเดียว แต่สามารถปรับใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ โดยความรู้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ Base Knowledge, Foundation และ Channel Expertise
วิธีนี้จะสามารถทำให้เราพัฒนาตนเองให้ชัดขึ้น (สามารถดู Buffer’s T-Shaped Marketer Framework ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3I5Vj4A)
5. ใช้ Progressive Mastery ในการฝึกทักษะ
การใช้ Progressive Mastery จะเป็นวิธีที่ทำให้เราพัฒนาทักษะหรือความรู้ได้เร็วขึ้น มีทั้งหมด 10 ขั้นตอน คือ
- Determine a skill อยากจะฝึกเรื่องอะไร
- Set goal กำหนดเป้าหมาย
- Set meaning (why?) ถามตัวเองว่าทำไมต้องพัฒนาเรื่องนี้
- Key success factors & weakness อะไรคือปัจจัยไปสู่ความสำเร็จ
- Visualize success & failure จำลองภาพความสำเร็จและล้มเหลวนั้น
- Practice with expert ฝึกกับผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์
- Progress & Feedback มีการทำฟีดแบ็กว่าเป็นอย่างไร อุปสรรคคืออะไร
- Learning community มีกลุ่มที่สนใจคล้ายกันไว้เรียนรู้พูดคุย
- Set higher goal กำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้น
- Teach other สอนคนอื่น เพราะการสอนเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งหมดที่กล่าวมา จะทำให้เราเห็นภาพว่า ควรฝึกทักษะหรือเรียนรู้เรื่องอะไรให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองและสิ่งที่ตลาดต้องการ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองและค่าตอบแทนในการทำงานในอนาคต
สามารถชม Session: เรียนรู้อย่างไรให้เป็นคนค่าตัวแพงในปี 2023 โดย โอชวิน จิรโสตติกุล ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟิวเจอร์สกิล (Future Skill) ในงาน Future Trends Awards 2022 ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3C02qHW
สามารถชมไลฟ์สดบรรยากาศงาน Future Trends Awards 2022 รวมทั้งผลรางวัลและสปีกเกอร์ทุก Session ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3PVrS6Z
ประมวลผลรางวัลและกิจกรรมภายในงาน ‘Future Trends Awards 2022’ สามารถชมได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3VpCNXN