“ยังไม่ถึงปีเลยจะลาออกแล้วเหรอ?” เข้าใจอีกมุมของ ‘Job Hopper’ เมื่อการเปลี่ยนงานบ่อยไม่ได้แปลว่าไม่อดทนเสมอไป

Share

“เด็กสมัยนี้ความอดทนต่ำจัง”
“คนรุ่นใหม่เปลี่ยนงานบ่อย ทำได้ไม่ถึงปีก็ลาออกแล้ว”

ในโลกของการทำงาน เรามักจะได้ยินประโยคทำนองนี้แปะป้ายเด็กรุ่นใหม่ว่า เป็นมนุษย์ไม่ทนงานอยู่เสมอ แถมบางทีอะไรแบบนี้ก็มาพร้อมกับการเปรียบเทียบว่า “ตอนฉันอายุเท่านี้นะ ฉัน…” ด้วย

Job Hopper Generation หรือ Snowflake Generation คือฉายาของคนรุ่นใหม่ที่ถูกเปรียบเปรยว่า พวกเขาทำงานที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ไม่นาน ชอบกระโดดไปมา ย้ายงานหนึ่งไปสู่อีกงานหนึ่งบ่อยๆ คล้ายกับเกล็ดหิมะที่แม้จะดูสวย แต่ก็อ่อนไหว เปราะบาง เหยาะแหยะ และไม่ค่อยเอาไหน แตกต่างจากคนรุ่นก่อน อย่างพ่อ-แม่ที่มักจะ Settle ทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งนานๆ จนเกิดเป็นความ ‘Loyalty’

ดร.คาร์ล นาสซาร์ (Carl Nassar) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตของ LifeStance Health อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า คนรุ่นก่อนมักถูกสอนให้อดกลั้นแทนที่จะแสดงออก มองว่าการแสดงออกมาเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ แต่คนรุ่นใหม่กลับตรงกันข้าม

แน่นอนว่า การเปลี่ยนงานบ่อยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี เนื่องจาก เวลาไปสมัครงาน ทำให้มีประวัติที่ดูไม่ค่อยดี และอาจจะถูกมองว่าไม่ทนงาน แต่ว่ากันตามตรง การเหมารวม ตัดสินพวกเขาด้วยเกณฑ์แบบนี้ก็ดูจะใจร้ายเกินไปหน่อย รวมไปถึงในความเป็นจริง สมการของเรื่องนี้อาจมีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวด้วย

บทความเรื่อง ‘Gen Z : The workers who want it all’ บนเว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซี (BBC) ได้กล่าวถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ไว้อย่างน่าสนใจว่า เงินที่ดี หรือความมั่นคงไม่ใช่คำตอบทั้งหมดที่จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องทน ทุ่มเททำงานบริษัทแห่งหนึ่งนานเพียงอย่างเดียว แต่วัฒนธรรมองค์กรที่ Healthy การรายล้อมไปด้วยคนที่ไม่ Toxic สมดุลชีวิต Work-Life Balance งานที่สร้างความหมายให้ชีวิต และความก้าวหน้า การเติบโตก็สำคัญไม่แพ้กัน

หรือบางคนที่อาจจะไม่ได้มีจังหวะชีวิตที่ลงตัว พอเรียนจบมาปุ๊บก็ไม่ได้หาตัวเองเจอทันทีว่า อยากทำงานอะไร อยากเติบโตในสายไหน ไม่ได้โชคดีได้ทำงานที่ใช่ ไม่ได้โชคดียิ่งกว่าที่ได้ทำงานที่ใช่ในบริษัทที่ชอบ ได้เงินเดือนที่ถูกใจ และมีหัวหน้า เพื่อนร่วมงานที่น่ารักตั้งแต่งานแรกๆ

ซึ่งพอวันหนึ่งมีทางเลือก โอกาสที่ดีกว่า ความท้าทายใหม่ๆ ปรากฏขึ้น บวกกับความสำเร็จของคนรอบข้างที่ใกล้ตาจนหลายคนรู้สึกอยากไปถึงจุดนั้นเร็วๆ บ้าง ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากพวกเขาจะ Transform ตัวเองไปเป็น Job Hopper โบกมือลา ขอโบยบินออกไปเติบโตที่อื่น

ก่อนหน้านี้ บี-อภิชาติ ขันธวิธิ Managing Director บริษัท QGEN Consultant และเจ้าของเพจ HR – The Next Gen เคยให้สัมภาษณ์หัวข้อดราม่าเด็กยุคนี้ไม่สู้งานกับ The MATTER  ไว้ว่า “เจน Y ยุคต้นๆ อาจไม่ได้เปลี่ยนงานถี่เท่ากับเจน Y หรือเจน Z ในยุคปัจจุบัน มันเป็นเรื่องปกติ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่โอกาสเกิดขึ้นในทุกอณูของชีวิต แล้วเด็กรุ่นนี้เป็นเด็กที่เข้าถึงโอกาสมากกว่ายุคก่อนๆ ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องง่ายที่เห็นโอกาสอยู่ตรงหน้า ถ้าเป็นเรา เราจะไม่ไปเหรอ เมื่อมีโอกาสที่ดีกว่า เราก็อยากเดินไปในที่ที่ดีกว่า”

ฉะนั้น แทนที่จะบอกว่า คนรุ่นใหม่ไม่อดทน ไม่ทนงาน ก็ควรย้อนมามองมุมกลับเช่นกันว่า ในเมื่อนั่นไม่ใช่ชีวิตที่ต้องการ ในเมื่อมีทางเลือกที่ดีกว่า ทำไมต้องทน ทนเพื่ออะไร และก่อนจะถามหาความ Loyalty จากพวกเขา บริษัท HR หรือนายจ้างได้ทำอะไรสักอย่างให้คู่ควรกับการเป็น The Best Employee of Choice มากพอหรือยัง?

สรุปแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่ได้อดทนต่ำ หยิบโหย่งอย่างที่บางคนเข้าใจ เพียงแค่พวกเขาแค่มีทางเลือกมากขึ้นเท่านั้น ส่วนคนรุ่นก่อนเองก็ไม่ได้มีความอดทนมากไปกว่าเด็กรุ่นใหม่ด้วย เป้าหมาย บริบท ทางเลือก และขีดจำกัดความอดทนของแต่ละคนต่างกัน

HR กับนายจ้างมีสิทธิ์เลือกจะรับหรือไม่รับ ลงทุนหรือไม่ลงทุนกับ Candidates คนนั้น ในทางกลับกัน Candidates ก็มีสิทธิ์จะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง และสงวนความอดทนไว้แค่สิ่งที่คุ้มค่าจะแลก การทำงานที่ใดที่หนึ่งคือ ‘Win-win situation’ ที่เกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิ์เลือกกันและกันเหมือนที่เคยบอกไปในบทความชิ้นก่อนๆ

สุดท้ายปลายทางแล้ว ไม่ว่าเราจะเป็น Someone ในโลกใบนี้ เขาจะเป็น Someone ในบริษัทไหนสักแห่ง ก็ไม่มีสิทธิ์เอาความคิดตัวเอง จุดที่ยืนอยู่ไปตัดสินจาก Resume หรือ CV ว่า ใครสักคนความอดทนต่ำ และถ้าอยากจะย้ายงานควรอยู่ที่เดิมนานเท่าไร? อยู่ดี

“ชีวิตเขาก็เป็นของเขา ชีวิตเราก็เป็นของเรา ชีวิตใคร ชีวิตมัน”

ก็เท่านั้นเอง 🙂

Sources: https://bbc.in/3A4wwte

https://bbc.in/3bAnuL5

https://bit.ly/3vKIzcq