True Digital Academy เปิดตัว โซลูชันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ก้าวทันเทคโนโลยี AI พร้อมยกทัพความรู้ด้านเทรนด์ AI และการปรับใช้ในองค์กรจาก Microsoft และ Google

Share

มนุษย์ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ในยุคปัจจุบันองค์กรจะทำอย่างไรให้สามารถดึงศึกยภาพที่ซ่อนอยู่ หรือพัฒนาและพาองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างเต็มที่จากการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ทาง Future Trends ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน AI-THE NEXTGEN By True Digital Academy ที่เป็นงานเปิดตัวโซลูชัน AI มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร นอกจากนั้นแล้วยังมี Keynote สำคัญจากองค์กรระดับโลกอย่าง Microsoft ที่มาเล่าถึงเทรนด์ AI ที่น่าจับตามองในปัจจุบัน และ Google ที่มาร่วมแชร์ความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี AI เข้ามามีส่วนช่วยอย่างไรในการพัฒนาองค์กร ไม่เพียงเท่านั้นในตอนท้ายสุดของงานยังมีเซสชั่นพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากสองผู้เชี่ยวชาญที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ อีกด้วย

โดยภายในงานจะมีเนื้อหาสาระสำคัญอะไรที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์แก่ทุกๆ ท่านบ้าง วันนี้ทาง Future Trends จะมาสรุปภาพรวมให้ได้อ่านกัน

ในช่วงต้นของงานคุณเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงความท้าทายของธุรกิจในยุคปัจจุบันซึ่งหลักๆ จะเป็นเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เนื่องจากคนมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่ม Productivity และการต่อยอดธุรกิจให้แก่องค์กร

โดยความปรารถนา หลักของ True Digital คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างนวัตกรรม เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากการใช้งานเทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังควรที่จะเข้าถึงง่าย และมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยนวัตกรรมเหล่านี้ไม่ควรกระจุกอยู่ที่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่ควรที่จะกระจายการเข้าถึงในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือภาคอุตสาหกรรม เกษตรกร SME รวมไปถึงนิสิตนักศึกษา

[Mission หลักของทรู แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ]

  1. Modernize Digital Lifestyles คือการทำอย่างไรให้ดิจิทัลไลฟ์สไลต์ของคนในปัจจุบันทันสมัย มากขึ้นโดยทางทรูก็มีหน่วยธุรกิจย่อยที่มีความเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์เลย คือ บริการสื่ออย่าง ทรู วิชัน บริการด้านสุขภาพ ที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอดี’ และ ด้านการอยู่อาศัยอย่างอุปกรณ์ Smart Home ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต
  1. Deliver Sustainable Business Value เป็นการสร้างคุณค่าทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องพิจารณา 3 ปัจจัยหลัก ทั้งในเรื่องของ เทคโนโลยี การบริหารทรัพยากรด้านข้อมูล (Data) และการพัฒนาด้านมนุษย์ ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจในปัจจุบัน
    .
  2. Elevate Thailand Digital Infrastructure ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทยให้แข็งแกร่งขึ้น

โดยมี Future-Ready Organization Framework ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่ได้โฟกัสอยู่ 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.) Macro Landscape ธุรกิจต้องรู้ว่า Head wind ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเราพร้อมแล้วรึยังในการรับมือสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามา ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญของภาคธุรกิจเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ 2.) Innovation Landscape ไม่ว่าจะองค์กรเล็กไปจนถึงองค์กรใหญ่ ควรที่จะมีการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอยู่เสมอ อาจจะเป็นการจัด ภายในองค์กร โดยคุณเอกราชเชื่อว่า จุดเริ่มต้นเล็กๆ จะนำพาไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเสมอ 3.) People Landscape เรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนโดยตรงซึ่งจะมีทั้งเรื่อง Hard Skill, Soft Skill ที่ต้องคอยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาให้พร้อมรับกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต

โดย Frame Work นี้ได้มีการนำมาใช้ในช่วงที่มีการควบรวมระหว่าง True และ Dtac อีกด้วย เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กรแต่เดิมที่ต่างกันอย่างมาก Frame Work นี้จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้พัฒนาก้าวหน้าได้นั่นเอง

คุณเอกราชมีข้อมูลผลสำรวจที่น่าสนใจจากการสัมภาษณ์ CEO ในประเทศไทยในช่วงปี 2023 กว่า 100 คนว่า ‘ถ้าหากจะรับคนเข้าทำงานในปัจจุบันจะพิจารณา Soft Skill ใดบ้าง?’ ซึ่งผลสรุปออกมาเป็น 5 ทักษะที่ผู้บริหารในยุคนี้สนใจคือ 48% สนใจทักษะการคิดแบบเป็นระบบ (Analytical Thinking), 38% สนใจทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) 36% สนใจทักษะการปรับตัวทำงานได้หลากหลาย (Adaptability) และทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership) ในสัดส่วนที่เท่ากัน สุดท้าย 32% สนใจทักษะด้านการร่วมมือกัน (Collaboration) โดยคุณเอกราชหวังว่าโซลูชันของทางทรูนั้นจะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะที่ตลาดต้องการ และพัฒนาธุรกิจให้กับหลากหลายองค์กร และจะเป็นส่วนในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป

[Update on Al Trends from Microsoft]

คุณโอม ศิวะดิตถ์ National Technology Officer ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้มาเล่าถึงกระแสเทรนด์ของ AI ที่น่าสนใจ ซึ่งคุณโอมได้กล่าวถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเกี่ยวกับการเข้ามาของ AI อะไรที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง AI ได้อย่างง่ายดายโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.) การใช้งานง่าย Universal Interface 2.) Memory Context โดย AI จะมีความทรงจำและตอบคำถามได้ตามบริบทที่เคยได้คุยกันเอาไว้ สุดท้ายเรื่องของ 3.) ความเป็นเหตุเป็นผล มีตรรกะในการคิดเป็นระบบ Reasoning Planning

ด้วยความสามารถที่น่าสนใจดังกล่าวจึงทำให้ Microsoft ได้นำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ หลายๆ ส่วน อย่าง Copilot ที่ปัจจุบันสามารถทำงานร่วมกันได้กับหลายโปรแกรมไม่ว่าจะ โดยสามารถทำงานข้ามโปรแกรมกันได้ เช่น นำข้อมูลจาก Microsoft Word มาสร้างเป็น Microsoft PowerPoint ได้อีกด้วย

สถิติที่น่าสนใจจากองค์กรที่ได้มีการนำ AI มาปรับใช้กับการทำงานพบว่า 29% ของพนักงานทำงานไวขึ้น, AI เข้ามาช่วยสรุปการประชุม ทำให้การติดตามการประชุมไวขึ้นถึง 3.8 เท่า, โปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมไวขึ้นถึง 55% นอกจากนี้ AI ยังเข้าไปช่วยในงานด้านการให้บริการ และความปลอดภัยได้อีกด้วย

[3 Big AI Trend ที่ต้องจับตามอง]

  1. Multimodal AI คือการที่เอไอที่สามารถรับข้อมูลหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ เสียง หรือข้อความ และสามารถประมวลผลเพื่อให้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย เช่น การสร้างภาพหรือวิดีโอ
  1. Small Language Models ในอนาคต AI ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโมเดลภาษาขนาดใหญ่เสมอไป สามารถใช้ Generative AI ขนาดเล็กที่ทำงานได้บนอุปกรณ์มือถือหรือ PC โดยยังคงคุณภาพและความแม่นยำ แต่จะสามารถตอบคำถามในด้านที่เฉพาะเจาะจง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
  2. AI-Driven Science คือการนำ AI เข้ามามีส่วนช่วยในการทดลอง หรือวิเคราะห์ด้านวิทยาศาสตร์ และจะเข้าไปช่วยร่นระยะเวลาที่แต่เดิมอาจจะต้องทดลอง 3-4 เดือน หากใช้ AI วิเคราะห์ความเป็นไปได้ การทดลองนั้นอาจใช้เวลาที่สั้นลง

และในตอนท้ายคุณโอมยังมีคำแนะนำการปรับใช้ AI Trend แก่องค์กร ประกอบไปด้วย การวางแผนและสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมรับกับการมาถึงของ AI โดยต้องวางแผนวางเอไอจะเข้ามาช่วยธุรกิจคุณได้อย่างไร ไม่เพียงแต่นำเข้าเทคโนโลยีเข้ามาแต่ไม่รู้ว่าจะปรับใช้อย่างไร ต่อมาคือการเตรียมความพร้อมในการสร้างทักษะและประสบการณ์ให้กับคนในองค์กรทั้ง Hard Skill และ Soft Skill นอกจากนี้ยังคงต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการนำเอไอมาใช้ต้องมีความโปร่งใส และดูแลความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัว สุดท้ายการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีที่ดีมี Data ที่มีคุณภาพเพื่อให้ AI ได้นำข้อมูลมาใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

[ Update on the Al Workforce from Google ]

ในประเด็น Keynote ที่น่าสนใจต่อมากล่าวถึงยุคที่ AI ที่เข้ามาจะส่งผลต่อแรงงานในองค์กรอย่างไรบ้าง โดยคุณพุฒิ ตั้งตระกูลวงศ์ Strategic Technology Lead บริษัท Google Cloud ได้มาแชร์ประสบการณ์ของทาง Google ว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้างที่จะสร้างความเข้าใจด้านการใช้ AI ให้กับพนักงานภายในองค์กร และสามารถนำ AI ไปใช้ในการต่อยอดสร้างผลลัพธ์ในการทำงานต่อไปได้

  1. Upskilling
    เพื่อเสริมสร้างทักษะที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น โดยจะช่วยให้ธุรกิจปรับตัวได้ในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึง ส่งเสริมการเติบโตของพนักงาน โดยทาง Google จะเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจว่าทำไม องค์กรจึงจำเป็นจะต้องใช้ AI เพื่อให้บุคลากรเข้าใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญในกระบวนการ และพร้อมรับในการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง

โดยในทางธุรกิจนั้นการไม่ลงมือทำอะไรเลยนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายมากมาย ที่เห็นได้ชัดเลยคือความล้าหลังขององค์กร ในอนาคตหากบริษัทที่ไม่มีภาพลักษณ์ด้านการปรับใช้เทคโนโลยี อาจจะส่งผลต่อการหาคนเข้ามาร่วมงานได้ยากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจต้องรับมือกับความปลอดภัยในองค์กร นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ธุรกิจควรหันมาใส่ใจเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับองค์กร

Sundar Pichai, CEO ของ Google และ Alphabet ได้กล่าวไว้ว่า “ช่องว่างของทักษะในด้านเทคโนโลยีและ AI เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ประเทศที่ลงทุนในการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานจะเป็นผู้นำในสนามการแข่งขันด้านนวัตกรรม”

  1. Path to Readiness and Framework for Success โดยคุณพุฒิ ได้เล่าถึงการนำ AI มาพัฒนา Career Path หรือสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้มากขึ้น เช่น ในตำแหน่งงาน Marketing หากนำ AI เข้ามาปรับใช้ ก็จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องที่ยังไม่ถนัดอย่างการสร้าง UX/UI ด้วยการใช้ AI เข้ามาช่วยเขียนโค้ด ในแง่มุมของนักกฎหมาย ก็สามารถนำ AI มาปรับใช้ให้มีความเชี่ยวชาญและแม่นยำมากขึ้นได้

แม้ว่าทาง Google เองจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี แต่การปูพื้นฐานด้านความรู้และความเข้าใจด้านเทคโนโลยี AI ให้กับพนักงานก็เป็นเรื่องที่ทางบริษัทเองให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และกระบวนการการสร้างความเข้าใจนั้นใช้เวลาพอสมควร โดยจะส่งเสริมการเรียนรู้ในลักษณะที่หลากหลาย ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ให้พนักงานมีทางเลือกในการเรียนรู้ รวมถึงยังให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณและเวลาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับพนักงาน โดยสร้างความเข้าใจให้มีการซับพอร์ตจากหัวหน้าลงมาสู่ทีม โดยจะกำหนดให้ทุกวันศุกร์เว้นศุกร์ จะไม่มีการประชุมเพื่อให้นำเวลาไปใช้ในการพัฒนาความรู้ด้าน AI และมีการส่งเสริมการสร้าง Comunity เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมและสนุกไปกับการเรียนรู้ โดยให้พนักงานแต่ละแผนกมาร่วมกันสร้างโปรเจกต์ และเปิดเวทีให้นำเสนอผลงานของตัวเองได้ นอกจากนี้ทาง Google จะมี Tools ที่ถูกต้องให้พนักงานสามารถมาใช้ได้โดยจะให้พนักงานคัดเลือกเครื่องมือไปใช้กับงานให้เหมาะสม

ด้านการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ (Establish A Culture of Learning) จะมีการขอความร่วมมือในการมาแชร์ว่ามีการทำโปรเจกต์ AI อะไรร่วมกับทางลูกค้ามาบ้าง และมีการวัดประสิทธิภาพการเรียนรู้ของพนักงานอยู่เสมอว่ามีการเรียนรู้ไปถึงจุดไหนแล้วบ้าง นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เข้าไปประกบกับพนักงานที่ยังไม่มีประสบการณ์ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมการแข่งขันเพื่อมอบรางวัล ให้พนักงานสนุกไปกับการเรียนรู้ในรูปแบบ Gamification และมีการวัดผลที่ชัดเจน เช่น วัดผลว่า AI สามารถสร้างประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างไร ช่วยให้องค์กรประหยัดงบประมาณได้เท่าไหร่ เป็นต้น

  1. How We do that in Google ในตอนท้ายคุณ พุฒิ ได้สรุปว่าทางกูเกิลนั้นได้ดำเนินการด้านใดไปบ้างในการซับพอร์ตพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจในด้าน AI ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ การพัฒนาทักษะพนักงานโดยมี Leadership Support บุคลากรภายในทีม การจัดการเรื่องเข้าถึงเครื่องมือที่ถูกต้อง และแตกออกมาเป็นกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กร เช่น การประกวดไอเดียเกี่ยวกับ AI โดยมีรางวัลกว่า 10,000 USD เป็นต้น

คุณพุฒิทิ้งท้ายไว้ว่าการที่จะพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี AI นั้นจำเป็นต้องได้รับการซับพอร์ตจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิด Life Long Learning

[True Digital Academy Al Solutions Walkthrough]

ในส่วนไฮไลต์ของงานนี้เลยคือการเปิดตัวโซลูชันที่จะเข้ามาพัฒนาองค์กรโดย ดร.ชนนิกานต์ จิรา Head of True Digital Academy , True Digital Group ได้มาแชร์ถึงมุมมองที่ทาง True Digital ได้นำ AI มาปรับใช้ และร่วมมือกับหลากหลายองค์กร โดยดร.ชนนิกานต์ ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ ที่องค์กรจะได้รับจากการนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้มีผลลัพธ์ที่น่าสนใจดังนี้ เช่น บริษัทที่นำ AI มาปรับใช้เพิ่มขีดความสามารถในการใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ถึง 20% และยังช่วยเรื่องการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ และแม่นยำ สูงขึ้นถึง 50% และที่น่าสนใจเลยคือ AI จะเข้ามาช่วยเพิ่ม Long-term Growth ให้บริษัทสูง ถึง 85% เลยทีเดียว

[ เราจะเตรียมคนให้พร้อมรับกับการมาถึงของ AI ได้อย่างไรบ้าง ? ]

ทางทรูก็มีหลักแนวคิดที่แบ่งออกเป็น 3 แกนใหญ่ๆ ดังนี้

1. ALL Facets Of AI มองภาพรวมทั้งหมดของ AI ไม่ได้โฟกัสเพียงแต่ Generative AI เท่านั้น แต่ทางทรู ดิจิทัลเอง เล็งเห็นถึงความสำคัญของ Analytical AI เราจึงควรมีฐานความเข้าใจเกี่ยวกับทั้งสองส่วนนี้ให้ลึกซึ้ง

2. Tools Change Every Day but Foundations Stay เนื่องจากเครื่องมือในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทุกวันอย่างก้าวกระโดด เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ทันเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะเข้ามา แต่การที่จะเข้าใจในเครื่องมือต่างๆ ได้นั้นเราควรทำความเข้าใจที่รากฐาน (Foundations) ของ AI หากเราเข้าใจจะช่วยให้เราพัฒนาแรงงานของเราได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในรากฐานสำคัญของ AI คือ ข้อมูล (Data) หากต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพให้พนักงาน พนักงานก็ควรเข้าใจพื้นฐานที่ใช้ตัดสินใจของ AI ก่อน

3. The “human” Side of the AI Equation ส่วนประกอบในการสร้าง AI นั้นจะประกอบด้วย 2 ด้านคือ การมีความรู้ความเข้าใจในการนำ AI มาใช้ หรือสร้าง AI Solution (Solution Expertise) และ ด้านของ Human Wisdom ที่หากอนาคต AI สามารถเข้ามาช่วยงานเราได้มากขึ้น มนุษย์จะเพิ่ม Value ในการทำงานร่วมกับ AI อย่างไรได้บ้าง โดยเราจะมีขีดความสามารถในการ ‘คิด’ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ AI และครอบคลุมไปถึงการ ‘สื่อสาร’ และการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับ AI ให้ประสบความสำเร็จ

จากประสบการณ์การทำงานกับหลากหลายองค์กรชั้นนำมากมาย ทางทรูดิจิทัลมี Solution ในการทำงานดังนี้ 1.) Identify ว่าเราต้องการจะทำอะไร ประเมินปัญหาที่พบเพื่อสร้างแผนในการปรับปรุง 2.) Inspire คือการสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานต้องการจะเปลี่ยนแปลง 3.) Integrate เราจะประยุกต์ใช้ AI อย่างไรให้เข้ากับบริบทองค์กร 4.) Innovate หากองค์กรต้องการจะสร้าง AI Expertise ของตัวเองจะต้องทำอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้คือ 4 โซลูชันของทางทรู ดิจิทัลได้คิดค้นขึ้นมาและมีความ สอดคล้องกับ TDA’s AI Literacy Stages โดยมีฐานที่การสร้างความเข้าใจเรื่อง AI ต่อมาคือการนำไปปรับใช้ ในขั้นถัดไปคือการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือจาก AI และในยอดสุดพีระมิดคือการสร้าง AI engine ใหม่ๆ

โดยดร.ชนนิกานต์ได้เล่าถึง โซลูชันในการ Identify องค์กรว่ามีวิธีการอย่างไรบ้างถึงจะรู้ว่าแก่นขององค์กรเราคืออะไร? คือเราต้องรู้ก่อนว่าองค์กรเราอยู่ในจุดไหน และเทียบกับเป้าหมายที่เราจะไป เราจะเรียงลำดับความสำคัญสิ่งที่ต้องเริ่มทำก่อนได้อย่างถูกต้อง ทั้งส่วนของระดับองค์กร และ ระดับบุคคลมารวมกัน จะได้ออกมาเป็น Tranformation Roadmap ซึ่งทางทรู ดิจิทัลจะมีการซับพอร์ตแบบลงลึกให้เรื่องของ People Skill Building

โดยทาง True Digital มีโปรแกรมที่ชื่อว่า AI-Readiness Assessment เพื่อวัดความพร้อมของพนักงานในองค์กร โดยคุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Head of Digital Home Division, True Digital Group ได้อธิบายถึงองค์ประกอบที่เราจะทราบได้ว่าบุคลากรของเรามีความพร้อมในการเข้ารับกับเทคโนโลยี AI หรือไม่จากด้านต่างๆ ทั้ง 7 ด้าน ดังนี้

  1. Organizational Readiness
  2. Data Readiness
  3. Tech and Infrastructure Readiness
  4. Skills and Talent Readiness
  5. AI Use Case Readiness
  6. Governance and Ethical Readiness
  7. Operational Readiness

ต่อมาดร.ชนนิกานต์ได้สรุปโซลูชันในการ Inspire ให้กับพนักงาน คือการจัด AI Forum เป็นการแชร์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับหัวข้อที่น่าสนใจด้านประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ AI เพื่อจุดประกายให้รู้ถึงภาพกว้างของวงการ AI โดยจะมีประเด็นดังนี้ ​​AI Leading Strategy, AI Power Moves, AI the NextGen และ Everyday AI ในส่วนการสร้างแรงบันดาลใจในโซลูชันถัดมาคือ AI 101 ที่จะเป็นรูปแบบ E-Learning ที่จะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ AI ให้กับทุกคนภายในองค์กรได้รู้จักกับเอไอ พร้อมยกตัวอย่าง Used Case ต่างๆ

และต่อมาในส่วนของ โซลูชันการ Integrate เมื่อรู้จักแล้วจะนำมาปรับใช้อย่างไรทางทรูดิจิทัลมี 2 โซลูชัน อย่างแรกคือ Thinking Skills Suite การพัฒนาความสามารถในการคิด และเปิดรับกับ AI โดยจะมีการมุ่งเน้นพัฒนา Critical Thinking & Problem Solving, Strategic Thinking in the Age of AI, Making Quality Decision in the AI Era และ AI-Enabled Innovation & Creativity
ส่วนที่สองในการพัฒนาคือการ Adoption Skills Suite จะมีวิธีอย่างไรในการนำ AI มาปรับใช้ได้มากขึ้น โดยทางทรูจะมีผู้เชี่ยวชาญในการปรับการใช้งานให้เข้ากับบริบทของแต่ละองค์กร โดยจะต้องปรับใช้ได้กับทุกๆ ทีม

และสุดท้ายคือโซลูชันของการ Innovate หรือการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ขึ้นมาในองค์กร โดยทางทรูดิจิทัลจะมีโปรแกรมในการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน AI คือ AI Champion Program โดยจะแบ่งผู้เชี่ยวชาญออกเป็น 2 สายคือ AI Expert และ AI Executor และอีกโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาศักยภาพให้พนักงานมีความเชี่ยวชาญด้าน AI เลยคือ AI Mentorship Program เป็นโปรแกรมที่ทางองค์กรจะสามารถสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ได้โดยตรง

และในตอนท้าย ดร.ชนนิกานต์ได้มีการสรุปผลตอบแทนหรือ ROI ที่ทางองค์กรจะได้รับหากปรับตัวให้เข้ากับการมาถึงของ AI ว่ามีหลากหลายองค์กรชั้นนำที่ร่วมกับทางทรูดิจิทัล และได้รับผลตอบแทนรีเทิร์นกลับมาได้สูงถึง 5 เท่าเลยทีเดียว

[Panel: Two Sides of Skills for Al Advancement in Organizations ]

ในตอนท้ายของงานนั้นได้มีการจับเข่าคุยประเด็น AI กับสองผู้เชี่ยวชาญ คุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement-Building Materials และ คุณสมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ CEO, KT Venture Capital, Krungthai

โดยได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับทักษะสำคัญที่ควรมีในการใช้ AI คืออะไรบ้าง โดยคุณอภิรัตน์ ได้กล่าวว่าสิ่งสำคัญคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ Creative Thinking สำคัญกว่าการมีเพียง Critical Thinking เพียงอย่างเดียว โดยคุณสมโภชน์ ให้ความสำคัญด้าน Soft Skill และทักษะความเชี่ยวชาญ โดยทั้งสองท่านชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความอยากเรียน” มากกว่าที่จะ “ต้องเรียน”

และในคำถามเรื่องของความท้าทายที่เจอในการพัฒนาทักษะด้าน AI กับพนักงาน โดยคุณ คุณอภิรัตน์ ก็ยังมุ่งเน้นไปที่การมอบความเข้าใจให้กับผู้เรียน ว่าทำไมต้องเรียน โดยชี้ให้เห็นถึงความสามารถของ AI และ คุณสมโภชน์ กล่าวถึงความท้าทายในแง่มุมของวัฒนธรรมองค์กรที่ผู้บริหารระดับสูงที่อาจยังก้าวไม่ทันเทคโนโลยี อาจทำให้โครงสร้างการปรับใช้เทคโนโลยีอาจยังคงล้าหลัง
นั่นเอง

และสุดท้ายคุณสมโภชน์ได้ฝากเอาไว้ว่า “สิ่งที่เป็นความท้าทายของทุกองค์กรคือการพัฒนาทัศนคติ (Mindset) ของคนในองค์กร หากเราไม่ก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยี ความเข้าใจในเทคโนโลยีก็จะถดถอย ซึ่งจะทำให้พนักงานโดยเฉพาะเด็กๆ หมดไฟในการทำงาน ดังนั้น องค์กรควรเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้ลองผิดลองถูกและเติบโตไปพร้อมๆ กับองค์กร”
คุณอภิรัตน์ได้กล่าวเสริมว่า “ก่อนที่เทคโนโลยี AI จะเข้ามา องค์กรมักไม่เข้าใจและเข้าถึงได้ยาก เปรียบเหมือนเราสู้ด้วยมือเปล่า ในขณะที่องค์กรอื่นมีอาวุธ หากเราไม่ก้าวทันเทคโนโลยี เราจะไม่สามารถสู้กับองค์กรอื่นได้ การรู้จักและเข้าใจ AI จึงเปรียบเหมือนกับการติดอาวุธให้องค์กรก้าวทันการแข่งขันในปัจจุบัน”

เทคโนโลยีไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งองค์กรไปข้างหน้า การนำ AI มาปรับใช้ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับทุกภาคส่วนในองค์กร ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง และผลักดันให้องค์กรของคุณก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.truedigitalacademy.com/

FutureTrends #TrueDigitalAcademy

AITHENEXTGEN #FutureTrendsetter