เมื่อ 20 ปีก่อน ผู้คนยังใช้ชีวิตกันปกติ อินเตอร์เน็ตและโลกดิจิทัลยังถือว่าเป็นสิ่งใหม่ การเข้าถึงยังไม่หลากหลายเท่าปัจจุบัน วิถีชีวิตยังเป็นตามขนบธรรมเนียมประเพณี จนกระทั่งวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 2004 วันธรรมดาวันหนึ่งที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโลก หนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่โด่งดังและมีผู้ใช้งานมากที่สุดได้ถือกำเนิดขึ้น
‘Facebook’
วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 2024 ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นวันครบรอบ 20 ปี แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยุคแรกเริ่มอย่าง Facebook วันนี้ Future Trends จะพาผู้อ่านทุกคนไปย้อนดูเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในช่วงระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ว่า Facebook สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับโลกบ้าง และมันส่งผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเราไปตลอดกาลได้อย่างไร?
[ การเดินทาง 20 ปีของ Facebook หนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่โด่งดังและมีผู้ใช้งานมาก ]
การเดินทางของ ‘Facebook’ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2003 ในสมัยที่ซักเคอร์เบิร์ก ยังเรียนอยู่ที่ Harvard แรกเริ่มเขาพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า ‘Facemash’ เป็นแพลตฟอร์มที่จับคู่ภาพถ่ายของนักศึกษา Harvard และให้ผู้ใช้งานโหวตว่าใครมีเสน่ห์มากกว่า แต่เนื่องจากการใช้ข้อมูลที่มีการคุ้มครองของ Harvard ทำให้เขาต้องปิดตัวแพลตฟอร์มนี้ลงไป หลังจากนั้นไม่นานรุ่นพี่ของเขาคาเมรอน และไทเลอร์ วิงเคิลวอส และดิวา นเรนดรา (Cameron and Tyler Winklevoss and Divya Narendra) ได้มาทาบทาม ให้เขาไปทำงานพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า ‘ConnectU’
ปฐมบทของ ‘Facebook’ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ ปี 2004
กุมภาพันธ์ 2004
ซักเคอร์เบิร์ก และเพื่อนร่วมห้องอย่าง คริส ฮิวจ์ส ดัสติน มอสโควิทซ์ และเอดูอาร์โด ซาเวริน เปิดตัวแพลตฟอร์ม Facebook ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมชื่อและที่อยู่รูปแบบออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงผู้คนในมหาวิทยาลัย Harvard
มีนาคม 2004
แพลตฟอร์ม Facebook ได้ขยายเขตการใช้งานไปยังมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง Stanford, Columbia และ Yale
พฤษภาคม 2004
‘ConnectU’ มีฟีเจอร์ที่คล้ายกับ Facebook อย่างมาก
กันยายน 2004
ครอบครัวของวิงเคิลวอส และนเรนดรา ยื่นฟ้องซักเคอร์เบิร์ก โดยอ้างว่าเขาขโมยแนวคิดเรื่อง Facebook ไปจาก ConnectU
กันยายน 2005 – 2006
ซักเคอร์เบิร์ก ใช้เวลาไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม Facebook ให้สามารถขยายขอบเขตการใช้งานไปสู่โรงเรียนมัธยมปลาย และผู้คนที่มีอายุเกินกว่า 13 ปี สามารถเข้าใช้งานได้ ตามลำดับ
มกราคม 2007
แพลตฟอร์ม Facebook พัฒนาให้สามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือได้
มิถุนายน 2008
ครอบครัววิงเคิลวอส และนเรนดรา ยุติคดีการฟ้องร้องซักเคอร์เบิร์ก ในข้อหาขโมยแนวคิดจากแพลตฟอร์ม ConnectU
กุมภาพันธ์ 2009
หนึ่งในฟีเจอร์ที่เป็นตัวตนของ Facebook ได้ถือกำเนิดขึ้น ‘Like’ ในบริบทของประเทศไทยฟีเจอร์นี้สร้างผลกระทบอย่างมหาศาล คำว่า กด Like กลายมาเป็นหนึ่งในคำที่ได้รับความนิยมสูงมาก และสามารถใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์
กันยายน 2010
ซักเคอร์เบิร์ก บริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์ให้กับระบบโรงเรียนของรัฐในนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์
ตุลาคม 2010
เปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง ‘The Social Network’
ธันวาคม 2010
ซักเคอร์เบิร์กลงนามใน ‘Giving Pledge’ ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาสาธารณะที่จะมอบทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเขาให้กับการกุศล
2010 ซักเคอร์เบิร์กได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของ Time
มิถุนายน 2011
Facebook ร่วมมือกับ Skype เพื่อเพิ่มฟีเจอร์วิดีโอแชท
พฤศจิกายน 2011
เปิดตัวไทม์ไลน์ของ Facebook หน้า Dashboard ที่มีอัลกอริทึม ในการจัดการว่าคอนเทนต์ไหนสมควรที่จะขึ้นมาให้เราเห็น
มกราคม 2012
การโพสต์บทความของผู้คนเริ่มเข้าถึงส่วนกลางมากยิ่งขึ้น
เมษายน 2012
Facebook เข้าซื้อกิจการ Instagram
4 ตุลาคม 2012
ซักเคอร์เบิร์กประกาศว่า Facebook มีผู้ใช้งานต่อเดือนทะลุ 1 พันล้านคนแล้ว
ธันวาคม 2012
ซักเคอร์เบิร์กประกาศว่าเขาได้บริจาคหุ้น Facebook จำนวน 18 ล้านหุ้นให้กับมูลนิธิชุมชนซิลิคอนวัลเลย์
พฤษภาคม 2013
Facebook เปิดตัวฟีเจอร์สติ๊กเกอร์
กุมภาพันธ์ 2014
Facebook เข้าซื้อกิจการ WhatsApp
พฤษภาคม 2015
Facebook ประกาศว่าแพลตฟอร์มรองรับสื่อสกุล GIF เรียบร้อยแล้ว
กุมภาพันธ์ 2016
Facebook เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ‘Reaction’ ที่แต่เดิมการแสดงความรู้สึกจะมีเพียงแค่กดไลก์เท่านั้น การเพิ่มเติมในครั้งนี้ทำให้เราสามารถแสดงความรู้สึกอย่าง โกรธ รัก เศร้า และหัวเราะได้ ในบริบทประเทศไทยมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่การกดหัวเราะ สามารถสร้างเรื่องราวการทะเลาะวิวาทได้
กันยายน 2017
Facebook ออกมาเปิดเผยว่าในขณะนี้กำลังมีบัญชีผู้ใช้งานปลอมจำนวนมากจากประเทศรัสเซีย มาแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ด้วยการซื้อโฆษณา
16 มีนาคม 2018
Facebook ประกาศว่าระงับการใช้งานบริษัทข้อมูล ‘Strategic Communication Laboratories’ (SCL) และบริษัทในเครือ ‘Cambridge Analytica’ ซึ่งให้บริการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยบริการเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบดิจิทัล
ในแถลงการณ์ รองประธานเครือข่ายโซเชียลและรองที่ปรึกษาทั่วไปกล่าวว่า Cambridge Analytica รวบรวมข้อมูลผู้ใช้ผ่านแอปของบุคคลที่สาม ซึ่งละเมิดนโยบายการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน
17 มีนาคม 2018
การสอบสวนร่วมกันโดย New York Times และ Observer of London เผยให้เห็นว่า Cambridge Analytica ได้รับข้อมูลของผู้ใช้งาน Facebook ชาวอเมริกันกว่า 50 ล้านคน
21 มีนาคม 2018
ในระหว่างการสัมภาษณ์กับ CNN ซัคเกอร์เบิร์กกล่าวว่า “ผมเสียใจจริงๆ ที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น” โดยยอมรับว่า Facebook ทำผิดพลาด และควรตอบสนองอย่างจริงจังมากขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ นอกจากนี้เขายังกล่าวด้วยว่าบริษัทของเขากำลังเตรียมต่อสู้กับการแทรกแซงที่อาจเกิดขึ้นในการเลือกตั้งกลางภาคปี 2018 ก่อนหน้านี้เขาโพสต์ข้อความบน Facebook พร้อมไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่นำไปสู่การรั่วไหลของข้อมูลของ Cambridge Analytica
6 มีนาคม 2019
ซัคเกอร์เบิร์กโพสต์แถลงการณ์ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของเขาในการทำให้ Facebook มีความปลอดภัยทางข้อมูลมากยิ่งขึ้น โดยอ้างถึงความมุ่งมั่นต่อความเป็นส่วนตัว เขากล่าวว่า “บริษัทมีเป้าหมายที่จะสร้างบริการที่เปรียบเหมือนการเข้าถึงโลกดิจิทัลได้ในห้องนั่งเล่นของคุณ โดยเปลี่ยนจากต้นกำเนิดของ Facebook ที่เป็น ‘จัตุรัสกลางเมือง’ เสมือนจริง”
อีกทั้งยังประกาศความตั้งใจที่จะรวมแพลตฟอร์ม WhatsApp และ Instagram ให้เข้ากับ Facebook เพื่อการส่งข้อความที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นักวิจารณ์กล่าวว่าการบูรณาการบริการต่างๆ อาจส่งผลต่อความเป็นส่วนตัว และอาจส่งผลให้ Facebook มีพลังในตลาดแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
มิถุนายน 2020
Facebook ปล่อยฟีเจอร์ใหม่อย่าง ‘Dark Mode’ สำหรับเวอร์ชันโทรศัพท์มือถือ
ตุลาคม 2021
Facebook Inc. เปลี่ยนชื่อเป็น Meta Platforms Inc. ในบริบทประเทศไทยมีการล้อเลียนชื่อบริษัทใหม่ของ Facebook กับรายการ ‘ฟ้ามีตา’ อย่างมากมาย แต่แท้จริงแล้วการเปลี่ยนชื่อเป็น Meta มีจุดประสงค์เพื่อการเข้าถึง Metaverse เทรนด์แห่งอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง
กุมภาพันธ์ 2022
ผู้ใช้งานรายวันของแพลตฟอร์ม Facebook ลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ “จุดสิ้นสุดของ Facebook?”
ในปี 2022 มีการตรวจสอบเกี่ยวกับสุขภาพจิต (Mental Health) ภายในแพลตฟอร์มเป็นครั้งแรก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพของสหราชอาณาจักรเชื่อมโยงเนื้อหาออนไลน์กับการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วเป็นอิทธิพลที่มาจากแพลตฟอร์ม Facebook
Meta ต้องเผชิญกับคำถาม โดยเน้นย้ำถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของแพลตฟอร์มที่มีต่อสุขภาพจิต
ในปี 2023 เป็นขาลงเรื่องการเงินสำหรับ Meta ซึ่งนำไปสู่การลดการว่าจ้างในหลายตำแหน่งงาน โดยมีจำนวนการปลดออกที่มาก ถึงขั้นที่ว่าสั่นสะเทือนวงการ Software & Computer Science เลยทีเดียว
ในปีเดียวกันบริษัทได้เปิดตัว Meta Verified ระบบสมาชิก และ Threads แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีฟีเจอร์คล้ายคลึงกับ X (Former Twitter) ด้วยการเปิดตัวนี้ส่งผลให้ต้องเผชิญหน้ากับการฟ้องร้องอีกครั้งหนึ่ง
แต่ในปีที่เป็นขาลง Facebook ก็มีผู้ใช้งานมากกว่า 2,000 ล้านคนเข้าไปแล้ว
เมื่อเริ่มต้นปี 2024 Meta ก็เผชิญกับความท้าทายที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องราวของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและข้อกังวลด้านกฎระเบียบยังเป็นเนื้อหาหลักของการจัดการอยู่ ในขณะที่ราคาหุ้นแตะระดับสูงสุดโดยได้แรงหนุนจากการลดตำแหน่งงานและความสำเร็จของโครงการ Metaverse ภัยคุกคามของ TikTok ลดน้อยลง และ Meta ก็พยายามปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์โซเชียลมีเดีย
สำหรับการครบรอบ 20 ปี โซเชียลมีเดียที่โด่งดังและมีผู้ใช้งานมากที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่งของโลก มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย สร้างผลกระทบต่อสังคมและการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมากทั้งในด้านดีและด้านไม่ดี อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีก็ยังเป็นประตูสู่การเดินทางใหม่ๆ เสมอมา
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Sources:
Facebook Turns 20: From Mark Zuckerberg’s Harvard Dorm Room to the Metaverse – https://www.wsj.com/tech/facebook-turns-20-from-mark-zuckerbergs-harvard-dorm-room-to-the-metaverse-817a73da
Facebook history timeline – https://www.officetimeline.com/blog/facebook-history-timeline
Timeline: Looking back at 20 years of Facebook and CEO Mark Zuckerberg – https://abc13.com/facebook-20-year-anniversary-mark-zuckerberg-meta/14383883/
Initiated In a Dormitory, Facebook Is Trillion Dollar Company 20 Years Later – https://kashmirlife.net/initiated-in-a-dormitory-facebook-is-trillion-dollar-company-20-years-later-340930/