กลัวงานพัง กลัวลูกน้องไม่ปลื้ม รู้จัก 3 สิ่งที่ Manager ควรทำก่อนขึ้นไปเป็น Leader

Share

ในวันที่ได้ก้าวขึ้นอีกระดับ การได้เติบโตในตำแหน่งแห่งที่จากผู้จัดการ (Manager) สู่การเป็นผู้นำ (Leader) คืออีกหนึ่งหมุดหมายของชีวิตที่เราต่างใฝ่ฝัน สถานะที่เปลี่ยนไป บทบาทที่แปรเปลี่ยน จากผู้เล่นธรรมดาเป็นกองหน้า กองหลัง และไต่ระดับไปสู่โค้ชในที่สุด…

เมื่อบทบาทเปลี่ยน แน่นอนว่า ความรับผิดชอบก็มีมากขึ้นด้วย ‘หัวหน้าที่ดี’ เป็นหนึ่งสิ่งที่ลูกน้องหลายคนต่างต้องการ และยกย่องว่า ‘มีค่ายิ่งกว่าทอง’ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นได้ดี แม้มองภาพรวมแล้ว ตำแหน่งอาจมีความใกล้เคียงในเรื่องการควบคุมงาน และดูแลลูกน้อง แต่ความเป็นจริง กลับมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ เนื่องจาก ผู้จัดการจะเป็นหน้าที่ในการจัดแจงรวมๆ ส่วนผู้นำนั้นจะเน้นไปที่การตัดสินใจ คิดวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์มากกว่า

แล้ว 3 สิ่งที่ Manager ควรทำก่อนขึ้นไปเป็น Leader จะมีอะไรบ้าง? วันนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกัน

1. หยุดเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว

กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ หลายคนอาจจะเคยชินกับการเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว หรือ One Stop Service จบงานทุกอย่างที่ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำ การจัดแจงสิ่งต่างๆ หรือแม้กระทั่งการแก้ปัญหาก็ด้วย ซึ่งพอมาถึงจุดนี้ สิ่งที่ควรทำคือ ‘การถอยตัวเองออกจากการเป็นหนึ่งเดียวกับงาน’ เลิกพยายามทำทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว ปล่อยมือจากงานลงแล้วหันไปโฟกัสหน้าที่หลักอย่างการคิดวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เต็มที่ ทุ่มเวลาไปกับสิ่งที่ควรค่าจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตำแหน่งหน้าที่คนอื่นหรือมีลูกน้องสามารถทำแทนได้

2. สร้างเวทีให้ลูกน้องได้ ‘ฉายแสง’

เพราะอีกหนึ่งหน้าที่ของหัวหน้าที่ดีคือ ‘การทำให้ลูกน้องได้เติบโต’ ถ้าดึงศักยภาพลูกน้องออกมาไม่ได้ คุณก็เป็นเพียงแค่คนที่มีตำแหน่งสูงกว่า เลือกงานให้ถูกกับคน มอบหมายงานให้เป็น แม้จะรู้สึกอีหลักเหลื่อไม่กล้าลงจากบังเหียน ไม่แน่ใจว่าจะไว้ใจทีมได้หรือไม่?

อยากให้ลองนึกถึงวันแรกของตัวเอง วันที่บัณฑิตจบใหม่ป้ายแดงก้าวเท้าออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ในช่วงแรกที่ไม่คุ้นชินกับงาน มีทำผิดพลาดบ้าง แต่มาถึงวันนี้ คุณก็ได้ก้าวผ่านความล้มเหลวเหล่านั้นมาได้ ‘ความผิดพลาดคือบทเรียนที่ดีที่สุดของชีวิต’ ฝึกให้โอกาสลูกน้องเช่นเดียวกับโอกาสที่เคยได้รับในวันนั้น อนุญาตให้พวกเขาได้ผิดพลาดบ้าง เพราะนี่แหละคือโอกาสที่จะพัฒนาเป็นเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม และพอถึงวันที่พวกเขากล้าแกร่งขึ้น หรือประสบความสำเร็จในขั้นสูงสุด คนแรกๆ ที่พวกเขาจะนึกถึงก็อาจเป็นคุณ

3. ตรงไปตรงมา ไม่ต้องให้ลูกน้องคอยจับผิด

จากผลสำรวจพนักงานในฮาร์วาร์ดบิสซิเนสสคูล (Harvard Business School) ชี้ให้เห็นว่า 70 เปอร์เซ็นต์รู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กร ศรัทธาในหัวหน้า เมื่อผู้นำมีการสื่อสารอย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และเต็มไปด้วยความจริงใจ ไม่ใช่การยกยอปอปั้น แต่งคำชื่นชมที่สวยหรู

ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกต่างต้องการ รวมไปถึงตัวเรา และทีมก็เช่นกัน การวางรากฐานของทีมให้แกร่งต้องเริ่มจาก ‘ความโปร่งใส’ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นก่อน ซึ่งเมื่อมีสิ่งนี้แล้ว การโค้ชชิ่งพาทีมไปสู่ระดับแถวหน้าก็ไม่ยากเกินเอื้อมนั่นเอง

ท้ายที่สุดแล้ว การทำงานก็คล้ายกับทีมกีฬาที่เล่นในสนามการแข่งขันอันดุเดือด การจะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้จึงไม่ใช่เพียงความเก่งของคนใดคนหนึ่งหรือโค้ชเท่านั้น แต่ต้องอาศัยชั่วโมงบิน ความไว้เนื้อเชื่อใจ โอกาสในการฝึกซ้อม และความร่วมมือร่วมใจจากทุกคนด้วย

เหมือนกับที่ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) อดีตนักบาสเกตบอลระดับโลกเคยกล่าวไว้ว่า “Talent win games, but teamwork and intelligence wins championships.” ความสามารถช่วยให้ชนะแต่ละเกม แต่ทีมเวิร์ก และความฉลาดจะช่วยให้เราเป็นแชมป์

Source: https://bit.ly/3Mel2X5