แม้ชีวิตจะไม่มีสูตรสำเร็จแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ว่ากันว่า ตัวเลขอายุที่หมุนวนเข้ารอบวงใหม่อย่าง 20 30 40 ก็เป็นเหมือนจุด Checkpoint ชีวิตของหลายๆ คน
ทุกวันนี้ มี Guideline ของผู้นำ คนดัง ไลฟ์โค้ช รวมไปถึงคนธรรมดาทั่วไปมากมายคอยผลิตซ้ำว่า คนอายุ XX ต้องมีอะไร สิ่งที่ควรมีก่อนอายุ XX ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้งในวัยเลขสาม ที่ผ่านเรื่องราวต่างๆ มาอย่างโชกโชน ทำงานมาสักระยะหนึ่ง มีวุฒิภาวะมากพอ และเริ่มจะคิดถึงอนาคตไกลๆ แล้ว
“สิ่งที่ควรมีก่อนอายุ 30 คือ การมีงานที่มั่นคง”
“สิ่งที่ควรมีก่อนอายุ 30 คือ Passive Income”
“สิ่งที่ควรมีก่อนอายุ 30 คือ รถดีๆ สักคัน บ้านสักหลัง”
“สิ่งที่ควรมีก่อนอายุ 30 คือ เงินเก็บอย่างน้อย 1 ล้าน”
ความกดดันของสังคมที่คอยขีดเส้นให้เราเป็น ‘คนที่ต้องพร้อม’ สร้างค่านิยม ความคิด ความเชื่อแบบผิดๆ ให้บางคนว่า ถ้าหันกลับมามองตัวเองแล้วไม่มี Milestone เหล่านี้ ถือว่าที่ผ่านมา ใช้ชีวิตอย่างเปล่าประโยชน์
ครั้งหนึ่ง แอนนี่ แม็กกี (Annie McKee) อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) เคยให้สัมภาษณ์กับสก็อตต์ แมนต์ช (Scoutt Mautz) นักพูดสร้างแรงบันดาลใจชื่อดังว่า ‘The Should Trap หรือกับดักที่บอกว่า เราควรจะมีอะไร’ ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่สร้างความทุกข์ได้ไม่น้อยไปกว่ากับดักการทำงานหนักเกินไป (The Overwork Trap), กับดักความทะเยอทะยาน (The Ambition Trap), กับดักเงิน (The Money Trap) และกับดักแห่งความสิ้นหวัง (The Helplessness Trap) ด้วย
ทว่า ในความเป็นจริง การกำหนดกรอบ ‘Milestone’ ของชีวิตไม่ได้เกิดแค่ในสังคมไทยเท่านั้น บทความเรื่อง The Tyranny of Life Milestones บนเว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซี (BBC) พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ฝั่งตะวันตกเองก็มีชุดความคิดที่เคี่ยวกร่ำกับ Timeline ชีวิต คล้ายบ้านเราเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการมองว่า ควรจบการศึกษาในช่วงอายุ 22 ปี ควรแต่งงานไม่เกินอายุ 30 ปี และควรมีลูก ซื้อบ้านให้ได้สักหลังก่อนอายุ 35 ปี
แต่พอเวลาผ่านไป บริบทสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเปลี่ยน บรรทัดฐานที่เป็นสูตรสำเร็จ กะเกณฑ์ชีวิตก็ถูกตั้งคำถามขึ้นอีกครั้งว่า จริงๆ แล้ว เครื่องหมายการันตีความสำเร็จ ตัวชี้วัดเหล่านี้มาจากไหน หากพลาดกำหนดเวลาไปนิดเดียว นั่นแปลว่า ชีวิตเราจะล้มเหลวเลยรึเปล่า และแรงกระทุ้งให้ต้องรีบอยากมี อยากได้ อยากเป็น ใช่ความต้องการลึกๆ ของเราจริงไหม?
ชาร์ล็อตต์ เฮาส์เดน (Charlotte Houseden) นักจิตวิทยาอาชีพในสหราชอาณาจักรให้คำนิยามชุดความคิดทำนองนี้ไว้ว่า ‘The Tyranny of the Should’ หรือเผด็จการว่าด้วยสิ่งที่ควรจะเป็น เธอเสริมว่า ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่หรือเจเนเรชันมิลเลนเนียลกำลังรู้สึกเครียด และกดดันที่ต้องใช้ชีวิตตามบรรทัดฐาน Timeline ที่ครอบครัวมองว่า ควรจะเป็น… อย่างมาก
เจฟฟรีย์ อาร์เน็ตต์ (Jeffrey Arnett) นักวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยคลาร์ก (Clark University) ในเมืองแมสซาชูเซตอธิบายว่า ปัจจุบัน คนเจเนเรชันมิลเลนเนียลที่กำลังเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ต่างใช้ชีวิตจากการตัดสินใจ และการพูดคุยร่วมกันกับครอบครัวเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว พวกเขาไม่ได้อยากเดินตามกรอบเหมือนคนเจเนเรชันก่อนที่ทำกันมาแต่อย่างใด Milestone ของพวกเขาต่างออกไปนั่นเอง
เฮาส์เดนแนะนำคนที่รู้สึก Suffer เครียดกับ The Tyranny of the Should ว่า ให้จำไว้ว่า คุณไม่ได้อยู่คนเดียว มีหลายคนที่กำลังต่อสู้กับความไม่เป็นไปตามบาร์มาตรฐานของสังคมเช่นกัน เธอบอกว่า ผู้คนมักจะคิดเกินจริงว่า “ทุกคนกำลังจะแต่งงาน” หรือ “ทุกคนมีเงินมากกว่าฉัน” ซึ่งนี่เป็นความคิดที่ผิดพลาด จริงๆ แล้ว มี ‘แค่บางคน’ ที่มีเงินมากขึ้น ‘แค่บางคน’ ที่กำลังจะแต่งงาน
รวมไปถึงเธอยังแนะนำให้ลองหาเวลาทำความเข้าใจกับตัวเองด้วยว่า นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการเองหรือครอบครัวต้องการกันแน่? แยกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ต้องการจริงๆ และสิ่งที่รู้สึกว่าคนรอบข้างคาดหวังให้ออก จากนั้น ให้เน้นไปที่ความสำเร็จที่ทำให้เรามีความสุข มากกว่าความสำเร็จที่ตรงกับความคาดหวังของสังคม
ซาร่า แอฟสไตน์ (Sarah Epstein) เคยพูดถึงวิธีการหลุดจากกับดัก วังวนดังกล่าวในบทความเรื่อง How “I Should” and “By Now” Trap Us in Pain บนเว็บไซต์ Psychologytoday ว่า แทนที่จะคิดว่า “ฉันควรจะมี…ในตอนนี้” ให้เปลี่ยนวลีเป็น “นี่คือสิ่งที่ฉันมีในตอนนี้” แทน
การไม่มีเป้าหมาย หรืออาจจะมีเป้าหมายที่ไม่ได้ใหญ่โต ไม่ได้เป็นไปตาม Milestone ของสังคมไม่ใช่เรื่องที่ผิด และไม่ได้แปลว่า มีแล้วจะต้องแฮปปี้ตลอด เหมือนกับที่เฮาส์เดนเคยบอกว่า การทำเป้าหมายเหล่านี้ให้สำเร็จ อย่างเช่น การได้งานที่มีค่าตอบแทนสูง การซื้อบ้านดีๆ สักหลัง หรืออะไรก็ตามแต่ ไม่ได้สะท้อนว่า เรากำลังมีความสุขเสมอไป เพราะสิ่งสำคัญคือ ‘การหาความพอดีกับความต้องการ’ ต่างหาก
ไม่เป็นอะไรเลยถ้าวันนี้ชีวิตคุณจะไม่เป็นไปตาม Timeline ของสังคม Timing ของคนเราต่างกัน จังหวะชีวิตก็เช่นกัน สิ่งที่ควรมีก่อนอายุ 30 อาจจะไม่ต้องหวือหวา ไม่ต้องมีคำตอบให้กับคำถามนี้ก็ได้ด้วยซ้ำ แค่มีความสุขในทุกๆ วัน และมีชีวิตให้ถึงอายุ 29 ก็อาจจะเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว
อย่าให้โลกของคนอื่นมาบดบังโลกของคุณเลยนะ 🙂
Sources: https://bbc.in/3PAx91W
https://bit.ly/3wDramH
https://bit.ly/3TeiQDB