เหลือเวลาอีก 60 กว่าวันก่อนที่ปี 2022 จะสิ้นสุดลง สำหรับบางคนคงเป็นเวลาอันแสนสั้นที่กะพริบตาไม่กี่ที ภาพก็ตัดเข้าสู่หน้าปฏิทินของเดือนธันวาคมที่เป็นเดือนสุดท้ายของปี หรือบางคนต้องการใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่า เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ ‘วิน’ (Win) ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ความรัก ชีวิตส่วนตัว และอื่นๆ อีกมากมาย
หากนับวันตามเวลาที่เหลืออยู่ ถือเป็นเวลาที่ไม่มากไม่น้อยเกินไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เฉิดฉายที่สุดในปี 2023 ตามคติที่ว่า ‘New Year, New You’ หรือ ‘การเป็นคนใหม่ในวันปีใหม่ที่ใกล้มาถึง’
เมื่อหลายๆ คนมีใจต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในปี 2023 หลังจากที่ผ่านมรสุมมาอย่างหนักหน่วงในปี 2022 สิ่งที่ตามมาก็คือ ‘New Year’s Resolution’ หรือการตั้งปณิธานช่วงปีใหม่ เช่น เป็นหัวหน้าที่เก่งรอบด้าน มี Work-Life Balance ที่ดีกว่าเดิม รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง เป็นต้น
แต่การตั้งปณิธานช่วงปีใหม่กลับมีเรื่องตลกร้ายซ่อนอยู่ เมื่องานวิจัยในปี 2016 จาก The Society for Personality and Social Psychology (SPSP) ระบุว่า มีคนเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ที่ทำตามปณิธานช่วงปีใหม่ของตัวเองได้สำเร็จ ส่วน 91 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือมองว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จได้ ส่งผลให้ปีต่อมามีคนตั้งปณิธานช่วงปีใหม่น้อยลงเรื่อยๆ
การตั้งปณิธานช่วงปีใหม่แล้วล้มเหลวไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไรเลย เพราะแต่ละคนมีปัจจัยในการดำเนินชีวิตแตกต่างกัน บางคนต้องต่อสู้กับสิ่งที่อีรุงตุงนังเข้ามาไม่หยุดไม่หย่อน ทำให้เป้าหมายที่เคยโฟกัสอย่างชัดเจนค่อยๆ เบลอลงจนดับไป
แล้วถ้าปีนี้ไม่ต้องการวนลูปกับความล้มเหลวในการตั้งปณิธานช่วงปีใหม่เช่นเดียวกับปีก่อนๆ ต้องทำอย่างไร?
Future Trends จึงนำทฤษฎีการสร้างเป้าหมายที่มีชื่อว่า ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมทองคำ’ (The Golden Triangle) มาฝากทุกคนกัน
ความน่าสนใจของทฤษฎีนี้ คือการพาทุกคนไปสำรวจเบื้องลึกของจิตใจ และผลักดันให้เกิดการสร้างเป้าหมายที่ตัวเอง ‘ต้องการทำ’ ไม่ใช่เป้าหมายที่ ‘ต้องทำ’ เพราะเห็นคนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งเป้าหมายที่เกิดจากความต้องการส่วนลึกในใจจะมีความมั่นคงกว่าการตั้งเป้าหมายไปลอยๆ
จริงๆ แล้ว ทฤษฎีสามเหลี่ยมทองคำ มีการนิยามความหมายและองค์ประกอบในหลากหลายเวอร์ชันตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคน และเวอร์ชันที่เรานำมาฝากในวันนี้เป็นของ ‘มาร์ก เนวินส์’ (Mark Nevins) ผู้บริหารของ Nevins Consulting องค์กรที่ปรึกษาด้านการทำงานที่มีประสบการณ์มากว่า 19 ปี
ทฤษฎีของเนวินส์จะมีองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกันเป็นด้านของสามเหลี่ยมที่สวยงามทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่
Goals : ตั้งเป้าหมายที่เน้น ‘คุณภาพ’ ไม่ใช่ ‘ปริมาณ’
บางทีสาเหตุของการตั้งเป้าหมายแล้วทำไม่สำเร็จ อาจเกิดจากการมีเป้าหมายมากเกินไป ไม่รู้ว่าควรโฟกัสอะไรก่อนหลัง ทำให้เสียระบบการจัดการ และกลายเป็นว่าไม่มีเป้าหมายใดเลยที่สามารถทำได้สำเร็จ
เนวินส์แนะนำว่า ควรตั้งเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ เฉพาะเจาะจง และมีจำนวนน้อยที่สุด เพื่อที่จะโฟกัสเป้าหมายแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ เนวินส์ยังเปรียบเทียบการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายเป็นชั้นของหัวหอม อย่างชั้นในสุดเป็นเป้าหมายที่สำคัญมากๆ ส่วนชั้นถัดมาค่อยๆ ลดความสำคัญลงตามลำดับ
Others : บุคคลที่อยู่ในบทบาทต่างๆ ของชีวิต
บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนสนิท และเพื่อนร่วมงานล้วนแต่มีบทบาทสำคัญต่อการทำเป้าหมายให้สำเร็จ ยิ่งเป้าหมายมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น คุณควรถามความเห็นของพวกเขาก่อนกำหนดเป้าหมายด้วย
ตัวอย่างเช่น คุณอยู่ในบทบาทของหัวหน้าที่ต้องดูแลลูกทีมจำนวนหนึ่ง คุณควรสร้างเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวเองและทีม รวมถึงเป็นเป้าหมายที่ไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องลำบากกายและใจจนเกินไป
Self : ‘ความเป็นตัวเอง’ กับ ‘ความสำเร็จของเป้าหมาย’
ความเป็นตัวเองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการกำหนดเป้าหมายเลยก็ว่าได้ เพราะการรู้จักตัวเองว่า ชอบอะไรและทำสิ่งใดได้ดี จะทำให้เป้าหมายอยู่ในทิศทางที่เหมาะสม และเป็นสิ่งที่ตัวเองทำได้แบบไม่ฝืนความรู้สึก ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความสำเร็จในการทำตามเป้าหมายได้อีกด้วย
ถึงแม้ 3 องค์ประกอบตามทฤษฎีของเนวินส์ไม่ใช่สิ่งที่ซับซ้อน และเป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ในความคิดของตัวเองอยู่แล้ว แต่การเชื่อมโยง 3 องค์ประกอบเข้าด้วยกันกลับไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะมีความวุ่นวายในรูปแบบต่างๆ เข้ามารบกวนอยู่ตลอด
ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยให้การเชื่อมโยง 3 องค์ประกอบเข้าด้วยกันเป็นเรื่องง่ายคือ ‘สมาธิ’ เพราะการหลีกหนีจากความวุ่นวายมาพูดคุยกับตัวเอง จะทำให้มีสมาธิในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ จนเกิดเป็นไอเดียที่นำไปสู่การสร้างเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวเองมากยิ่งขึ้น
Sources: https://bit.ly/3Fuq2qL