“เก่งมาก ฉลาดมาก”
คำชมติดปากของคนแทบทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ชมลูก คุณครูที่ชมนักเรียน หรือแม้กระทั่งหัวหน้าที่ชมลูกน้องอย่างเราๆ ก็เช่นกัน ตามปกติแล้ว เรามักจะเข้าใจกันว่า คำชมทำนองนี้เป็นสิ่งที่ดีต่อใจ เพราะไม่เพียงสร้างพลังบวกเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นความมั่นใจให้กับผู้ฟังด้วย
ทว่า ในความเป็นจริง คำชมเหล่านี้กลับแฝงฝังไปด้วยภัยเงียบที่ทำร้ายได้มากกว่าที่คิด แถมก็เป็นพิษ เป็นภัยต่อการเติบโตของลูกน้องบางคนอีกต่างหาก
แล้วทำไมคำชมที่มองเผินๆ ดูเป็นเรื่องที่ดีถึงไม่ดีอย่างที่คิด ถ้าไม่ชมว่า “เก่งมาก ฉลาดมาก” แล้วจะให้ชมว่าอะไรแทน? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับคำชมที่ถูกวิธีผ่านผลงานวิจัยเรื่อง The Effect of Praise on Mindsets ด้วยคำอธิบายของแครอล ดเว็ค (Carol Dweck) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน และผู้เขียนหนังสือขายดีหมวดจิตวิทยาพัฒนาตัวเองอย่าง ‘ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา – Mindset: The New Psychology of Success’ กัน
ในงานวิจัยชิ้นนี้ แครอลได้ทำการทดลองโดยแบ่งนักเรียนชั้นประถมให้ทำแบบฝึกหัด Puzzle ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เด็กกลุ่มที่ถูกชมว่า ‘เก่ง และฉลาด’ และเด็กกลุ่มที่ถูกชมว่า ‘ขยัน และตั้งใจ’ ซึ่งตอนแรก เธอได้ลองให้เด็กทั้ง 2 กลุ่มทำแบบทดสอบระดับง่ายที่เหมือนกันแล้วให้คำชมที่ต่างกันตามกลุ่มที่จัดไว้
หลังจากนั้น เธอได้มอบแบบฝึกหัดชุดที่ 2 ให้เด็กทั้ง 2 กลุ่ม โดยครั้งนี้พวกเขาสามารถเลือกระหว่างแบบฝึกหัดระดับง่ายกับแบบฝึกหัดระดับยากได้ ผลปรากฏว่า กว่า 67 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มที่ถูกชมว่า ‘เก่ง และฉลาด’ เลือกแบบฝึกหัดระดับง่าย ส่วนเด็กกลุ่มที่ถูกชมว่า ‘ขยัน และตั้งใจ’ กลับเลือกแบบฝึกหัดระดับยากมากถึง 92 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
แครอลอธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า กลุ่มที่ถูกชมว่า ‘เก่ง และฉลาด’ มักจะเลือกแบบฝึกหัดที่ Play Safe สติปัญญาของตัวเอง ไม่กล้าทดลองอะไรใหม่ เลือกแต่โจทย์ที่พวกเขาคิดว่า รู้วิธีแก้ และเสี่ยงจะทำผิดน้อย ซึ่งก็เป็นการจำกัดการเติบโตของความสามารถไปโดยปริยาย มัวแต่คิดว่า หากทำผิด คนอื่นจะมองว่า ตัวเองไม่เก่งแบบที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น เลยเป็นสาเหตุให้พวกเขาไม่อยากเผชิญกับเรื่องยากๆ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้แบบฝึกหัดชุดที่ 2 จะจบลง แต่เธอก็ได้มอบแบบฝึกหัดชุดที่ 3 เพิ่มอีก โดยก็เป็นแบบฝึกหัดที่ยากชนิดที่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้แน่ๆ ปรากฏว่า เด็กกลุ่มที่ถูกชมว่า ‘เก่ง และฉลาด’ รู้สึกเครียด หงุดหงิดมากระหว่างทำ และยอมแพ้อย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้าม เด็กกลุ่มที่ถูกชมว่า ‘ขยัน และตั้งใจ’ พยายามหนักขึ้น ใช้เวลานานขึ้นไปพร้อมๆ กับความสนุกในความยาก
จากนั้น เธอก็ได้มอบแบบฝึกหัดชุดสุดท้ายด้วยระดับความง่ายที่เหมือนกับชุดแรกอีกครั้ง ปรากฏว่า เด็กกลุ่มที่ถูกชมว่า ‘เก่ง และฉลาด’ สามารถทำคะแนนได้ติดลบกว่าเดิมถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กกลุ่มที่ถูกชมว่า ‘ขยัน และตั้งใจ’ สามารถทำคะแนนได้ดีกว่าเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญถึง 30 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน
ซึ่งผลลัพธ์ของ Performance ที่ต่างกันกว่า 50 เปอร์เซ็นต์อย่างไม่น่าเชื่อนี้ก็ล้วนเป็นผลมาจาก ‘ความละเอียดอ่อน’ ของคำชมที่ต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่า ถึงคำชมจะเป็นสิ่งที่ดี มีรายละเอียดต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่กลับส่งผลดี และร้ายต่อพัฒนาการในระดับหนึ่ง
เพราะฉะนั้นแล้ว ครั้งต่อไป เวลาหัวหน้าอย่างเราๆ จะชมลูกน้องคนไหน อาจจะลองนำผลสรุปการทดลองของแครอลมาใช้ แม้ช่วงอายุจะต่างกันพอสมควร แต่อย่าลืมว่า ลึกๆ แล้วเราทุกคนก็มีความเป็นเด็กในตัวเองที่อยากได้รับการยอมรับ อยากได้คำชมที่ดีต่อใจจากคนรอบข้างเฉกเช่นเดียวกันอยู่ดี
จงชมอย่างจริงใจด้วยความพอดี แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาถึงความซาบซึ้ง ชมที่การกระทำ ‘ความตั้งใจ ความพยายาม’ เพื่อกระตุ้นกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) มากขึ้น ไม่ใช่แค่ชมที่ความเก่ง ความฉลาด ทำให้พวกเขามูฟออนเป็นวงกลมแต่ในกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) อีกต่อไป!
‘เพราะคำชมที่ดีคือคำชมที่ทำให้ผู้ฟังได้เติบโต’ อ่านจบแล้ว ลองกลับไปทบทวนตัวเองว่า วันนี้ เราชมลูกน้องแล้วหรือยัง ถ้าชมแล้ว ชมถูกวิธีหรือไม่? ถ้าไม่ก็รีบเปลี่ยนซะ! ก่อนที่พวกเขาจะเดินจากไป ก่อนที่อะไรๆ มันจะสายไปเหมือนที่กรู๊ฟ ไรเดอร์ (Groove Rider) เคยบอกไว้ เพราะพอถึงเวลานั้น ชมเท่าไร ยื้อแค่ไหน เขาก็ไม่กลับมา…
แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ คิดว่า การบิดคำชมเล็กๆ น้อยๆ มีผลกับ Performance ของคนฟังไหม เคยชมลูกน้องแบบไหนบ้าง พวกเขามีปฏิกิริยายังไง? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!
Sources: https://bit.ly/3y7MQII