เทสลา (Tesla) ส่งข้อความ ‘สวัสดีประเทศไทย’ มาทักทายทุกคน หลังจากจัดตั้งบริษัทในไทยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
บีวายดี (BYD) ทุ่มงบ 1.7 หมื่นล้านบาท ในการขยายฐานการผลิตมาที่ไทย
การที่ 2 ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีนและสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทย สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพบางอย่างที่ทำให้ไทยโดดเด่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่แพ้ชาติอื่นๆ
แล้วการที่เทสลาและบีวายดีดึงไทยเข้าเป็นหนึ่งในสมการการลงทุน จะทำให้ ‘ไทย’ มีโอกาสเป็น ‘ฮับ’ (Hub) ของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้หรือไม่? Future Trends จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
การเปลี่ยนผ่านสู่ ‘อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า’ เป็นเป้าหมายของ ‘ไทย’ ในตอนนี้
นอกจากการเกษตรและการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมแกนหลักของไทยแล้ว การผลิตยานยนต์ก็เป็นอุตสาหกรรมสร้างชื่อให้กับไทยไม่แพ้กัน โดยในปี 2019 หรือช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยสามารถส่งออกรถยนต์ได้มากกว่า 1 ล้านคัน คิดเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และอันดับ 11 ของโลกเลยทีเดียว
และสิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยแข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือการที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยมานานหลายสิบปี ทำให้ไทยมีองค์ความรู้ด้านการจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain) และการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไม่เป็นสองรองใคร
แต่ความนิยมรถยนต์สันดาปภายในเริ่มเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา เมื่อเทคโนโลยีทางเลือกอย่าง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ เข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์สักคันมากขึ้น อีกทั้งปัญหาราคาน้ำมันแพงยังกลายเป็นตัวเร่งให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วพบว่า รถยนต์ไฟฟ้าสามารถให้ความคุ้มค่าในระยะยาวได้มากกว่ารถยนต์สันดาปภายในจริงๆ
เมื่อเทรนด์ของโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่เทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่เคยถือไพ่เหนือกว่าในวงการต้องเริ่มมองภาพธุรกิจในอนาคต และปรับตัวเพื่อไม่ให้ตกขบวนไปอย่างน่าเสียดาย เพราะผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับอานิสงส์จากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างเต็มที่
นั่นหมายความว่า ไทยที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ของรถยนต์สันดาปภายในย่อมได้รับผลกระทบด้วย และอาจถึงคราวตกขบวนหากไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น
ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นทางรอดที่ชัดเจนที่สุดในขณะนี้ ซึ่งไทยก็ตั้งเป้าให้ปี 2030 มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นเป้าหมายสุดท้าทายที่จะพิสูจน์ความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเช่นกัน
ปัจจัยที่ทำให้ ‘ไทย’ สามารถเป็น ‘ฮับ’ ของรถยนต์ไฟฟ้าได้สำเร็จ
การก้าวสู่การเป็นฮับของรถยนต์ไฟฟ้าต้องอาศัยปัจจัย 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ กำลังซื้อของคนในประเทศ และศักยภาพการเป็นฐานการผลิต ยิ่งคนในประเทศให้ความสนใจสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนมากขึ้น เพราะผู้ผลิตมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และตัดสินใจเข้ามาลงทุนในที่สุด
ซึ่งไทยสอบผ่านด้านกำลังซื้ออย่างชัดเจน เพราะสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 ไทยนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนราว 6 หมื่นคัน คิดเป็นสัดส่วนถึง 176 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2021 โดยจำนวนการนำเข้าเป็นรองแค่เบลเยียมและสหราชอาณาจักรเท่านั้น
ดังนั้น โจทย์สุดหินของการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จึงตกมาอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพการผลิตแทน
ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสะสม ‘บุญเก่า’ มาเป็นอย่างดีทั้งด้านองค์ความรู้ โลจิสติก และการจัดการซัพพลายเชน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ไทยจะต่อยอดความเป็นหนึ่งด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากความสำเร็จเดิม แต่อุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ไทยต้องก้าวผ่านให้ได้ก่อน คือการศึกษาองค์ประกอบของแบตเตอรีและเทคโนโลยีในรถยนต์ไฟฟ้า
‘แบตเตอรี’ คือหัวใจสำคัญของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นปัจจัยชี้วัด ‘ชัยชนะ’ ของเหล่าผู้ผลิต ยิ่งใช้ต้นทุนในการผลิตน้อยหรือสร้าง ‘Economy of Scale’ ได้มากเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีด้านกำไรหรือการตั้งราคาขายที่ถูกกว่าคู่แข่งได้ แต่ไทยยังมีจุดอ่อนด้านการผลิตแบตเตอรีอยู่มาก หากต้องการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ต้องชูจุดเด่นด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุนแทน เช่น การลดอัตราภาษี การส่งเสริมเขตการค้าเสรี เป็นต้น
นอกจากการชูจุดเด่นด้านนโยบายการลงทุนจะเป็นสิ่งที่สำคัญแล้ว ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะภาคเอกชนคือกลุ่มคนที่มี ‘โนว์ฮาว’ (know how) ในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ส่วนภาครัฐคือกลุ่มคนที่มีพลังในการสนับสนุนด้านต่างๆ เมื่อภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้สมบูรณ์
แต่กว่าที่ไทยจะก้าวสู่การเป็นฮับของรถยนต์ไฟฟ้า ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านเสียก่อน โดยเฉพาะการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน เช่น อินโดนีเซียที่เป็นแหล่งแร่นิกเกิล (วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี) รายใหญ่ของโลก และเวียดนามที่มี ‘วินฟาสต์’ (Vinfast) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทำให้ไทยต้องงัดกลยุทธ์บางอย่างมาสู้ เพื่อข้ามผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปให้ได้
Sources: http://bit.ly/3UklZ43