“ฉันจะไม่พูดว่าฉันเป็นเจ้านาย” ประโยคต้องห้ามที่ Richard Branson ใช้บริหารคน

Share

“ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน”

ประโยคที่มักจะพบเจอได้ในโลกของการทำงาน คำพูดยอดฮิตอย่าง ‘เจ้านาย’ กับ ‘ลูกน้อง’ ที่ใช้ติดปากมาอย่างยาวนานจนกลายเป็น ‘ความเคยชิน’ ของทุกคนไปโดยปริยาย ซึ่งบรรดาความหมายของคำพวกนี้ก็ไม่ได้แค่บ่งบอกถึงสถานะ และตำแหน่งเท่านั้น แต่อีกนัยหนึ่งยังแสดงถึงความเคารพนอบน้อมต่อคนที่ขึ้นชื่อว่า ‘เจ้านาย’ ด้วย ทว่า หากมองให้ลึกลงไป แท้จริงแล้ว คำพูดลื่นหูนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึง ‘อำนาจที่เหนือกว่า’ ด้วย โดยบางเคสก็อาจถึงขั้นที่ ‘ทุกคนห้ามเถียง!’ กันเลยทีเดียว

ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) นักธุรกิจรายได้สิบหลัก และเจ้าของสายการบินระดับโลกอย่างเวอร์จิน (Virgin) เคยให้แนวคิดเกี่ยวกับบริหารคนที่ไม่เหมือนใครไว้ว่า “ฉันจะไม่พูดว่าฉันเป็นเจ้านาย”

ใช่ คุณอ่านไม่ผิดหรอก แนวคิดสุดแสนธรรมดานี้แหละที่ทำให้ทุกวันนี้เขาประสบความสำเร็จมากมาย ถึงแม้ในความเป็นจริง ริชาร์ดจะรู้ดีว่า มีอำนาจเต็มมือ ไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนี้ด้วยซ้ำ

โดยเขาเคยพูดถึงประเด็นนี้ในหนังสือที่ชื่อว่า Like a Virgin: Secrets They Won’t Teach You at Business School ไว้ว่า การเจ้ากี้เจ้าการ ออกคำสั่งสิ่งต่างๆ นั้นไม่ใช่ลักษณะของผู้นำที่แท้จริง เพราะการจะเป็นผู้นำที่ดีได้ต้องรู้จักจัดการ จูงใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมไปพร้อมกัน ไม่ใช่เอาแต่ออกคำสั่ง ชี้นู่น ชี้นี่ให้ทุกคนทำตามเพียงอย่างเดียว

ถึงอำนาจกับตำแหน่งหัวหน้าจะเป็นของคู่กัน ถ้าไม่ใช้ ลูกน้องบางคนก็อาจไม่ฟัง ไม่เคารพลามไปถึงขั้นเล่นหัวได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ก็ไม่สามารถซื้อใจลูกทีมได้เช่นกัน ดังนั้น การเรียกขานด้วยคำว่า ‘เจ้านาย’ จึงเป็นประเด็นละเอียดอ่อนทางความรู้สึกที่ริชาร์ดให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

เนื่องจาก พอพูดไปเรื่อยๆ ก็กลายเป็นเหมือนการปลูกฝังแนวคิดว่า ‘ฉันกับเธอต่างกัน และแน่นอนว่า เธอต้องทำตามสิ่งที่ฉันบอกเป๊ะๆ เพราะฉันเป็นหัวหน้า’ อีกทั้ง บางทีช่องว่างเหล่านี้ก็ยังเป็นการปิดโอกาสไอเดียดีๆ โดยไม่รู้ตัว เพราะพนักงานบางคนก็อาจวางหัวหน้าไว้บนหิ้ง เมื่อมีไอเดียอะไรดีๆ ก็ทำให้พวกเขาไม่กล้าเสนอออกมา

เช่นนี้ การรู้จักวางตัวให้เป็น ให้เกียรติ เคารพซึ่งกันและกันกับทุกคนก็นับเป็นอีกหนึ่งกุญแจหลักทำให้เวอร์จินเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยบรรยากาศการทำงานแห่งความสุข โดยก็มีรากฐานสำคัญมาจากหัวหน้าที่ไม่เคร่งขรึม ไม่เจ้ายศเจ้าอย่างจนพนักงานรู้สึกอึดอัด รวมไปถึงยังส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยลดกำแพงระหว่างกันลง และก็ไม่แน่ว่า หากพวกเขาได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดี ก็อาจจะทุ่มสุดตัว ตั้งใจทำงานให้มากกว่าเงินเดือนเลยก็ได้

คำว่า ‘เจ้านาย’ และ ‘(ชื่อเรา)’ ก็อารมณ์เดียวกับ ‘ลูกน้อง’ และ ‘ทีม’ ก่อนหน้านี้ เราเคยเป็น Ghostwriter เขียนบล็อกให้กับเจ้าของธุรกิจท่านหนึ่ง มีครั้งหนึ่งที่เขียนคำว่า ‘ลูกน้อง’ ลงไปในงาน เจ้าของธุรกิจท่านนั้นตอบกลับมาด้วยฟีดแบ็คว่า อยากให้ปรับเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ทีม’ แทน เพราะเขามองว่า ไม่มีใครเป็นเจ้านาย และลูกน้อง แต่ทุกคนคือ ‘ทีมเดียวกัน’ ที่มีผู้นำทีมคอยแนะแนวทาง ควบคุมภาพรวมให้ราบรื่น ส่วนความสำเร็จก็ไม่ได้เกิดจากเขาเพียงผู้เดียว แต่ในความเป็นจริง เกิดจากทีมทุกคนที่มีเขาเป็นหนึ่งในส่วนผสมต่างหาก

การเลิกพูดประโยค “ฉันเป็นเจ้านาย” ก็ไม่ได้การันตีว่า ทุกคนจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับริชาร์ด แต่ที่แน่ๆ การอยู่เป็น วางตัวดีจะช่วยให้ได้ทั้งงาน และใจจากทุกคน

“จงฝึกคนของคุณให้เก่งจนไปทำงานที่ไหนก็ได้ และจงดูแลให้ดีจนพวกเขาไม่อยากจะไปไหน” เหมือนกับประโยคเท่ๆ ที่เขาเคยพูด แต่ทำจริงนั่นเอง

Source: https://bit.ly/3FQhmsO