บริษัทนี้อยู่กันแบบ “ครอบครัว” คำลวงหรือคำจริง ครอบครัวแบบไหนกัน?

Share

คอลัมน์: TalkกะTips
เขียน: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ

หนึ่งในประโยคคลาสสิกเลยเวลาคุณต้องไปสัมภาษณ์งานกับเอชอาร์ของบริษัทมักจะปิดท้ายคำสวยหรูในวัน Orientation ว่า

“ขอให้ทำตัวตามสบายนะคะ บริษัทนี้อยู่กันแบบครอบครัวค่ะ”

จนพอเราเข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาแล้วก็พบว่าเราเจอเรื่องที่น่าปวดหัวที่ไม่เกี่ยวกับกับงานเยอะไปหมด หลายคนถึงกระแนะกระแหนว่า อยู่แบบครอบครัวนี่คือ ครอบครัวของซินเดอเรล่าหรือเปล่า หรือว่า อยู่แบบเป็นพี่เป็นน้องแบบซ้องปีบกับกาสะลอง

ในฐานะคนมีแผลเลยอยากเอามาแชร์เพื่อเหมือนเป็นการบำบัดแบบกลุ่ม ผมเคยทำงานองค์กรหนึ่งอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าไม่เคยมีความคิดที่จะออกจากองค์กรนี้เลย เพราะรู้สึกว่าเราอยู่กันแบบครอบครัวแม้จะมีวิกฤตอะไรก็แล้วแต่เราก็จะฝ่าฝันและผ่านมันไปด้วยกันได้ จนมาถึงวันหนึ่งผมถึงมารู้ว่าผมคิดผิด เมื่อองค์กรมีแผนจะเลย์ออฟพนักงานครั้งใหญ่ คนที่เราคิดว่าเป็นครอบครัวต่างก็มี “ครอบครัว” ที่แท้จริงของเขาที่ต้องดูแล

การเลย์ออฟเป็นไปด้วยการเลือกของคนที่มีอำนาจในองค์กรสองคนที่ต่างคนต่างวัดอำนาจกัน และจากครอบครัวใหญ่เราก็จะเห็นว่าในแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายมีครอบครัวย่อยๆลงไปอีก อาจจะสนิทกับคนนั้นมากกว่ารักคนนี้มากกว่า คนนั้นก็รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยคนนี้ก็เอาอกเอาใจเก่งท้ายที่สุด ไม่ได้เป็นการเลือกคนที่อยู่ด้วยความสามารถ แต่เลือกตามลำดับความสนิท ถึงตัวผมเองจะได้ไปต่อก็แล้วแต่ๆบทเรียนครั้งนี้ทำให้ผมเห็นว่า ท้ายที่สุดคำว่า “เราอยู่กันแบบครอบครัว” นั้นเป็นคำที่สวยหรูเมื่อทุกคนยังมีความมั่นคง

ถามว่าเรารักองค์กร รักเพื่อร่วมงานได้ไหม? ก็คงได้เพราะเป็นปรกติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมต้องมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่สิ่งที่เราควรทำก็คือ “การเผื่อใจ”ไว้บ้าง เพราะเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกอื่นๆได้ การทำดีต่อใครสักคนไม่ได้แปลว่าจะได้ผลที่ดีตอบแทนกลับมาเสมอไป ดังนั้นอยากให้คิดเสมอว่าเราทำดีที่สุดแล้ว เพื่อในเวลาที่เราต้องพบกับความเจ็บปวดอย่างน้อยก็อาจจะพอรับสภาพได้ง่ายขึ้นบ้าง

ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่มันจะทำให้โอกาสเกิดปัญหาภายในองค์กรน้อยลงเช่นกัน ก็คือ เราเองก็ไม่เป็นผู้สร้างปัญหาเสียเองพื่อที่จะลดเรื่องปวดหัวในองค์กร แต่ก็จำเป็นต้องรักษาความถูกต้องเป็นหลัก บางครั้งการอยู่แบบครอบครัวมันจะทำให้เราไม่กล้าตักเตือนในสิ่งที่เราเห็นว่าเพื่อนเรากระทำผิด ซึ่งเรื่องนี้อาจจะค่อนข้างลำบากใจ แต่ก็ควรจะหาวิธีสื่อสาร เช่น เจอคนที่โกงเงินในบริษัทแบบนี้ ถ้าเราปล่อยไปอาจจะกลายเป็นปัญหาระดับองค์กรได้ ดังนั้นก็ควรจะให้คนที่มีอำนาจโดยตรงเข้ามาจัดการเช่นผู้บริหารหรือว่าเอชอาร์

บทความรอบนี้อาจจะดูดาร์กไปนิด สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่โลกของการทำงาน แต่เชื่อผมเถอะครับว่าถ้าคุณไปถามคนที่ผ่านประสบการณ์ในการทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง เขาก็จะตอบคล้ายๆกันว่า สิ่งที่ผมได้อธิบายไปนั้นมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ดังนั้น รักงาน รักเพื่อนร่วมงานได้ แต่ต้องไม่ลืมรักตัวเอง (ที่ไม่ได้แปลว่าเห็นแก่ตัว) ด้วยนะครับ