ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) หน่วยงานของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ Moral Space ร่วมกับ Future Trends จัดงานเสวนาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Sustainable Value Creation “รักษ์โลกแบบไหน ที่เรียกว่ายั่งยืน”
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ณ Paragon Cineplex สยามพารากอน โดยมีกิจกรรมสำคัญดังต่อไปนี้
- แถลงข่าวสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ในปี 2567 โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม
- MORAL HACKATHON 2024 ที่เยาวชนนักศึกษาจำนวน 5 ทีม จะมานำเสนอผลงานที่มีโมเดลธุรกิจดำเนินตามแนวคิดด้านความยั่งยืน
- การบรรยายหัวข้อ ‘เรียนรู้และเติบโตอย่างไรในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ และความยั่งยนคือแรงขับเคลื่อนโลก’ โดยคุณณัฐกร เวียงอินทร์ Head of Content & Branding of Future Trends ซึ่งมาแบ่งปัน 5 เทรนด์สำคัญในยุคนี้ ที่เรื่อง AI และ Sustainable กำลังทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
- เวทีเสวนาหัวข้อ มองกรอบความยั่งยืนแบบไหน เพื่อให้คนสุข โลกดี ธุรกิจมีกำไรไปพร้อมกัน โดยคุณอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจยั่งยืน และคุณอมรพล หุวะนันทน์ ผู้กว่าตั้ง Moreloop
- เวทีเสวนาหัวข้อ ‘การบริโภคอย่างรับผิดชอบ ช่วยให้โลกเย็นขึ้นได้อย่างไร’ โดยคุณพิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ เจ้าของเพจ PEAR is hungry และคุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery
รายละเอียดแต่ละกิจกรรม ดังต่อไปนี้
สถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ปี 2567
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เปิดเผยผล สำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2567 ซึ่งจัดทำโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มีรายละเอียดสำคัญ ต่อไปนี้
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ทำการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2567 ด้วย 2 เครื่องมือ คือ ดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิต ในกลุ่มคนไทย 3 ช่วงวัย คือ อายุ 13-24 ปี อายุ 25-40 ปี และ อายุ 41 ปีขึ้นไป รวม 29,432 คน ใน 6 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยมีผลการสำรวจดังนี้
[ ผลสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรม ปี 2567 ]
- ผลสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรมภาพรวม 3 ช่วงวัย อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.32 จากคะแนนเต็ม 6 คะแนน เปรียบเทียบกับปี 2566 ที่อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.73 ลดลง 8.67%
คุณธรรม 5 ด้าน ภาพรวม 3 ช่วงวัย พบว่า คุณธรรมด้านพอเพียง วินัยรับผิดชอบ และสุจริต อยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 4,17, 4.27 และ 4.19 ตามลำดับ ส่วนคุณธรรมด้านกตัญญู และจิตสาธารณะ อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.64 และ 4.35
เป็นที่น่าสังเกตว่า คุณธรรมด้านสุจริต อยู่ในระดับน้อยทั้ง 3 ช่วงวัย คือ อายุ 13-24 ปี ค่าเฉลี่ย 4.21 อายุ 25-40 ปี ค่าเฉลี่ย 4.04 และอายุ 41 ปีขึ้นไป ค่าเฉลี่ย 4.31
- ผลสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรม 3 ช่วงวัย
- อายุ 13-24 ปี พบว่า คุณธรรมด้านพอเพียง และสุจริต อยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 4.19 และ 4.21 ส่วนคุณธรรมด้านวินัยรับผิดชอบ กตัญญู และจิตสาธารณะ อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.48, 4.80 และ 4.42 ตามลำดับ
- อายุ 25-40 ปี พบว่า คุณธรรมด้านวินัยรับผิดชอบ และสุจริต อยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 3.93 และ 4.04 ส่วนคุณธรรมด้านพอเพียง กตัญญู จิตสาธารณะ อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.28, 4.60 และ 4.22 ตามลำดับ
- อายุ 41 ปีขึ้นไป พบว่า คุณธรรมด้านพอเพียง วินัยรับผิดชอบ และสุจริต อยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 4.05, 4.33 และ 4.31 ตามลำดับ ส่วนคุณธรรมด้านกตัญญู และจิตสาธารณะ อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.48 และ 4.38
[ ผลสำรวจทุนชีวิต ปี 2567 ]
1. ทุนชีวิตภาพรวม 3 ช่วงวัย อยู่ในระดับดี ร้อยละ 77.57 เปรียบเทียบปี 2566 ที่อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 83.80 ลดลง 7.43%
2. ทุนชีวิต 3 ช่วงวัย ใน 5 พลัง คือ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา/พลังที่ทำงานหรือพลังองค์กร พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน พบว่า
- อายุ 13-24 ปี พลังตัวตนอยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 80.15 ขณะที่พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา/ พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน อยู่ในระดับดี คือ ร้อยละ 78.81 ร้อยละ 76.93 ร้อยละ 76.79 และร้อยละ 73.55 ตามลำดับ
- อายุ 25-40 ปี พลังตัวตน และพลังครอบครัว อยู่ในระดับดีมาก คือ ร้อยละ 81.13 และร้อยละ 80.70 ขณะที่พลังที่ทำงานหรือพลังองค์กร พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน อยู่ในระดับดี คือ ร้อยละ 78.67 ร้อยละ 78.19 และร้อยละ 76.72 ตามลำดับ
- อายุ 41 ปี ขึ้นไป ทั้ง 5 พลัง อยู่ในระดับดี พลังตัวตน ร้อยละ 78.24 พลังครอบครัว ร้อยละ 77.94 พลังที่ทำงานหรือพลังองค์กร ร้อยละ 76.21 พลังเพื่อนและกิจกรรม
ร้อยละ 75.58 และพลังชุมชน ร้อยละ 74.66
3. ผลสำรวจทุนชีวิตรายข้อ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเรื่องเดียวใน 3 ช่วงวัย ที่มีคะแนนอยู่ในระดับ
ปานกลาง คือ พลังชุมชน อายุ 13-24 ปี เรื่องการมีเพื่อนบ้านที่สนใจและให้กําลังใจ ร้อยละ 69.04
[ ข้อเสนอจากการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2567 ด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิต ]
1. ควรหยิบยกประเด็นคุณธรรมด้านสุจริตและด้านวินัยรับผิดชอบ มาเป็นประเด็นร่วมในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในลักษณะที่เชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1) ระบบมาโคร (Macro system) คือ ระบบที่เป็นภาพรวมของสังคม 2) ระบบไมโคร (Micro system) คือ สิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดมนุษย์ เช่น ครอบครัว สถานศึกษา องค์กร ชุมชน และ 3) สื่อ (Media) เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง
- ระบบมาโคร (Macro system)
คุณธรรมด้านสุจริต คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเรื่องความสุจริต การสร้างและพัฒนาระบบแจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistle-blower) การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการให้ข้อมูลและร้องเรียนเรื่องทุจริต เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการไม่ทนต่อการทุจริต
คุณธรรมด้านวินัยรับผิดชอบ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเรื่องวินัยรับผิดชอบ โดยเฉพาะวินัยจราจร
- ระบบไมโคร (Micro system) คือ การส่งเสริมคุณธรรมด้านสุจริตและวินัยรับผิดชอบโดยมีจุดเริ่มจากครอบครัว และใช้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อน
- สื่อ คือ การใช้พลังของสื่อในการพัฒนา Soft skill การปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ในเรื่องสุจริตและวินัยรับผิดชอบ
2. รณรงค์ให้เข้าใจและรู้เท่าทันกระแสบริโภคนิยม เสริมสร้างความรู้ด้านวินัยทางการ.เงิน และส่งเสริมรูปแบบการบริโภคที่ยั่งยืน
3. ส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของคนวัยทำงานในด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเรียนรู้ เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ของไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2583
4. เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนออกแบบกิจกรรมจิตอาสาที่สร้างสรรค์ ที่เกิดจากความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับหรือสั่งการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมจิตอาสาควรบูรณาการงาน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน หรือสร้างภาระให้กับเด็กและเยาวชน
‘Moral Hackathon 2024’ รวมพลวัยรุ่นเปลี่ยนโลก เพื่อความยั่งยืนของวันพรุ่งนี้
เซสชั่นที่เยาวชนผู้เข้าร่วมการการแข่งขัน MORAL HACKATHON 2024 จำนวน 5 ทีม มานำเสนอผลงานที่มีโมเดลธุรกิจดำเนินกิจการตามหลัก ESG ดังต่อไปนี้
- ทีม WE BEAR BEARS
โครงการผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว แบรนด์ JARAT ที่มีการส่งเสริมชาวชาติพันธุ์ที่ปลูกข้าวดอยในพื้นที่สูงให้มีรายได้ ผ่านดำเนินการธุรกิจอย่างอย่างยืนตามหลัก ESG
E: การเกษตรแบบยั่งยืน ผ่านการใช้ไร่หมุนเวียน ลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่, การปลูกข้าวดอยบนพื้นที่สูงช่วยลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับการผลิตในพื้นที่เกษตรแบบเข้มข้น และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านไร่หมุนเวียน ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ท้องถิ่นและใช้ทรัพยากรน้ำและดินอย่างมีประสิทธิภาพ
S: ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวชาติพันธุ์ที่ปลูกข้าวดอยในพื้นที่สูง ช่วยรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนบนดอย, ช่วยสร้างงานในชุมชนท้องถิ่น รวมถึงเปิดโอกาสให้ชาวชาติพันธุ์ได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิต และการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นทางเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยเพิ่มทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคในเมือง
G: ความโปร่งใสและความยั่งยืน ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นโดยตรงเพื่อจัดหาวัตถุดิบช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการรับรองว่าการผลิตดำเนินไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เช่น ชุมชนท้องถิ่น นักลงทุน และผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ทีม Medium Rare
ธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางการจ้างงานระหว่างผู้ว่าจ้างและกลุ่มผู้เปราะบาง ให้ทำการตลาดไม่ว่าจะเป็นการโปรโมต โฆษณา แจกทดลองสินค้าต่างๆ เพื่อสร้างเอนเกจเมนต์ให้กับแบรนด์ของผู้ว่าจ้าง
โครงการนี้จะสามารถช่วยให้กลุ่มผู้เปราะบาง ที่มีจำนวนกว่า 10 ล้านคนในประเทศ ให้สามารถเข้าถึงโอกาสและการสร้างรายได้
- ทีม INFINITREE
ส่งเสริมเกษตรกรให้ทำเกษตรแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ ผ่านแพลตฟอร์มที่มีการช่วยวางแผนและแนะนำในการทำเกษตรคาร์บอนต่ำ รวมถึงสามารถทำคาร์บอนเครดิตไปในตัว ที่สามารถต่อยอดเป็นรายได้เพิ่มเติม
E: ช่วยส่งเสริมและปลูกฝังการทำเกษตรแบบคาร์บอนต่ำ และการจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน
S: เพิ่มแหล่งรายได้ที่หลากหลายให้แก่เกษตรกร และคนในชุมชนเกิดทักษะที่เพิ่มความยั่งยืนในการทำการเกษตรได้
G: เป็นการเก็บข้อมูลที่ช่วยติดตามผลของการทำเกษตร มีเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมมาตรฐานคาร์บอนเครดิต ให้สู่มาตรฐานสากล
- ทีม Medifcent
HEALL แพลตฟอร์มการจัดการระบบ ESG ครบวงจรสำหรับสถานพยาบาล ที่สามารถเก็บข้อมูล แสดงผลที่เข้าใจง่าย วิเคราะห์ข้อมูล ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนเป้าหมายต่างๆ และสามารถสร้างรายงานได้เพียงคลิกเดียว ตอบโจทย์แก้ความยุ่งยากในการเก็บข้อมูลและจัดทำรายงาน
- ทีม NOVA PLUS
intaSoil เพื่อแก้ปัญหาดินตะกอนจากการขุดลอกคูคลอง โดยนำตะกอนมาตรวจสอบและคัดแยก เพื่อนำไปทิ้งหรือบำบัดก่อนทิ้ง สามารถลดมลพิษที่มาจากกระบวนการขุดลอกที่ไม่ผ่านการบำบัด โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทย
การแข่งขัน MORAL HACKATHON 2024 จัดขึ้นเพื่อให้นิสิต นักศึกษา ที่มีความสนใจงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ได้พัฒนาแนวคิดที่สร้างสรรค์ในการเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการ เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาโมเดลต้นแบบ หรือนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนโลกในอนาคต
พร้อมทั้งรณรงค์ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี หรือพฤติกรรมเชิงบวกให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมุ่งเน้นการออกแบบพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม ที่สอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน (ESG) โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม
ภายใต้โจทย์ เยาวชนกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน (ESG YOUNG IMPACT MAKER) ซึ่งจัดแข่งขันรอบตัดสินไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา
‘5 เทรนด์ขับเคลื่อนโลก’ ทางรอดในยุคที่เอไอและความยั่งยืนพุ่งทะยานจนเแทบก้าวตามไม่ทัน
คุณณัฐกร เวียงอินทร์ Head of Content & Branding of Future Trends ซึ่งมาแบ่งปัน 5 เทรนด์สำคัญในยุคนี้ ที่เรื่อง AI และ Sustainable กำลังทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในหัวข้อ ‘เรียนรู้และเติบโตอย่างไรในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ และความยั่งยนคือแรงขับเคลื่อนโลก’ มีสาระสำคัญ ต่อไปนี้
[ 1. Technology & AI: เมื่อ AI กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ]
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า AI กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นทุกวัน แต่การใช้ AI อย่างรับผิดชอบ (Responsible AI) กลับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า AI ก็มีด้านมืดเช่นกัน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีนักการเงินในฮ่องกงที่ถูกหลอกให้โอนเงินถึง 900 ล้านบาทด้วยเทคโนโลยี Deepfake หรือกรณีที่ปรึกษาการเงินในไทยที่ถูกทำเสียงปลอมเพื่อชักชวนคนไปลงทุน นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของภัยที่มาพร้อมกับ AI
ขณะเดียวกัน AI ก็กำลังพัฒนาไปสู่การเป็น AI Agent ที่สามารถช่วยเหลือผู้คนในการทำงานและใช้ชีวิตได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการการประชุม ให้คำแนะนำต่างๆ หรือแม้แต่การช่วยขับรถ ซึ่งนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราจะมี สมองที่สอง ที่คอยช่วยเหลือเราในชีวิตประจำวัน
ต่อมาคือ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้าน AI ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายองค์กรและรัฐบาลต่างมุ่งเน้นการฝึกอบรมด้าน AI มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น Microsoft ที่ประกาศแผนฝึกทักษะ AI ให้กับคน 2.5 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2025 หรือ Amazon Web Services (AWS) ที่ประกาศลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้าน AI ในประเทศไทย เป็นต้น
[ 2. Sustainable Trends: เมื่อความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็น ]
ความยั่งยืนกำลังกลายเป็นกฎหมายและข้อบังคับที่ทุกธุรกิจต้องปฏิบัติตาม (Legislationization) ไม่ว่าจะเป็นภาษีความหวาน, PDPA, Carbon Tax, หรือแม้แต่ พ.ร.บ. ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินการทางกฎหมายและเพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG (ESG Disclosure Management) กำลังกลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนและผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น โดยบริษัทต่างๆ ต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณค่าให้กับสังคม
ต่อมาคือ แนวคิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านความยั่งยืนที่สำคัญ จากคำว่า Sustainability สู่ Resilience ที่มองว่า การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นเส้นตรงและคาดเดาไม่ได้เป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องพัฒนาความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวจากวิกฤตต่างๆ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นแค่การรักษาสมดุลเพียงอย่างเดียว
[ 3. Aging Society: เมื่อสังคมผู้สูงอายุมาถึง เราพร้อมรับมือแล้วหรือยัง? ]
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2040 จะมีผู้สูงอายุที่ต้องการคนดูแลเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านคน เป็น 3.4 ล้านคน นี่เป็นโอกาสและความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Care Economy
ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุคาดว่า จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2033 นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เทคโนโลยีที่ช่วยในการดูแลและอำนวยความสะดวก หรือแม้แต่การออกแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
[ 4. Consumer Trends: เมื่อแบรนด์ต้องเป็นมากกว่าผู้ขายสินค้า ]
ผู้บริโภคในยุคนี้ ต้องการมากกว่าแค่สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ พวกเขาต้องการแบรนด์ที่ใส่ใจในสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาจริงๆ (Brandcare)
ตัวอย่างเช่น Morrisons ที่ร่วมมือกับ NHS ติดข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งบนป้ายฉลากชุดชั้นใน หรือ Dulux Indonesia ที่มีโครงการ Yellow Canteen ซึ่งเป็นโรงอาหารสีเหลืองที่ช่วยกันยุง เป็นต้น
นอกจากนี้ แบรนด์ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นใหม่ด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แสดงถึงความจริงใจ (Brand Butlers) เช่น Cleartrip ที่มีนโยบาย ‘ยกเลิกโดยไม่มีเหตุผล’ ซึ่งทำให้การจองโรงแรมเพิ่มขึ้น หรือ Praxis ที่เป็นแอปพลิเคชันวิเคราะห์ภาพถ่ายเพื่อการประหยัดพลังงานในบ้าน เป็นต้น
[ 5. Happiness: เมื่อความสุขกลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ]
ในยุคที่ผู้คนต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันมากขึ้น การแสวงหาความสุขและความหมายในชีวิต กลายเป็นเรื่องสำคัญ แนวคิดเกี่ยวกับความสุขจากทั่วโลกกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- Ikigai ของญี่ปุ่น ที่เน้นการค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่
- Focus หลักการทำสมาธิเพื่อจดจ่อในสิ่งที่ทำ
- Taoism ของจีน ที่เน้นการดำเนินชีวิตด้วยการสมดุลเพื่อความสงบเรียบง่าย
- Hygge ของเดนมาร์ก ที่เน้นการสร้างความอบอุ่นและความสุขใจผ่านบรรยากาศที่เรียบง่าย
- Lagom ของสวีเดน ที่เน้นความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป
- Sisu ของฟินแลนด์ ที่เน้นการอดทน มุ่งมั่น ความแข็งแกร่งภายใจจิตใจ เผชิญกับความยากลำบาก
- Stoicism ของกรีกโบราณ ที่เน้นการควบคุมตนเองและการยอมรับความจริง ท่ามกลางความทุกข์หรือความเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
[ เตรียมพร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลง ]
ทั้ง 5 เทรนด์ขับเคลื่อนโลกที่เราได้พูดถึง ไม่ว่าจะเป็น Technology & AI, Sustainable Trends, Aging Society, Consumer Trends และ Happiness เราจะเห็นได้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจดูน่าหวาดหวั่นและท้าทาย แต่ถ้ามองให้ลึกจะเห็นว่า นี่เป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา
คนสุข โลกดี ธุรกิจมีกำไรไปพร้อมกัน
คุณอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจยั่งยืน และคุณอมรพล หุวะนันทน์ ผู้กว่าตั้ง Moreloop มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ มองกรอบความยั่งยืนแบบไหน เพื่อให้คนสุข โลกดี ธุรกิจมีกำไรไปพร้อมกัน มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
- เทรนด์ธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม ในประเทศไทยยังมีไม่มาก โดยในปี 2563 มี 146 ราย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200 ราย ซึ่งการเติบโตของวิสาหกิจใหม่ๆ ชะลอตัวลง แต่อาจจะเติบโตได้มากขึ้นตามเทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังขยายตัว
- การทำเรื่องความยั่งยืนวางอยู่บน 3 ขา คือ ผู้ปฏิบัติ (เช่น เอกชน) หน่วยงานรัฐ และผู้สนับสนุน (เช่น สังคม ลูกค้า) ซึ่งขาดขาใดไปไม่ได้
- การขับเคลื่อนนั้นจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิด CnSR (Consumer Social Responsibility)
- ด้าน E กับ S ในอดีตจะเป็นภาคสมัครใจ แต่เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจจะต้องมีด้าน G มาควบคุมทั้ง E และ S ซึ่งด้าน G จะต้องกำกับโครงสร้างและมีการเปิดเผยให้สังคม ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ได้รับรู้ถึงการดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างโปร่งใส
- Stakeholder Capitalism ประกอบด้วย Human Rights, Climate Crisis, Sustainable Consumption และที่เพิ่มใหม่ในยุคนี้คือ New Leadership และ Citizen Power
- เทรนด์ ESG จะเกิดเป็นกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติต่างๆ (Legislation) มากขึ้น เช่น การมาของ พ.ร.บ. Climate Change ที่จะกระทบ 14 อุตสาหกรรม หรือกฎหมายภาษีคาร์บอนที่จะรับกับระเบียบ CBAM ของสหภาพยุโรป ซึ่งถ้ารัฐไม่ออกเป็นภาคบังคับจะตามโลกไม่ทัน
- เมื่อก่อนการที่องค์กรทำเรื่อง Climate ได้ เป็นความสามารถพิเศษ แต่ปัจจุบัน เป็นพื้นฐานขั้นต่ำที่ต้องทำให้ได้ จากนั้นองค์กรต้องหาทางประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคุณค่าให้ได้ เช่น สินค้าและบริการยั่งยืน นวัตกรรม หรือการลงทุนสีเขียว เป็นต้น
- เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของโลกเราเป็นแบบเส้นตรง ที่ใช้อย่างไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน ซึ่งพบว่า 91.4% ของสิ่งที่เราผลิตกลายเป็นขยะไปในที่สุด ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในโซลูชั่นด้านความยั่งยืน จึงเข้ามามีบทบาทในการที่จะแก้ปัญหานี้
- กลยุทธ์ในการทำ Circular Economy คือ Product as a Service (ให้เช่าบริการแทนการขายขาด) Product Life Extension (ออกแบบให้สินค้ามีอายุที่ยืนยาว) Closed loop / Take back (วงจรปิด / การรับคืน) Modularity (การออกแบบแบบโมดูลาร์) Embedding intelligence (การฝังความอัจฉริยะ) และSmart material choices (การเลือกใช้วัสดุอัจฉริยะ)
- สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน คือ การกำกับดูแลที่ดี (CG: Coporate Governance) ซึ่งไม่ใช่แค่การทำตามกฎหมายที่กำหนดเท่านั้น จะต้องประยุกต์เพื่อสร้างคุณค่าให้มากกว่ากฎหมายกำหนด เพื่อการเติบโตและยั่งยืนได้ โดยบอร์ดจะต้องมีความรู้และเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ก่อน องค์กรจึงจะขับเคลื่อนต่อไปได้
การบริโภคอย่างรับผิดชอบ ช่วยให้โลกเย็นขึ้นได้อย่างไร
คุณพิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ เจ้าของเพจ PEAR is hungry และคุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery มาพูดคุยในหัวข้อ ‘การบริโภคอย่างรับผิดชอบ ช่วยให้โลกเย็นขึ้นได้อย่างไร’ มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
- ผู้บริโภคมีส่วนสำสัญที่จะช่วยด้านความยั่งยืนได้ ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการกิน ใช้ และเดินทาง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติก การอุดหนุนท้องถิ่น เป็นต้น
- อย่างไรก็ตาม ยังมีภาครัฐและผู้ประกอบการ ที่มีส่วนสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ลำพังผู้บริโภคลดการใช้ถุงพลาสติกอาจต้องการกลุ่มคนจำนวนมากจึงจะเห็นผล แต่ถ้าภาคผู้ประกอบการทำจะเห็นชัดขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเห็นได้ชัดที่สุดจะเป็นการผลักดันจากภาครัฐ
- พฤติกรรมของผู้คนยังเป็นสิ่งสำคัญ เปลี่ยนวิถีชีวิตและเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกทำของเรา จะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเลือกที่จะพกแก้วส่วนตัวแทนการใช้แก้วใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งสามารถลดขยะได้ทันที อีกทั้ง บริษัทผู้ผลิตแก้วอาจมองเห็นเทรนด์ดังกล่าวนี้ ทำให้ผลิตแก้วสำหรับพกพามากขึ้น เป็นต้น
- แต่ละคนต้นทุนไม่เท่ากัน เลือกเฉพาะที่สามารถทำได้ บางตัวเลือกอาจเข้าถึงได้อยากสำหรับบางคน แต่ถ้ามีกำลังและโอกาส ขอให้พยายามทำ
- ความรับผิดชอบต่อโลก ไม่ได้แค่เสียเงิน แต่สามารถช่วยให้เราประหยัดเงินได้มากขึ้น เช่น การพกแก้วส่วนตัวไปซื้อเครื่องดื่มในคาเฟ่ ซึ่งหลายร้านมีส่วนลดให้ 5 – 10 บาทต่อแก้ว ช่วยลดขยะและประหยัดเงินได้มากขึ้น
- ปัจจัยที่ยากต่อการทำให้เราเป็นผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบต่อโลก คือ เรื่องของราคา ทำให้การเข้าถึงค่อนข้างยากสำหรับบางคน ถ้าภาครัฐสนับสนุนเอกชนให้สามารถทำเรื่องความยั่งยืนได้มากขึ้น ราคาลดลงมาเท่าๆ กันกับสินค้าทั่วไป ผู้บริโภคอาจจะเลือกได้ง่ายขึ้น
- ระวังการตีตราใครว่า เป็นคนไม่รักษ์โลก ไม่งั้นคนจะตั้งกำแพง และจะสื่อสารได้อยาก วิธีการที่ทำได้ดีกว่าคือ การให้รางวัลคนที่ทำ โดยไม่ว่าคนที่ไม่ทำ
- ในการสื่อสารด้านความ Gen Z สื่อสารด้วยง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม การสื่อสารจะต้องให้ตรงความสนใจหรือความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มวัย จึงจะมีประสิทธิภาพ
- การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบที่ทำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน คือ การกินอาหารให้หมดจาน ไม่ให้เหลือเป็นขยะ
- การมุ่งสู่ความยั่งยืน ย่อมมีอุปสรรคแตกต่างกันไปแต่ละคน ทุกๆ ภาคส่วนจึงเข้ามาช่วยส่งเสริมกันและกัน จะทำให้ความยั่งยืนสามารถเกิดขึ้นได้จริง การเปลี่ยนโลกจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้
FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsESG #ศูนย์คุณธรรม #SustainableValueCreation #MoralSpaces