“เพราะในความเป็นจริง โลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา” เข้าใจ ‘Spotlight Effect’ แนวคิดทางจิตวิทยา ที่ผู้คนมักจะคิดว่าตัวเองถูกจับตามองอยู่

Share

“ในวันธรรมดาวันหนึ่ง คุณตื่นสายและรีบไปทำงานอย่างเร่งด่วน จนลืมที่จะเช็คหน้า ผม การแต่งตัว เมื่อถึงที่ทำงานคุณรู้สึกว่าคนรอบตัวมองมาที่คุณ และแอบคิดไม่ดีในใจ ซึ่งมันทำให้คุณรู้สึกอายอย่างมาก” แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาได้สังเกตคุณและแอบคิดไม่ดีจริงๆ หรือเปล่า?

วันนี้ Future Trends จะพามารู้จักกับแนวคิดทางจิตวิทยาที่มีชื่อว่า ‘Spotlight Effect’ แนวคิดที่พูดถึงผู้คนที่มักจะคิดว่าตัวเองถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา จนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต

[ ‘Spotlight Effect’ แนวคิดทางจิตวิทยา ที่ผู้คนมักจะคิดว่าตัวเองถูกจับตามองอยู่ ]

‘Spotlight Effect’ คือ แนวคิดทางจิตวิทยาสังคมที่กล่าวถึงแนวโน้มที่จะประเมินค่าตัวเองสูงเกินไป ทำให้มีความรู้สึกว่าถูกจับจ้องตลอดเวลา และมักจะคิดไปเองว่าคนอื่นกำลังพูดถึงตัวเองอยู่ เปรียบดั่ง สปอตไลท์ ที่มีหน้าที่ฉายแสงไปยังจุดเด่นที่ต้องการให้ความสำคัญ แต่ Spotlight Effect จะแสดงผลต่อการเน้นย้ำในส่วนของข้อผิดพลาดและข้อบกพร่องมากกว่า

สำหรับคนทั่วไปที่มีความมั่นใจ มั่นหน้าในตัวเอง อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ทางจิตวิทยานี้มากนัก แต่ผู้ที่มีความวิตกกังวลทางสังคม (Social Anxiety) จะได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งมันอาจจะส่งผลต่อความสามารถในการเข้าสังคมและการทำงานได้เลย ความสบายใจเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นจะถูกบดขยี้ย่อยยับ และเป็นกังวลตลอดเวลา

แนวคิดนี้ถูกศึกษาวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา โทมัส กิโลวิช (Thomas Gilovich) ภายใต้ชื่อ ‘Spotlight Effect’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อการหาคำตอบเกี่ยวกับความสนใจในตัวผู้อื่นของมนุษย์

วิธีการทดลองในครั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างจะต้องสวมเสื้อยืดที่ ‘น่าอับอาย’ ไปในชั้นเรียน เมื่อจบคาบเรียนนักวิจัยจะขอให้ผู้คนที่อยู่ในชั้นเรียนตอบแบบสอบถามว่า ‘คุณสังเกตเห็นเสื้อที่น่าอับอายนั้นหรือไม่?’ 

สมมติฐานแรกของผลลัพธ์คือนักศึกษากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จะต้องสังเกตเห็นความน่าอับอายนี้ แต่ผลลัพธ์กลับบอกว่า จริงๆ แล้วมีเพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนนักศึกษาเท่านั้นที่สังเกตเห็นความน่าอับอายของเพื่อน อีกทั้งพวกเขายังไม่มีความคิดเชิงลบ เพียงแค่สังเกตเห็นเฉยๆ เท่านั้น

ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ได้กลายมาเป็นรากฐานของการศึกษาต่อไปในครั้งถัดไป ในปี 2007 เกิดการศึกษาวิจัยในหัวข้อ ‘Spotlight Effect’ อีกครั้ง แต่ข้อสรุปของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ บอกได้ว่า “Spotlight Effect มีความเฉพาะเจาะจงต่อความกังวลด้านการถูกประเมินทางสังคม ผู้ที่ขาดความมั่นใจและเข้าสังคมไม่เก่งจะเป็นเหยื่อของปรากฏการณ์นี้”

“Spotlight Effect จะสร้างความกังวลมากยิ่งขึ้นเมื่อมันเกี่ยวข้องกับความคิดว่าคนอื่นจะชื่นชอบคุณไหม”

[ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิด ‘Spotlight Effect’ ]

‘การถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง’ หรือ ‘อคติด้านความรู้ความเข้าใจ’ ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดในการคิดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณเกี่ยวกับตัวคุณเองและโลก เนื่องจากคุณมีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึก จึงมักจะให้ความสำคัญกับมุมมองของตัวเองมากเกินไปในการตัดสินใจ และคิดว่าทุกๆ คนจะต้องแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเรา

แม้ว่าคนเราจะชอบคาดเดาว่าคนอื่นจะคิดเห็นอย่างไร แต่มุมมองเดียวที่เราไม่ต้องคาดเดาคือความคิดตนเอง นั่นจึงทำให้ภาวะการถือตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางเกิดขึ้นได้ง่าย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถก่อให้เกิด Spotlight Effect ได้ เช่น

ความคุ้นเคย

เราคุ้นเคยกับความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตัวเอง ดังนั้นเวลามีเรื่องที่แตกต่างออกไปจากปกติ เรามักจะวิตกกังวล

การยึดติด

อคติทางความคิดทั่วไปอีกประการหนึ่งที่เรียกว่าอคติในการยึดติด สามารถส่งผลกระทบต่อปรากฏการณ์นี้ได้เช่นกัน การยึดติดเกิดขึ้นเมื่อเราพึ่งพาข้อมูลที่เราเรียนรู้ในตอนแรกมากเกินไป ขาดการบูรณาการ และการประยุกต์ใช้ ทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะแสดงอคติในการยึดติดขึ้นมา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิด Spotlight Effect ได้

“เชื่อกันว่ามาจากภาวะประหม่ามากเกินไป รวมถึงไม่สามารถเอาตัวเองไปสวมบทบาทของอีกฝ่ายเพื่อตระหนักว่ามุมมองของพวกเขาต่อคุณได้”

[ จะแก้ไขอาการ ‘Spotlight Effect’ ได้อย่างไร? ]

สำหรับวันนี้เราได้ค้นหาข้อมูลสำหรับการแก้ไขอาการ ‘Spotlight Effect’ ที่ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตมากๆ มีด้วยกันทั้งหมด 4 วิธีการ ดังนี้

1.การบำบัดพฤติกรรม

การศึกษาวิจัยพบว่าการบำบัดพฤติกรรมสามารถช่วยคุณแก้ไขรูปแบบความคิดเชิงลบ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิด Spotlight Effect ได้

2.การใช้ยา

มียาบางชนิดที่สามารถช่วยคุณขจัดความรู้สึกหวาดกลัว ทำอะไรไม่ถูกเมื่อเข้าสังคมได้ โดยมักจะเป็นยาในกลุ่ม SSRIs (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) หรือ ยากลุ่มที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเก็บกลับเซโรโทนิน 

ปล.การใช้ยาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

3.มองมุมกลับ ปรับมุมมอง

คุณรู้สึกเหมือนตัวเองตกเป็นที่จับตามอง ให้คิดว่าคุณจะตอบสนองอย่างไรหากสิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับคนอื่น มันจะช่วยให้คุณเห็นภาพที่หลากหลายขึ้น

4.ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

หากคุณพบว่าตัวเองต้องรับมือกับความกังวลใจหรือความน่าอับอายเป็นประจำ ให้พูดคุยกับนักบำบัดหรือแพทย์ของคุณเพื่อหารือเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการพูดคุยบำบัดและการใช้ยา ด้วยการแทรกแซงจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรม คุณจะมีพลังในการจัดการกับความวิตกกังวลทางสังคมและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ ‘Spotlight Effect’ ในบางครั้งอาจจะไม่มีใครสังเกตเห็นความผิดปกติของคุณเลยก็ได้ เพียงแค่คุณลองมองออกในมุมกว้างและคิดว่า 

“ตัวเราเองก็ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ที่ทุกคนรอบข้างจะต้องหันมาสนใจ 😀”

เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์

Sources:

Verywellmind: The Spotlight Effect and Social Anxiety Not Everyone Is Staring at You – https://www.verywellmind.com/what-is-the-spotlight-effect-3024470

Healthline: Always Feeling Self-Conscious? Here’s Why You Shouldn’t, According to Science – https://www.healthline.com/health/mental-health/spotlight-effect#examples