‘เร็วแรง ทะลุนรก’ หรือ ‘ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม’ Speedboat VS Sailboat นำแบบไหนสไตล์คุณ

Share

บนโลกใบนี้ มีใครคนหนึ่งเคยเปรียบเอาไว้ว่า ‘ครูเปรียบเสมือนเรือจ้างที่คอยส่งเด็กข้ามฝั่งอย่างปลอดภัย และได้สิ่งตอบแทนเป็นเงินเดือนกลับไป’ เช่นนั้นแล้ว ในโลกของการทำงานจริง บรรดาผู้นำ และหัวหน้าทั้งหลายก็คงเป็นกัปตันหรือ ‘เรือ’ ที่คอยนำทีมไปสู่ผลลัพธ์ ฝั่งฝันอย่างที่ตั้งใจ

หากแต่ว่าเรือแต่ละลำก็มีฟังก์ชัน ข้อดี และข้อเสียที่ต่างกัน ทั้งเรือเร็ว (Speedboat) หรือเรือใบ (Sailboat) ก็ตาม สไตล์การนำทีมก็ไม่ต่างกัน เพราะมีการแบ่งประเภทเอาไว้อย่างชัดเจน

แล้วสไตล์การนำแบบเรือเร็วกับเรือใบต่างกันยังไง แบบไหนเวิร์กกว่า? ในบทความนี้ Future Trends จะมาเล่าให้ฟังกัน

แบบที่ 1 นำสไตล์เรือเร็ว (Speedboat Leader) – เร็วแรง ทะลุนรก

การนำสไตล์นี้ก็ตามความหมายของชื่อเลย ที่เน้นเรื่อง ‘ความเร็ว’ ในการไปสู่จุดหมายเป็นหลัก เลือกเดินหน้าถอยหลังตามใจชอบด้วยเครื่องยนต์สมรรถนะสูงที่สามารถ ‘เร่ง’ ได้ในชั่วพริบตา แต่ถ้ามองในมุมของการนำแล้ว ก็คล้ายกับการคิดเร็ว ทำเร็ว ใช้อุปกรณ์ล้ำๆ นำทีม ซึ่งเป็นผลดีในแง่ของการปรับตัวให้เหนือกว่าคู่แข่งยามวิกฤต

อย่างไรก็ตาม แม้จะเร็วแรงสะใจแค่ไหน แต่ก็มีข้อเสียอยู่ไม่น้อย เพราะความเร็วที่มากไปนั้นไม่ค่อยปลอดภัย อาจทำให้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ โดยก็อาจเกิดมาจากความไม่รอบคอบ ที่บางครั้งการคิดเร็ว ทำเร็วก็ทำให้มองข้ามโดยไม่รู้ตัว

รวมไปถึงมักมาพร้อมกับต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ ‘สูง’ ด้วย อย่างที่รู้กันว่า เวลารถคันไหนวิ่งเร็ว ก็มักจะกินน้ำมันมากกว่าคันอื่น แถมยิ่งเร่งเครื่องแรงมากเท่าไร เสียงคำรามของเรือก็จะไปรบกวนน่านน้ำอันเงียบสงบ และก่อกวนสภาพแวดล้อมรอบๆ ได้ สรุปแล้ว ความเร็วที่ได้มาต้อง ‘แลก’ ไปกับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะ ‘พัง’ มากกว่าปัง หากไม่รอบคอบนั่นเอง

แบบที่ 2 : นำสไตล์เรือใบ (Sailboat Leader) – ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม

ถึงเรือใบจะแล่นไปตามทิศทางลม ไม่สามารถเร่งเครื่องได้เหมือนเรือเร็ว แต่ในความชิล เรื่อยๆ เหล่านี้ก็ทำให้ผลงานออกมาดีได้เช่นกัน หรืออย่างเวลาที่เอาเหล็กมาตีเป็นมีดพร้า ถ้าไม่รีบ ค่อยๆ ตี ก็จะทำให้ได้มีดพร้าด้ามที่คม และสวย

อีกทั้งการนำสไตล์นี้ยังอาจทำให้เสี่ยงอันตรายพลิกคว่ำ ชน หรือผิดพลาดจากความไม่รอบคอบน้อยกว่าเรือเร็ว กล่าวคือ การนำสไตล์เรือใบเหมาะกับสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ เพราะสามารถปรับเปลี่ยนไปตามบริบทรอบตัว ไหลไปทิศทางของลม และกระแสน้ำได้ง่าย

แต่ต้องวงเล็บไว้ก่อนว่า บางทีก็อาจจะไม่ทันการได้ ในทางกลับกัน แม้จะดูเวิร์ก เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่กว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทาง ผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ได้ก็ต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร เนื่องจากมีปัจจัยอื่นเข้ามาเป็นส่วนสำคัญด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ไม่อาจสรุปได้ว่า เรือแบบไหนเวิร์กกว่าอยู่ดี เพราะแต่ละประเภทก็มีฟังก์ชันของข้อดี ข้อเสียที่ต่างกัน และที่แน่ๆ หากมีวิสัยทัศน์ที่ ‘ชัดเจน’ ไม่ว่าจะเรือลำไหน ก็ไปถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพได้

สุดท้ายแล้ว ‘เราคงเป็นดั่งเรือน้อยลำหนึ่ง ในทะเลแห่งชีวิตกว้างใหญ่’ เหมือนที่เนื้อเพลงท่อนหนึ่งเคยร้องเอาไว้…

Sources: https://bit.ly/3uT5hiu

https://red.ht/37Z0l2G

https://bit.ly/3K2z8JW