‘Future Trends: Love-Tech Relationship’ ซีรีส์บทความรับเทศกาลวาเลนไทน์ สำรวจเรื่องราวของ ‘ความสัมพันธ์ยุคใหม่’ ที่เกิดจากความรักกับเทคโนโลยี
แต่งกลอนหวานซึ้งจีบคนในหัวใจ
เขียนจดหมายรักมัดใจผ่านตัวอักษร
คุยทางโทรศัพท์บ้านสานสัมพันธ์ผ่านเสียง
ตัวอย่างการจีบกันของวัยรุ่นยุค ‘90s ที่สะท้อนถึงความคลาสสิกของยุค ‘แอนะล็อก’ ที่การสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตยังเป็นเรื่องยากลำบาก ทำให้การสานสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนมีความละเมียดละไม และใช้เวลานานกว่าความรักจะสุกงอม
จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาสู่ยุคที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู วิธีการจีบกันของคนสองคนเริ่มเปลี่ยนไป และใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกลางในการส่งผ่านความรักมากขึ้น เช่น ส่ง SMS บอกรักทุกคืน ไรท์เพลงลงแผ่นซีดีให้คนที่ชอบ ฟังเพลงจากแผ่นซีดีด้วยเครื่องเล่นซีดีแบบพกพากับหูฟังคู่ใจ เป็นต้น
ถึงแม้การจีบกันของวัยรุ่น Y2K จะทำให้คนสองคนสานสัมพันธ์กันง่ายกว่าการจีบในยุคแอนะล็อก แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สามารถทำลายข้อจำกัดที่เคยมี และปลดล็อกวิธีการที่ช่วยให้สานสัมพันธ์ง่ายขึ้นอย่าง ‘โซเชียลมีเดีย’ ที่เป็นช่องทางการสื่อสารยอดนิยมในปัจจุบัน
โซเชียลมีเดีย กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดระยะห่างระหว่างคนสองคนในเวลาอันรวดเร็ว เพราะแต่ละฝ่ายสามารถศึกษาไลฟ์สไตล์ของกันและกันผ่าน ‘คอนเทนต์’ บนหน้าฟีด ก่อนทำความรู้จักผ่านการพูดคุยในระบบแชต ทำให้ความรักสามารถเกิดขึ้นได้ แม้พรหมลิขิตจะไม่บันดาลชักพา หรือถูกคิวปิดยิงศรรักปักกลางใจก็ตาม ถือเป็น ‘Game Changer’ ที่เปลี่ยนวิธีการจีบให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์
นอกจาก ‘โซเชียลมีเดีย’ จะช่วยให้คนสองคนสานสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อการก่อร่างสร้าง ‘ความรัก’ อย่างไรอีกบ้าง? Future Trends จะพาไปสำรวจในประเด็นต่างๆ พร้อมๆ กัน
เกิด ‘ความสัมพันธ์ข้างเดียว’ ก่อนพัฒนาเป็น ‘ความสัมพันธ์ของฉันและเธอ’
การเห็นเรื่องราวในชีวิตประจำวันของใครบางคนบนหน้าฟีดทุกวัน ย่อมก่อให้เกิดความผูกพัน แม้ไม่เคยพบกันในโลกแห่งความเป็นจริงมาก่อน ซึ่งโซเชียลมีเดียจะทำหน้าที่เป็น ‘สังคมจำลอง’ ให้แต่ละฝ่ายเข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์ผ่านฟีเจอร์ต่างๆ เช่น ปุ่ม Like ปุ่ม Love การตอบกลับสตอรี่ การคอมเมนต์ใต้โพสต์ เป็นต้น
การที่โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่แห่งการแสดงตัวตนและถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด เปรียบเสมือน ‘กระจก’ ที่สะท้อนความเป็น ‘เรา’ สู่สายตาผู้อื่น บางคนอาจรู้สึกคลิกกับใครสักคนจากการอ่านข้อความเพียงประโยคเดียว หรือดูสตอรี่ทุกวันจนรู้สึกคุ้นเคย และพัฒนาเป็น ‘ความสัมพันธ์ข้างเดียว’ ที่ดีต่อใจ แม้จะไม่เคยพบกันมาก่อนเลยก็ตาม
ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ เรียกว่า ‘Parasocial Relationship’ หรือความสัมพันธ์ที่ก่อตัวจากการรับรู้เรื่องราวของอีกฝ่ายโดยไม่จำเป็นต้องพบกัน ในอดีตเป็นคำที่อธิบายถึงการรู้สึกอยู่ในความสัมพันธ์จริงกับบุคคลในสื่อ แต่การเติบโตของอินเทอร์เน็ตช่วยขยายวงสังคมให้ครอบคลุมความสัมพันธ์จากการติดตามเรื่องราวของใครสักคน จนเขาหรือเธอเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ที่มีอิทธิพลต่อหัวใจ และทำให้รู้สึกหวั่นไหวตลอดเวลา ถือเป็นแรงผลักดันที่นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ในโลกแห่งความเป็นจริง
‘โซเชียลมีเดีย’ = เครื่องมือยืนยันความสัมพันธ์แบบเป็นทางการ
A: “เราคบกันแบบไม่ต้องโพสต์ทุกอย่างลงโซเชียลได้ไหม?”
B: “ทำไมล่ะ ไม่อยากเปิดตัวว่า เรากำลังคบกันอยู่หรอ?”
ตัวอย่างบทสนทนาที่สะท้อนว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ มีอิทธิพลต่อ ‘การแสดงความรัก’ ในปัจจุบันมาก และทำให้การเปิดเผยความสัมพันธ์บนโลกโซเชียล กลายเป็นเกณฑ์ชี้วัดความมั่นคงทางความรัก เพราะถ้าคนสองคนเห็นต่างกัน หรือมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการแสดงออกบนโลกออนไลน์ จะเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่กระทบต่อความสัมพันธ์ทันที
ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา (University of Oklahoma) พบว่า คู่รักที่แสดงออกบนโลกออนไลน์มีแนวโน้มที่จะทุ่มเทความรัก และสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกว่าคู่รักที่คบกันอย่างไม่เปิดเผยบนโลกโซเชียล นี่จึงแสดงให้เห็นว่า โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความรักและรักษาความสัมพันธ์มากกว่าที่หลายคนคิด
‘โซเชียลมีเดีย’ สร้างรักมาได้ ก็ทำลายรักได้เช่นกัน
ถึงแม้โซเชียลมีเดียจะเป็นเครื่องมือช่วยสานสัมพันธ์ในเวลาอันรวดเร็ว และบ่มเพาะความรักให้สุกงอม แต่ในทางกลับกัน โลกโซเชียลที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์น่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้หลายคนแบ่งเวลาวันละหลายชั่วโมงไปใช้บนโลกออนไลน์ เพื่อตักตวงความสุขของตัวเอง จนความสัมพันธ์ในชีวิตจริงเริ่มสั่นคลอน
ผลสำรวจจาก Pew Research Center ในเดือนตุลาคม 2019 พบว่า คนจำนวนมากกำลังต่อสู้กับ ‘อุปสรรค’ ทางความรักที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี เช่น
51 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง กล่าวว่า คู่ของตัวเองมักเสียสมาธิจากโทรศัพท์มือถือขณะใช้เวลาร่วมกัน
4 ใน 10 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจ รู้สึกกังวลใจเวลาที่คู่รักของตัวเองใช้โทรศัพท์มือถือ
ผู้คนกว่า 34 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่า ตัวเองแอบเช็กโทรศัพท์มือถือของคู่รักโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ตัว
ตัวเลขทางสถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า หลายคู่กำลังประสบปัญหา ‘ข้าวไม่ใหม่ ปลาไม่มัน’ เท่าเดิม หรือรับรู้รสชาติที่แท้จริงของ ‘น้ำผักต้ม’ ว่าขมขนาดไหน และเผชิญกับความสัมพันธ์แสน toxic ที่ต่างฝ่ายต่างระแวงกัน โดยมี ‘โซเชียลมีเดีย’ เป็นตัวร้ายที่เป็นสาเหตุของ ‘ทางตัน’ ในความสัมพันธ์ของคนสองคน ทั้งที่ทุกอย่างไม่ได้เกิดจากโซเชียลมีเดียโดยตรง แต่เกิดจากการหลงลืมความสัมพันธ์ในโลกแห่งความเป็นจริง
‘ความรัก’ กับ ‘โซเชียลมีเดีย’ เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน ด้านหนึ่งคือ ‘ความสดใส’ เหมือนโลกทั้งใบเป็นสีชมพู ส่วนอีกด้านคือ ‘ความทุกข์’ ที่โลกทั้งใบไม่เป็นสีชมพูเช่นเดิม และค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นสีเทา ซึ่งเหรียญจะพลิกไปด้านไหน ก็อยู่ที่คนสองคนจะตัดสินใจใช้โซเชียลมีเดียให้มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์อย่างไร?
Sources: http://bit.ly/3JUfWl1
E-Book เจาะเทรนด์โลก TRENDS 2023 โดย TCDC