‘Future Trends: Forward’ ซีรีส์บทความรับปีใหม่ มองไปข้างหน้าในปี 2023 ทั้งทางธุรกิจ เทคโนโลยี การทำงาน และเหตุการณ์รอบโลก เพื่อคาดการณ์เทรนด์สำคัญที่รออยู่ในอนาคต
ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน หลายคนมักคุ้นหูกับค่านิยมการจบมหาวิทยาลัยชื่อดัง คณะชั้นนำ และการมีเกรดที่สวยงามว่า จะทำให้คนนั้นมีความสามารถเหลือล้นกว่าคนทั่วไป ทว่า ในปี 2023 ค่านิยมที่ได้รับการส่งต่อกันมาหลายรุ่นนี้จะเปลี่ยนไป เนื่องจาก นายจ้างจะหันมาให้ความสำคัญกับ ‘ทักษะที่มี’ มากกว่าวุฒิการศึกษาหรือใบปริญญามากขึ้น
แล้วเทรนด์นี้คืออะไร มีข้อดีอย่างไร และมีประเด็นไหนที่น่าจับตาบ้าง? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
ยุคนี้ ‘ทักษะ’ ต้องมาก่อน
ไรอัน โรสแลนสกี (Ryan Roslansky) ซีอีโอของ LinkedIn โซเชียลมีเดียชื่อดังด้านอาชีพการงาน บอกเล่าในนิตยสาร The WIRED World in 2023 ไว้อย่างน่าสนใจว่า โรงเรียนที่เราเคยเรียนจะไม่มีความสำคัญเท่าทักษะที่เรามี หรือสิ่งที่เราทำได้ ณ เวลานี้ นายจ้างจะลำดับความสำคัญให้ ‘ทักษะ’ เป็นอันดับแรก
ในปี 2021 เกิดกระแสการเปลี่ยนงานครั้งใหญ่ (The Great Reshuffle) ทั่วโลก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน พนักงานกลับมาคิดทบทวนถึงงานที่ทำอีกครั้ง ทั้งในแง่มุมของวิธีการ ตำแหน่ง สถานที่ ตลอดจนสภาพความเป็นอยู่ด้วย
ทุกวันนี้ คำพูดประจำวันของบรรดาผู้นำ และองค์กรคือ ‘ความไม่แน่นอน’ สิ่งต่างๆ เติบโตช้าลง และมีแนวโน้มหยุดชะงัก นี่เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสเช่นกัน เพราะถ้าผู้นำหรือองค์กรไหนปรับตัวได้ก็จะเป็นผู้ชนะ
ความจำเป็นในการสร้างทักษะผู้นำที่ยืดหยุ่น และพร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่เสมอ (Adaptive Leadership) ไม่มีช่วงไหนสำคัญมากกว่าช่วงที่ต้องการสร้างทีมงานที่คล่องตัว ในช่วงเกิดการเปลี่ยนงานครั้งใหญ่ นายจ้างค่อนข้างว่องไวต่อการยอมรับการทำงานทางไกล (Remote Working) และแบบไฮบริด (Hybrid Working)
แต่พอพูดถึงสินทรัพย์สำคัญอย่าง ‘พนักงาน’ เรายังขาดการสร้างสรรค์นวัตกรรม และต้องอาศัยวิธีการล้าสมัยในการค้นหา รักษา และทำให้พนักงานที่มีความสามารถได้เติบโต ดังนั้น แนวทางใหม่ในตลาดแรงงานยุคต่อไป คือ การเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับ ‘ทักษะ’ ของผู้สมัครงานเป็นอันดับแรก
Skills-First ไม่ใช่ของใหม่ แต่จะกลายเป็นกระแสหลัก
การจ้างงานด้วยการมองคุณค่าเรื่อง ‘ทักษะ’ มากกว่าวุฒิการศึกษา หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในอดีตเป็นเพียงแนวคิดชายขอบ การจ้างงานหลายสิบปีที่ผ่านมา นายจ้างมักพิจารณาที่ปริญญาที่ได้รับ หรือไม่ก็งานที่เคยทำมา และคนที่ผู้สมัครงานเคยรู้จัก
โรสแลนสกี บอกว่า การพิจารณาเช่นนี้ทำให้นายจ้างสูญเสียโอกาสในการได้ทำงานกับผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไป อย่างไรก็ตาม วิธีการจ้างงานกำลังจะเปลี่ยนไป โดยหันมาเน้นคัดจาก ‘ทักษะ’ เป็นอันดับแรกกันมากขึ้น ในยุคที่ตลาดแรงงานเปิดกว้าง มีความยืดหยุ่น และการเข้าถึงงานที่ให้ผลตอบแทนดีสามารถทำได้ง่ายขึ้น
บริษัททำดี พนักงานแฮปปี้ ‘อยู่ด้วยกันยืด’
ข้อมูลของ LinkedIn ชี้ให้เห็นว่า ทั้งบรรดานายจ้าง และลูกจ้างต่างหันมาใช้ ‘ทักษะ’ เป็นภาษากลางในการหางานมากขึ้น นายจ้างกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ใช้วิธีสกรีนค้นหาผู้สมัครบน LinkedIn ด้วยการมองที่ทักษะ โดยข้อมูลของ LinkedIn จะมีคำแนะนำให้กับลูกจ้าง และนายจ้างด้วย
รายงานล่าสุดของ LinkedIn เรื่อง Global Talent Trends ระบุว่า องค์กรที่เก่งเรื่องการสร้างทักษะและความสามารถของพนักงาน จะสามารถรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทได้นานเฉลี่ย 5.4 ปี หรือนานเกือบ 2 เท่าขององค์กรที่มีปัญหาเรื่องนี้ ส่วนค่าเฉลี่ยรวมของทุกบริษัทในการเก็บรักษาพนักงานไว้ คือ ไม่ถึง 3 ปี
การจ้างงานโดยอิงตามทักษะนับเป็นเทรนด์ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่น่าสนใจในปีนี้ เพราะยุคนี้ บางทีแม่พิมพ์การศึกษานั้นก็ไม่สามารถผลิตบัณฑิตออกมาได้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องหมั่นฝึกฝนทักษะ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
เหมือนกับที่แจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้ก่อตั้งอาณาจักรอาลีบาบา (Alibaba) เคยพูดไว้ว่า “ปริญญาเอก โท ตรี ก็เปรียบเสมือนใบเสร็จที่บอกว่า จ่ายมากแค่ไหนเพื่อเรียนให้จบ แต่โรงเรียนที่แท้จริงคือสังคมที่เราอยู่ต่างหาก ที่จะเป็นตัวพิสูจน์ว่า สิ่งที่คุณเรียนรู้มา สามารถทำให้เกิดความแตกต่างได้หรือไม่?” นั่นเอง
Source: นิตยสาร The WIRED World In 2023