สลับกัน ‘นำ’ สลับกัน ‘ตาม’ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Shared Leadership รูปแบบการนำที่องค์กรควรมี

Share

ว่ากันว่าผู้นำที่ดีนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อน เพราะการจะก้าวขึ้นไปอยู่บนที่สูงได้ต้องอาศัยการยอมรับ แรงสนับสนุนจากทีมหรือเพื่อนร่วมออฟฟิศที่นั่งทำงานโต๊ะข้างๆ ด้วย

เดิมที ตั้งแต่อดีต ส่วนใหญ่องค์กรมักจะมีการรวมอำนาจทุกอย่างไว้ที่หัวหน้า ‘เพียงคนเดียว’ เพื่อให้การบริหารทีมเป็นเรื่องง่าย สามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้เร็ว และไม่เกิดการสั่นคลอนง่าย ซึ่งคนที่จะก้าวขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่หัวหน้าได้ ก็ย่อมต้องมีพื้นฐานอย่างการเป็น ‘ผู้ฟังหรือผู้ตามที่ดี’ เป็นสำคัญ

ในทางกลับกัน หากมองให้ลึกลงไป การรวมอำนาจแบบนี้ก็ส่งผลเสียอยู่ไม่น้อย เนื่องจาก บางครั้งก็ทำให้เกิดการพึ่งพากันมากเกินความจำเป็น เอะอะอะไรก็หัวหน้าอย่างเดียว กลายเป็นว่าเสียงที่ได้รับการสนใจมีเพียงคนเดียว ส่วนเสียงของทีมนั้นกลับเป็นเสียงที่สำคัญน้อยกว่าหรือไม่ถูกให้ค่าด้วยซ้ำ แถมก็อาจทำให้ปัญหาบางอย่างถูกมองข้ามไปด้วยเช่นกัน

แล้วถ้าการนำทีมแบบเดิมๆ ไม่เวิร์ก ต้องเปลี่ยนไปนำแบบไหน และวิธียังไงบ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ ‘Shared Leadership’ รูปแบบการนำสไตล์หัวหน้ายุคใหม่ที่จะช่วยองค์กรของคุณจากปัญหานี้กัน

Shared Leadership คืออะไร?

แท้จริงแล้ว Shared Leadership ก็ไม่ต่างอะไรกับการเวียนเทียน ที่ก็ไม่ได้จำกัดแค่การมีผู้นำเพียงคนเดียวอีกต่อไป แต่เป็นการกระจายอำนาจ ดึงศักยภาพ และความหลากหลายของทีมออกมาแทน ผ่านการสลับกัน ‘นำ’ สลับกัน ‘ตาม’ โดยมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพสูงสุด แต่ถ้าใครยังไม่เห็นภาพ งั้นลองนึกง่ายๆ เป็นภาพสมัยประถม-มัธยมก็ได้ ที่คุณครูบางห้องก็ให้มีการเวียนหัวหน้าห้องจากเลขที่แรกไปจนถึงเลขที่สุดท้าย ผลัดกันเป็นคนละวัน

Shared Leadership ต่างจาก Distributed Leadership ตรงไหน?

ถึงแม้รูปแบบการนำนี้จะมีหลักใหญ่ใจความคล้ายกับ Distributed Leadership การนำแบบกระจายอำนาจก็ตาม ทว่า ก็ไม่ได้เหมือนกันไปทั้งหมด เพราะ Shared Leadership นั้นมีแง่มุมการมีส่วนร่วม เป้าหมาย และความรับผิดชอบร่วมกันที่ลึกกว่าเรื่องของการกระจายอำนาจในลักษณะแบบโครงสร้างใยแมงมุม (Web of Leadership) เข้ามาเกี่ยว

อีกทั้ง Shared Leadership ยังตั้งอยู่บนกรอบความคิดแบบ Role Exchange ของตัวผู้นำที่พร้อมปรับเปลี่ยน ยอมรับว่า ตัวเองอาจไม่ได้เก่งที่สุดในเรื่องนั้น ยอมลดอีโก้ผ่านการถอยหลังออกมาแล้วกระตุ้นให้ทีมคนอื่นขึ้นมาแทน โดยไม่รู้สึกอึดอัด และจะก้าวสู่บทบาทเดิมอีกครั้งก็ต่อเมื่อทุกอย่าง ‘ถูกที่ ถูกเวลา’ นั่นเอง

3 ควรรู้ในการสร้าง Shared Leadership

โดยทั้งหมดนี้ Shared Leadership จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประกอบด้วย 3 มิติเบื้องต้น ดังนี้

1. เป้าหมายร่วมกัน (Shared Purpose)

2. การสนับสนุนซึ่งกันและกัน (Social Support) ไม่ว่าจะเป็นการก้าวสู่การเป็นผู้นำ หรือแม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็นก็ด้วย

3. การส่งต่อพลังบวกผ่านเสียง (Voice) ด้วยการรู้จักชื่นชม และขอบคุณ

Shared Leadership ดีต่อใจยังไง?

การเวียนเทียนการขึ้นเป็นหัวหน้า ไม่เพียงแต่ช่วยให้เสียงของทุกคนในทีมถูกให้ค่าเท่ากันหมดเท่านั้น แต่บางครั้งการที่เราเป็นกุมอำนาจไว้คนเดียวก็ทำให้เผลอมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไป หรือต่อให้ไม่มองข้าม แนวคิดก็อาจจะวนอยู่ในอ่าง เหมือนอย่างที่มีคนเคยบอกไว้ว่า ถ้าเราได้คนหน้าใหม่เข้ามาทีม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือน้องฝึกงาน ก็อาจนำไปสู่ผลงานที่ดีกว่าเดิมได้

ซึ่งในที่นี้ การเริ่มต้นจากเรื่องเบสิคอย่างการสลับกัน ‘นำ’ สลับกัน ‘ตาม’ ก็น่าจะช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วม แรงจูงใจ ความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มขีดความสามารถกว่าเดิมได้พอสมควร ด้วยเหตุนี้เวลาแสดงความคิดเห็นออกไป ทีมบางคนก็เลยไม่ต้องรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่มีผิด-ถูก และแน่นอนว่า คงไม่ถูกตีตราเหมือนกับสังคมทุกวันนี้ที่ความคิดต่างกลายเป็นเรื่องของการแบ่งฝัก แบ่งฝ่ายกันอย่างสิ้นเชิง

รวมไปถึงก็เป็นการกำจัดการทำงานแบบไซโล (Silo) ที่เป็นการตัดขาดกันจนเกิดปัญหาอื่นตามมา สร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของ (Ownership) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความพึงพอใจ และสนับสนุนการเรียนรู้ เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเมื่อเราต้องขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงกว่านี้ พวกเขาจะได้เติบโตขึ้นมาแทนเราได้ไม่ยาก

Shared Leadership ไม่ดียังไง?

ด้วยความที่สลับกันไปมา ทุกคนนำ และตามได้หมด นั่นจึงทำให้ทีม ‘ขาดเสถียรภาพ’ สมมติถ้ามีเรื่องอะไรด่วนต้องตัดสินใจ ก็อาจจะค่อนข้างเสียเวลา และช้า บวกกับกว่าจะสร้างทีมเวิร์กจริงๆ ได้สำเร็จ ก็อาจนานมาก เพราะต้องอาศัยเวลาในการสร้าง ‘ความไว้วางใจ’ การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการฝึกฝนทีมให้ขึ้นมาเป็นผู้นำที่พร้อม หรืออย่างบางคนก็อาจไม่ได้รู้สึกเต็มใจขึ้นมาเป็นผู้นำด้วย อารมณ์เดียวกับเวลาที่ถูกโปรโมตเป็นหัวหน้าแล้วบางคนขอยอมลาออกดีกว่า

มีสำนวนไทยเคยบอกไว้ว่า ‘สองหัวดีกว่าหัวเดียว’ การทำอะไรคนเดียวนั้นไม่มีทางดีกว่าการช่วยกันคิดช่วยกันทำ ในทำนองเดียวกัน การสลับกัน ‘นำ’ สลับกัน ‘ตาม’ ก็อาจจะดีกว่าการนำด้วยตัวคนเดียว

สุดท้ายนี้ จงเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราชอบ ไม่ใช่ผู้ใหญ่แบบที่เราเกลียด นำได้ก็ต้อง ‘ลงให้เป็น’ ด้วย

Sources: https://bit.ly/3rNdKSs

https://bit.ly/3LkJeHe

https://bit.ly/37F5Nbk

https://bit.ly/3vJl9Dx