ทำไมเราถึงอยากมีความสุข ความสุขคืออะไร ความสุขทำงานอย่างไร?
ทาล เบน ชาฮาร์ (Tal Ben-Shahar) ผู้สอนเกี่ยวกับจิตวิทยาความเป็นผู้นำและจิตวิทยาเชิงบวก รวมถึง ‘วิชาความสุข’ ที่มีสอนแค่ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ซึ่งเป็นวิชาที่มีผู้ลงเรียนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ เสนอว่า “เราแสวงหาความสุขเพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ความสุขถือเป็นเป้าหมายสูงสุด เป็นจุดหมายปลายทางที่เป้าหมายอื่นๆ จะมาสิ้นสุดลง”
ขณะที่ เดวิด ฮูม (David Hume) นักปรัชญา ให้เหตุผลว่า “จุดหมายที่ยิ่งใหญ่ในความพากเพียรอุตสาหะทั้งมวลของมนุษย์ คือ การได้รับความสุข จึงมีการคิดค้นงานศิลปะ วิจัยทางวิทยาศาสตร์ กฎหมาย และก่อกำเนิดสังคมขึ้นมา”
จากแนวคิดข้างต้นจะเห็นว่า ความสุขเป็นเป้าหมายปลายทางของทุกๆ การกระทำของมนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เบื้องหลังการกระทำทุกๆ อย่าง คือความสุขนั่นเอง “แล้วความสุขประกอบไปด้วยอะไร?”
คำจำกัดความของความสุข
ชาฮาร์ ให้คำจำกัดความของความสุขว่า “ประสบการณ์ในภาพรวมของ ‘ความพอใจ’ และ ‘ความหมาย’” คนที่มีความสุขจะมีอารมณ์ในแง่บวกและมองว่าชีวิตเปี่ยมไปด้วยความหมาย ไม่ได้เป็นแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่หมายถึงประสบการณ์ในภาพรวม นั่นหมายถึงว่า เราอาจพบกับความเจ็บปวดแล้วยังมีความสุขในภาพรวมได้
‘ความพอใจ’ เกี่ยวกับการสัมผัสถึงอารมณ์ในแง่บวกในปัจจุบัน เป็นประโยชน์ที่จะได้รับในปัจจุบัน ส่วน ‘ความหมาย’ มีที่มาจากการมีจุดหมายในชีวิต โดยมาจากประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคตจากการกระทำของเรา
ความพอใจ
อารมณ์ความรู้สึกมีบทบาทสำคัญในทุกความพยายาม ซึ่งรวมไปถึงความพยายามในการมีความสุขด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนึกถึงชีวิตที่ปราศจากอารมณ์ความรู้สึก แม้แต่แรงขับดันพื้นฐานก็ยังอาศัยอารมณ์ความรู้สึก
‘อารมณ์’ (emotions) ส่งผลให้เกิด ‘ความเคลื่อนไหว’ (motion) ทำให้เกิด ‘แรงกระตุ้น’ (motive) ที่ขับเคลื่อนการกระทำของเรา ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน โดย อันโตนิโอ ดามาซิโอ (Antonio Damasio) นักประสาทวิทยา ได้แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างอารมณ์กับแรงจูงใจ หลังจากที่เขาได้ผ่าตัดเนื้ออกในสมองคนไข้รายหนึ่ง
คนไข้ของเขายังมีความสามารถในการคิดอย่างครบถ้วย ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำ การคำนวณ การรับรู้ หรือทักษะด้านภาษา แต่สมองส่วนหน้าที่มีผลต่ออารมณ์ได้รับความกระทบกระเทือนระหว่างผ่าตัด สภาพจึงไม่ต่างจากหุ่นยนต์ไร้อารมณ์
ชีวิตของคนไข้รายนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ก่อนผ่าตัด เขาเป็นทนายความที่ประสบความสำเร็จและมีชีวิตสมรสที่มีความสุข แต่หลังจากผ่าตัด แม้สมองส่วนที่ใช้เหตุผลจะไม่ได้ถูกทำลาย แต่คนรอบตัวกลับทนพฤติกรรมของเขาไม่ได้ กระทั่งภรรยาทิ้งและตกงาน เมื่อเปลี่ยนงาน ก็ทำได้ระยะสั้นๆ เท่านั้น เขาเฉยชาและเลิกใส่ใจในความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและไม่แยแสเกี่ยวกับหน้าที่การงานของตนเองอีกต่อไป
เมื่อเราไร้อารมณ์ความรู้สึก ซึ่งส่งผลให้ขาดแรงจูงใจในการลงมือทำ ย่อมไม่เหลือความปรารถนาใดอีก เราจะไม่แยแสกรกระทำและความคิดของตัวเอง และไม่สนว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ “เนื่องจากอารมณ์เป็นรากฐานของแรงจูงใจ มันจึงมีบทบาทสำคัญต่อแรงจูงใจของเราที่จะแสวงหาความสุขไปโดยปริยาย”
อย่างไรก็ตาม อารมณ์นั้นยังไม่เพียงพอ ในการจะมีความสุขจำเป็นต้องสัมผัสถึงอารมณ์ในแง่บวก เพราะความพอใจเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของชีวิตที่สมปรารถนา โดย นาธาเนียล แบรนเดน (Nathaniel Branden) นักจิตวิทยา กล่าวว่า “สำหรับมนุษย์ ความพอใจไม่ใช่ความหรูหรา แต่เป็นความจำเป็นด้านจิตใจ” การปราศจากความพอใจและการสัมผัสกับความปวดร้าวทางอารมณ์อย่างต่อเนื่อง จะปิดกั้นโอกาสในชีวิตที่มีความสุข
อย่างไรก็ตาม การมีความสุขไม่ใช่การสัมผัสกับความปีติยินดีอย่างล้นเหลือตลอดเวลา และไม่ใช่การมีอารมณ์ในแง่บวกอย่างไม่ขาด คนเราอาจเจอกับช่วงเวลาที่อารมณ์พุ่งขึ้นสูงสุดและต่ำสุด แต่สุขภาวะโดยรวมยังเป็นบวก จะถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์เชิงบวกมากกว่าเชิงลบ ทำให้ความพอใจเป็นเรื่องหลัก ส่วนความเจ็บปวดนั้นเป็นเรื่องรอง
ฉะนั้น หากอย่างมีความสุข ต้องรู้สึกว่า ไม่ว่าจะเศร้า ทุกข์ทรมาร และยากลำบากอย่างไร เรายังคงต้องสัมผัมได้ถึงความปีติยินดีของการได้มีชีวิตอยู่ต่อไป
ความหมาย
โรเบิร์ต โนซิค (Robert Nozick) นักปรัชญา ได้อธิบายให้สามารถแบกความแตกต่างระหว่างประสบการณ์ของคนเสพยาที่มีฤทธิ์ทำให้เคลิ้บเคลิ้มกับประสบการณ์ของคนที่มีความสุขอย่างแท้จริงได้
จินตนาการถึงเครื่องจักรที่สามารถมอบความสุขหรือความพอใจใดๆ ได้ทั้งหมด โดยเครื่องจักรนี้สามารถทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังตกอยู่ในประสบการณ์นั้นจริงๆ โดยไม่รู้ตัวเลยว่า กำลังมีปลั๊กเชื่อมต่อเรากับเครื่องจักรนี้อยู่
โนซิค ถามว่า ถ้าได้รับโอกาสเช่นนั้น เราจะเลือกเสียบปลั๊กเชื่อมต่อกับเครื่องจักรความสุขนี้ไปตลอดชีวิตหรือไม่ หรืออีกความหมายนัยหนึ่งคือ เราจะมีความสุขหรือไม่ หากเราได้เชื่อมต่อกับเครื่องจักรนี้ไปตลอดชีวิต
ผู้คนส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่ต้องการผูกกับเครื่องจักรดังกล่าวไปตลอดชีวิต เพราะว่า เราได้ใส่ใจกับ “สิ่งอื่นๆ นอกเหนือไปจากความรู้สึกที่เรามีต่อชีวิตของตนเอง” เราไม่อยากได้เพียงความพอใจเท่านั้น แต่ยัง “อยากได้อะไรที่มากกว่านั้น” ด้วย ดังนั้น ความสุขจึงเป็นอะไรที่มากกว่าอารมณ์ในแง่บวก
การยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่สร้างขึ้นโดยเครื่องจักร (หรือสารเสพติด) ไม่ต่างจากการมีชีวิตอยู่โดยหลอกตัวเอง เราต้องการให้ต้นตอของอารมณ์นั้นมี ‘ความหมาย’ ด้วย เราอยากรู้ว่า การกระทำของเราส่งผลกระทบจริงๆ ต่อโลก ไม่ใช่แค่อยากรู้สึกว่ามีผลกระทบเท่านั้น
มนุษย์สามารถพิจารณาถึงต้นสายปลายเหตุของอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ เป็นคุณลักษณะที่ทำให้แตกต่างจากสัตว์ เรามีความสามารถในการไต่ตรองถึงความรู้สึก ความคิด และการกระทำที่เกิดขึ้น รวมถึงการตระหนักถึงสติสัมปชัญญะและประสบการณ์ของตัวเอง
อีกทั้งยังมีความสามารถด้านจิตวิญญาณด้วย เป็น “การสัมผัสได้อย่างแท้จริงถึงความสำคัญของบางสิ่ง” ตามคำจำกัดความของพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซ์ฟอร์ด ซึ่งสัตว์ไม่สามารถใช้ชิวตอย่างมีจิตวิญญาณได้ เพราะกระทำของสัตว์ไม่สามารถเชื่อมโยงกับความหมายใดๆ นอกเหนือไปจากความพอใจหรือความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากการะทำเหล่านั้น
กระนั้น เมื่อกล่าวถึงชีวิตที่มีความหมาย มักนึกถึงการมีจุดมุ่งหมายในชีวิต แต่การค้นหาจุดมุ่งหมายในชีวิต เป็นอะไรที่มากกว่าการกำหนดเป้าหมาย การมีเป้าหมายหรือการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ได้รับประกันว่า เราจะพบกับชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เป้าหมายที่เรากำหนดให้ตัวเองนั้น จะต้องเปี่ยมไปด้วยความหมายจากภายในใจของเราจริงๆ
มนุษย์แต่ละคนค้นพบความหมายจากสิ่งที่แตกต่างกัน บางคนอาจได้ยินเสียงหัวใจตัวเองให้เริ่มก่อตั้งธุรกิจ ให้เรียนแพทย์ ให้มีลูก ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญคือ เราควรเลือกจุดมุ่งหมายของเราตามค่านิยมและแรงปรารถนาของตัวเอง มากกว่าที่จะโอนอ่อนตามความคาดหวังของคนอื่น
สรุป
ความสุขคือ ประสบการณ์ในภาพรวมของ ‘ความพอใจ’ และ ‘ความหมาย’ โดยความพอใจนั้นเป็นภาวะอารมณ์เชิงบวกในชีวิต ส่วนความหมาย เป็นบางสิ่งที่มีผลกระทบต่อโลกจริงๆ ที่คนให้คุณค่า โดยความหมายจะกลายเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตที่เป็นไปตามความปรารถนาของแต่ละคนที่ต่างกัน เช่น ต้องการเป็นหมอเพื่อรักษาผู้คนหรือให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ขณะที่อีกคนอาจต้องการเป็นสถาปนิกเพื่อออกแบบอาคารที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนดีขึ้น เป็นต้น
โดยประสบการณ์ที่มีทั้งความพอใจและความหมาย จะประกอบกันเป็นความสุขในภาพรวม นั่นหมายถึง การจะมีความสุขได้ ต้องทำในสิ่งที่สร้างความพอใจและมีความหมายต่อชีวิตของเรา อย่างไรก็ตาม บางช่วงอาจมีความทุกข์โศกหรือความเจ็บปวดทรมานบ้าง แต่ต้องมีความหวังและยินดีกับชีวตต่อไปก็จะพบความสุขได้ในภาพรวมของชีวิต
ตัวอย่างเช่น หากมีเป้าหมายเป็นหมอเพื่อรักษาคน เป็นสิ่งที่เราให้คุณค่า ก็จะทำอย่างมีความสุขในภาพรวมเพราะได้ทำตามค่านิยมหรือคุณค่าที่ยึดถือ แม้บางช่วงเวลาอาจพบกับความทุกข์หรือความเจ็บปวดบ้าง (เช่น เรียนในวิชาที่ไม่ชอบ เจอเพื่อนร่วมงานที่น่าปวดหัว หรือไม่สามารถรักษาคนไข้บางคนให้หายได้) แต่ในภาพรวมก็ยังสามารถมีความสุขได้จากกระทำตามสิ่งที่ปรารถนา ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สร้างทั้งความพอใจและมีความหมายต่อชีวิตของเรา เป็นต้น
เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล
Source: หนังสือ ‘วิชาความสุข ที่มีสอนแค่ในฮาร์วาร์ด’ (Happier) เขียนโดย Tal Ben-Shahar แปลโดย พรเลิศ อิฐฐ์ สำนักพิมพ์ We Learn