ในความคิดของหลายคน ‘วันปีใหม่’ คงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่รายล้อมไปด้วยความอบอุ่นจากการใช้เวลาอันแสนล้ำค่ากับคนที่รัก รวมถึงเป็นช่วงเวลาสุดพิเศษที่เหมาะกับการมอบของขวัญสักชิ้น เพื่อสร้างความทรงจำดีๆ ระหว่างกัน
การมอบของขวัญมาพร้อมเรื่องราว ‘ฟีลกู๊ด’ และความอิ่มเอมใจเสมอ เพราะภายในกล่องของขวัญไม่ได้มีเพียง ‘สิ่งของ’ ที่คัดสรรมาอย่างดี แต่ยังมี ‘ความสุข’ ที่ผู้ให้ต้องการส่งต่อไปยังผู้รับอยู่ด้วย ดังนั้น ของขวัญจึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงสายสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองฝ่ายในเวลาเดียวกัน
แต่การมอบของขวัญมีเพียงเรื่องราวดีๆ จริงเหรอ?
Future Trends จะพาไปสำรวจเรื่องราวอีกด้านของการมอบของขวัญที่เป็นอันตรายต่อ ‘สภาพการเงิน’ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘Scroogenomics’ แนวคิดของความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการซื้อของขวัญให้ผู้อื่น
‘Scroogenomics’ คืออะไร?
Scroogenomics เป็นแนวคิดของ ‘โจเอล วอลด์โฟเจล’ (Joel Waldfogel) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา (University of Minnesota) ที่ระบุว่า การมอบของขวัญมีโอกาสทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Deadweight Loss) เพราะผู้รับไม่ได้พึงพอใจกับของขวัญที่รับมา แม้จะเป็นสินค้าราคาสูงก็ตาม
โจเอลทำการวิจัยโดยสอบถามนักเรียนของตัวเองจำนวน 86 คน ผลปรากฏว่า หากต้องใช้เงินซื้อของที่รับมาจะยอมจ่ายเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้าเท่านั้น แต่ถ้าแลกเป็นเงินสดได้ จะยอมแลกเป็นเงินมูลค่า 90 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้า ซึ่งมูลค่า 10 – 30 บาทที่เสียไป ถือเป็นเงินที่ผู้ให้ของขวัญสามารถนำไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ได้มากกว่า
แนวคิดของโจเอลย่อมมีคนต่อต้านแน่นอน เพราะการมอบของขวัญไม่ได้มีแค่เรื่องมูลค่าสิ่งของเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจและการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่น รวมถึงการมอบของขวัญยังเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมายาวนาน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนบางกลุ่มจะเปิดใจยอมรับแนวคิดนี้ได้ทันที
แต่ในปี 2022 ที่เศรษฐกิจส่อแววบอบช้ำหนัก ทำให้หลายคนตัดสินใจรัดเข็มขัดตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและตั้งคำถามว่า การมอบของขวัญช่วงเทศกาลเป็นการส่งต่อความสุขให้ผู้อื่น หรือการปฏิบัติตามกระแสนิยมกันแน่?
‘การมอบของขวัญ’ ช่วงเทศกาลยังจำเป็นหรือไม่?
ไม่ว่าการมอบของขวัญจะเป็นการส่งต่อความสุข หรือทำตามกระแสนิยม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการมอบของขวัญเป็นภาระทางการเงินรูปแบบหนึ่งของผู้ให้ เพราะของขวัญแต่ละชิ้นต้องเกิดจากการซื้อสินค้าด้วยจำนวนเงินที่เหมาะสม
ในปี 2021 ชาวอังกฤษใช้จ่ายสำหรับค่าของขวัญโดยเฉลี่ย 550 ปอนด์ (22,500 บาท) จากรายได้โดยเฉลี่ยที่ 38,131 ปอนด์ต่อเดือน ถึงแม้ค่าของขวัญจะเป็นสัดส่วนเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แต่เมื่อพิจารณาด้วย Scroogenomics เท่ากับว่า ผู้ให้ของขวัญกำลังสูญเสียมูลค่าทางการเงินประมาณ 10 – 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
โจเอลมองว่า ของขวัญที่ตอบโจทย์แนวคิดของเขาคือ ‘บัตรของขวัญ’ เพราะเป็นสิ่งที่ให้อิสระกับผู้รับในการเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการ แต่บัตรของขวัญกลับไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติจะนิยมมอบของขวัญเป็นสิ่งของมากกว่า โดยผลสำรวจจาก Ipsos ระบุว่า มีชาวอังกฤษเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ ที่ตั้งใจมอบบัตรของขวัญในช่วงเทศกาล
นอกจากนี้ ของขวัญที่ผู้รับไม่ได้ใช้ยังมีโอกาสแปรเปลี่ยนเป็น ‘ของในกรุ’ มากขึ้น (หากไม่มีระบบการคืนสินค้า) เพราะ ‘แอล เจอร์รี’ (Al Gerrie) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ZigZag แพลตฟอร์มการคืนสินค้าในอังกฤษ เผยว่า ‘อัตราการคืนสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นมาก’ สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้รับได้ของขวัญไม่ตรงกับความต้องการ และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างที่ผู้ให้ตั้งใจ
ถึงแม้การมอบของขวัญจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับคุณค่าทางจิตใจที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้เข้ามาเกี่ยวข้องและขัดกับแนวคิดของ Scroogenomics แต่แนวคิดนี้กลับมีมิติที่เป็นประโยชน์ต่อการมอบของขวัญมากขึ้น โดยเฉพาะการคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนซื้อของขวัญ เพื่อที่ผู้รับจะสามารถนำของชิ้นนั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
Sources: https://bit.ly/3jKVcBk