หลังจาก ‘เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ’ หรือ ‘Bangkok Design Week’ เริ่มต้นจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2018 จนมาถึง ‘Bangkok Design Week 2023’ นี้ก็นับเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่เทศกาลงานออกแบบฯ ได้เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ดึงดูดผู้คนมากมายให้ออกเดินทางทั่วกรุงเทพมหานคร และพลิกฟื้นบรรยากาศของเมืองให้อบอวลไปด้วยเรื่องราวและศิลปะ
โดยใน ‘Bangkok Design Week 2023’ ในปีนี้จะจัดขึ้นตลอด 9 วันใน 9 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้ธีม ‘urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี’ หนุนให้เมืองสามารถโอบรับ ‘มิตรที่ดี’ ได้ในทุกมิติอย่างลงตัว ทั้งสิ่งแวดล้อม การเดินทาง วัฒนธรรม ธุรกิจ ชุมชน และทุกความหลากหลาย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากหน่วยงานผู้จัดและเหล่านักสร้างสรรค์ที่เป็นรากฐานในการจัดงานทุกปีแล้ว ‘SC Asset’ ก็ยังเป็นหนึ่งใน ‘มิตรที่ดี’ ของ ‘Bangkok Design Week’ เรื่อยมา
ชวนสำรวจแนวคิดของ ‘SC Asset’ ผ่าน ‘จูน-โฉมชฎา กุลดิลก’ หัวหน้าสายงานกลยุทธ์แบรนด์และสื่อสารองค์กรของ SC Asset ว่า ทำไมองค์กรถึงให้ความสำคัญกับ ‘เทศกาลงานออกแบบ’ และ ‘ชุมชนย่านสร้างสรรค์’ ใกล้ชิดโครงการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่านวงเวียนใหญ่ ตลาดพลู และคลองสาน ที่ SC Asset โฟกัสในปีนี้ ผ่านคำบอกเล่าของ ‘ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์’ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และนักขับเคลื่อนและพัฒนาเมือง
ออกแบบดี เมืองดี จุดเริ่มต้นชีวิตที่ดี
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘SC Asset’ ให้ความสนใจกับ ‘เทศกาลงานออกแบบ’ เป็นเพราะว่า เมื่อพูดถึง ‘เมือง’ ไปจนถึงการเติบโตของเมือง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่าง‘SC Asset’ ก็เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของย่าน และนำพาผู้คนใหม่ ๆ มาเข้าสู่บ่านนั้น ๆ SC Asset จึงอยากเห็นเมืองกรุงเทพฯ เติบโตภายใต้การออกแบบที่ดี ไม่ใช่การเติบโตอย่างอิสระไร้ขอบเขต เพราะการออกแบบเมืองที่ดีจะตามมาด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสำคัญกับทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมือง
อีกอย่าง ‘SC Asset’ ยังเชื่อว่า เทศกาลงานออกแบบมีส่วนในการสนับสนุน ‘คนทำงาน’ ในสายอาชีพการออกแบบจำนวนมากให้ได้ทำงานในระดับประเทศ ทำให้วิชาชีพได้รับการสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอด เพิ่มจำนวนบุคลากรทางด้านการออกแบบที่มีศักยภาพให้กับประเทศด้วย
‘SC Asset’ จึงอยากให้งานอย่าง ‘Bangkok Design Week 2023’ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
หน้าใหม่ในย่านนี้ ขอเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่ง
หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจที่ ‘จูน-โฉมชฎา กุลดิลก’ หัวหน้าสายงานกลยุทธ์แบรนด์และสื่อสารองค์กรของ SC Asset บอกเล่าให้เราฟัง คือ SC Asset ในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองก็คำนึงถึงการขยับขยายเข้าไปในพื้นที่ใหม่ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบเชิงบวกและลบกับ ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ ในชุมชนและสังคมด้วย
อย่างในย่าน ‘วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู-คลองสาน’ ต้องบอกว่า ‘SC Asset’ คือ หน้าใหม่ที่พึ่งขยับเข้ามาสู่ย่านนี้ผ่านคอนโด Reference Sathorn-Wongwianyai ที่ได้นำแรงบันดาลใจจากย่านมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบคอนโดให้เป็นคอนโดที่มีกิจกรรมตลอด 24 ชั่วโมงคึกคักเหมือนกับย่าน
โดยในอนาคตอันใกล้คอนโด Reference Sathorn-Wongwianyai จะต้องนำผู้คนหลายร้อยคนเข้ามาอาศัยอยู่ในย่านนี้ จึงอยากอาศัยพื้นที่เทศกาลงานออกแบบในการเรียนรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และแนวทางในการปรับตัวเข้าหาชุมชน ไม่ให้แปลกแยกและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่กันได้
โจทย์รักษาย่านเก่าแก่ ‘หลอมรวม’ ไม่ใช่ ‘แทนที่’
หากย้อนมาพูดถึงเรื่อง ‘ย่าน’ อย่าง ‘วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู-คลองสาน’ นักขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอย่าง ‘ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์’ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายว่า
แต่ละพื้นที่ล้วนมี ‘วิถีชีวิต’ ที่เป็น ‘สินทรัพย์’ เดิมของตัวเองอยู่ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน และเมืองเปลี่ยน ทำให้คนรุ่นใหม่และคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่ทีหลัง ไม่ได้สัมผัสประสบการณ์และเรื่องราวในอดีต ไม่รู้ว่าย่านก่อร่างสร้างขึ้นมาอย่างไร มีความเข้มข้นทางวัฒนธรรมมากน้อยแค่ไหน หรือเจอกับการเปลี่ยนผ่านอย่างไรในแต่ละยุค
เพื่อสร้างความเข้าใจและความเป็น ‘มิตร’ ระหว่างคนที่มาอยู่ใหม่กับคนที่อยู่มาก่อน ‘เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ’ จึงนำเอางานออกแบบมาสร้างเนื้อหา บอกเล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้น ที่มา ประวัติศาตร์ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการชำเลืองมองระหว่างคนเก่าและคนใหม่ สร้างความถ้อยทีถ้อยอาศัยผ่านงานออกแบบ
เพราะโจทย์ของ ‘เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ’ คือ จะหลอมรวมผู้คนอย่างไร ไม่ใช่จะแทนที่ของเก่าด้วยของใหม่ได้ยังไงบ้าง สอดคล้องกับแนวคิดของ ‘SC Asset’ ที่เข้ามาในย่านวงเวียนใหญ่-ตลาดพลูในฐานะ ‘หน้าใหม่’ และต้องการจะหลอมรวมเข้ากับชุมชนท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่
ถลกหนังวงเวียนใหญ่ อภินิหารตลาดพลู เชื่อมต่อย่านผ่าน SC Asset
ใน ‘Bangkok Design Week 2023’ นี้ ย่านวงเวียนใหญ่จะจัดงานภายใต้ธีม ‘ถลกหนังวงเวียนใหญ่’ บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตย่านเจริญรัตน์ ในวงเวียนใหญ่ ถิ่นเครื่องหนังที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และย่านตลาดพลูจะจัดงานภายใต้ธีม ‘อภินิหารตลาดพลู’ สะท้อนศิลปินการแสดงและความเชื่อที่น่าอัศจรรย์จากโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่แข็งแรง โดยทั้งสองย่านจะมีกิจกรรมกว่า 30 กิจกรรมในช่วงเวลา 9 วัน แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักๆ
ด้านแรก สื่อสารย่าน บอกเล่าเรื่องราวในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ให้คนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปสู่อดีตที่เคยรุ่งเรืองผ่านแกลอรี่รวมภาพเก่าในร้านกาแฟสมัยใหม่ๆ ไปจนถึงโอบรับคนรุ่นใหม่เข้าสู่พื้นที่เก่าอย่างศาลเจ้า
ด้านสอง ทดลองอนาคตของย่าน อย่างเช่นในอดีตย่านเจริญรัตน์ทำหน้าที่เป็นแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบและรับผลิตเป็น OEM ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจนำผลิตภัณฑ์เครื่องหนังไปติดแบรนด์ แต่ในตอนนี้ผู้ประกอบการหลายๆ คนในย่าน เริ่มให้ความสนใจกับการเป็น ‘DIY Hub’ หรือศูนย์กลางงานทำมือ สร้างโอกาสในการถ่ายทอดความรู้ สร้างโปรดักส์ผ่านการเวิร์คชอป หรืออย่างตลาดพลูก็จะมี Art Installation รอบพื้นที่ตลาดเดิม เพื่อบอกขอบเขตของย่านที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
ด้านสาม สร้างบรรยากาศเป็นมิตรให้ย่าน ผ่านการจัดกิจกรรมชวนผู้คนให้ออกมาท่องเที่ยว กิจกรรมดนตรีสด ฉายหนัง ไปจนถึงเปิดพื้นที่เล่นว่าวหรือพื้นที่ DIY เครื่องหนัง
โดย SC Asset ทำหน้าที่สนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างย่านผ่านการใช้พื้นที่คอนโด Reference Sathorn-Wongwianyai เป็นจุดจอดรถซึบารุ (รถกะป๊อ) รับ-ส่งผู้คน ที่อยากจะมาร่วมงาน ‘Bangkok Design Week 2023’ ในย่านวงเวียนใหญ่-ตลาดพลู-คลองสาน
ความหมายของ ‘มิตรที่ดี’ เมืองที่มีทางออกให้ทุกคน
‘ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ’ เชื่อว่าความหมายของ ธีม ‘urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี’ เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่ว่า การออกแบบควรจะสร้าง ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (empathy) ระหว่างผู้คน การออกแบบไม่ควรจะเป็น ‘ซีโร่ซัมเกม’ ที่ต้องมีคนได้และต้องมีคนเสีย เพราะการออกแบบควรแก้ปัญหาและสร้างทางออกให้กับคนทุกกลุ่ม ดังนั้น เมือง-มิตร-ดี จึงเป็นเมกะเทรนด์ระดับโลก และ ‘Bangkok Design Week 2023’ เปิดทางให้ทุกคนเข้ามาตอบคำถามว่า เราจะดึงทุกคนเข้ามาเป็น ‘มิตรที่ดี’ ของเมืองได้อย่างไร
ขณะที่ SC Asset อยากให้ความสำคัญกับการออกแบบโดยใช้คนเป็นจุดศูนย์กลาง ไปจนถึงการพัฒนาฝีมือและวิชาชีพงานออกแบบในระดับประเทศ ด้วยความคาดหวังว่าประเทศไทยจะเติบโตไปข้างหน้า ภายใต้งานออกแบบที่ดี ตามความเชื่อด้านการออกแบบที่ดีเพื่ออนาคตของ SC Asset ตามสโลแกนที่ว่า “For Good Mornings ชีวิตที่ดี มาจากจุดเริ่มต้นที่ดี”
“เวลาเรามีมิตรที่ดี มีเพื่อนที่ดี เราจะไม่ทำเรื่องร้าย ๆ ใส่กัน เราจะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่กัน ในแง่ธุรกิจเรามองเป็นระบบห่วงโซ่คุณค่า เรามองว่าเราสร้างผลกระทบให้กับใคร ตั้งแต่วงในสุดจนถึงวงนอกสุด ถ้าเราเป็นมิตรกัน เราจะเดินหน้าไปแบบไม่ทำร้ายกัน” จูน โฉมชฎากล่าว