ว่ากันว่า ‘สังคมการทำงาน’ คือสังคมจำลองความหลากหลายในชีวิตจริง เพราะเป็นที่รวบรวมคนทุกเพศทุกวัยมาไว้ในที่เดียวกันได้มากที่สุด ไม่ว่าไดเรกเตอร์มากประสบการณ์ที่มีชั่วโมงบินการทำงานมากกว่า 10 ปี, เมเนเจอร์ไฟแรงที่พร้อมปฏิวัติการทำงานแบบเก่า และวัยรุ่น Gen-Z ที่ทยอยเดบิวต์เข้าสู่โลกการทำงาน
ถึงแม้ความหลากหลายในองค์กร และการมีคนทำงานทุกเพศทุกวัย จะเป็นประโยชน์ต่อการเติมเต็มแนวคิดของกันละกัน แต่ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) กลับเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้การสื่อสารในที่ทำงานสะดุด โดยเฉพาะผู้ใหญ่ Gen-X กับวัยรุ่น Gen-Z ที่อายุห่างกันเกือบ 20 ปี
เมื่อการสื่อสารระหว่างคนรุ่นเก่ากับเด็กรุ่นใหม่ ไม่สามารถทำให้คนทำงานไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันได้ เมเนเจอร์วัยมิลเลนเนียลที่พ้นจากการเป็น ‘Newbie’ มาแล้วหลายปี จึงต้องรับ ‘แจ็กพ็อต’ ลูกใหญ่ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางการสื่อสารที่ต้องรับคำสั่งจากผู้บริหารรุ่นใหญ่มาส่งต่อให้กับพนักงานวัยรุ่นไฟแรง
แน่นอนว่า การเป็นตัวกลางการสื่อสารภายในองค์กร คือหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่ต้องแบกรับความคาดหวังจากคนทั้งสองวัย โดยผู้บริหารคาดหวังให้พนักงานทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ ส่วนคนทำงานรุ่นใหม่คาดหวังให้ทุกคนฟังความเห็นของตัวเอง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กร ทำให้เมเนเจอร์ต้องรับความกดดันไม่ต่างกับ ‘ไส้แซนด์วิช’ ที่ถูกบีบอัดด้วยขนมปังทั้งสองด้าน
การที่เมเนเจอร์มีสถานะเสมือน ‘แซนด์วิช’ ชวนให้นึกถึงคำว่า ‘Sandwich Generation’ หรือกลุ่มคนที่ต้องแบกรับภาระในฐานะ ‘ลูกกตัญญู’ และ ‘ผู้ปกครองแสนดี’ ไปพร้อมๆ กัน จนไม่มีเวลาทำตามความฝันหรือความต้องการของตัวเอง โดยเฉพาะ ‘ผู้หญิง’ ที่ถูกตีกรอบด้วยบริบททางสังคมและความคาดหวังว่า ต้องเป็นภรรยาและแม่ที่ดี แม้จะออกไปทำงานนอกบ้านด้วยก็ตาม
ลำพังการเป็น Sandwich Generation หรือ ‘เสาหลัก’ ของครอบครัวที่ต้องแบกรับภาระต่างๆ ในบ้านก็ลำบากอยู่แล้ว แต่บางคนกลับโชคร้ายที่ต้องเป็น ‘แซนด์วิช’ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน
เคที ชล็อตต์ (Katie Schlott) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรม คือคนที่ใช้ชีวิตเป็น Sandwich Generation ตั้งแต่อายุ 36 ปี เพราะแม่ของเธอป่วยเป็นโรคเส้นประสาทอักเสบที่ต้องรับการดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงเธอต้องดูแลลูกสาวของตัวเองอีก 2 คน ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระอีกต่อไป
นอกจากนี้ ตำแหน่ง ‘หัวหน้า’ ของเคทียังทำให้เธอเป็น ‘แซนด์วิช’ ในบทบาทของมนุษย์เงินเดือนมากความสามารถอีกด้วย เพราะต้องประสานงานกับหลายฝ่ายและรับฟังความเห็นที่แตกต่างของคนหลายช่วงวัยเสมอ
ถึงแม้การเป็น Sandwich Generation ในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน จะเป็นสิ่งที่ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ และเกิดจากปัจจัยทางสังคมบีบบังคับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้ชีวิตเป็น ‘แซนด์วิช’ ส่งผลกระทบกับการทำงานอยู่ไม่น้อย โดยผลสำรวจในปี 2021 ของสถาบัน Rosalyn Carter Institute for Caregivers ระบุว่า พนักงาน 68 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องดูแลคนในครอบครัว ไม่สามารถรับผิดชอบงานของตัวเองได้เท่าเดิม
อรัม ลุลลา (Aram Lulla) ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR) และคอลัมนิสต์ของ Forbes ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ปัญหา Sandwich Generation ในมุมองค์กร ดังนี้
1. ‘การรับฟัง’ เป็นสิ่งสำคัญ
การแก้ปัญหาทุกรูปแบบต้องเริ่มจากการรับฟังเสมอ องค์กรอาจพิจารณาทำแบบสำรวจที่ไม่ระบุตัวตน เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความเห็นและฟีดแบ็กการทำงาน โดยเฉพาะปัญหาด้านการสื่อสาร เพื่อเป็นก้าวแรกของการพัฒนาวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และลดความกดดันของเมเนเจอร์ที่ต้องเป็น ‘แซนด์วิช’ รับฟังความต้องการของคนสองวัย
2. สร้าง ‘ความยืดหยุ่น’ ในการทำงาน
การที่หลายองค์กรปรับเวลาทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น (Flexible Working Hours) ไม่ได้มีผลแค่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น แต่ยังเป็น ‘จิตวิทยา’ มัดใจคนทำงาน เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึง ‘Empathy’ ขององค์กร และการรับรู้ภาระในชีวิตส่วนตัวของพนักงานแต่ละคนที่แตกต่างกัน
ถึงแม้การเป็น Sandwich Generation จะเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมการทำงานมานาน แต่ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ เมื่อค่อยๆ แก้ปมปัญหาทีละจุดจนทุกอย่างคลี่คลาย สถานะของเมเนเจอร์ที่เคยเป็น ‘ไส้แซนด์วิช’ ที่ถูกบีบอัดจนเละ ก็จะกลายเป็น ‘ไส้แซนด์วิช’ ที่ประสานความอร่อยของขนมปังทั้งสองแผ่นได้อย่างสมบูรณ์
Sources: http://bit.ly/40ekwzE