อาบน้ำร้อนมาก่อนอาจไม่เวิร์กเสมอไป! ลอง ‘Reverse Mentorship’ พี่เลี้ยงกลับด้าน

Share

“ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน ผู้ที่เกิดก่อนมักจะมองเห็นโลก มีประสบการณ์มากกว่าผู้ที่เกิดทีหลัง”

ตั้งแต่เล็กจนโต เรามักจะได้ยินสำนวนนี้อยู่บ่อยๆ แต่หากลองสังเกตก็จะพบว่า หลายๆ ครั้ง สิ่งรอบตัวเราก็มีการผลิตซ้ำความคิด ความเชื่อดังกล่าวเป็นประจำด้วย ยกตัวอย่างเช่น ระบบการทำงานในออฟฟิศหลายๆ แห่งที่มักจะเป็นแบบ Mentor พี่ใหญ่อาวุโสมีหน้าที่คอยสอน แนะนำ สนับสนุนน้องเล็กที่อายุน้อย อ่อนประสบการณ์ เป็นต้น

ทว่า แนวคิดนี้ก็อาจจะไม่เวิร์กกับทุกเรื่องเสมอไป เพราะไม่ว่าคนคนนั้นจะอายุเท่าไร ประสบการณ์มาก-น้อยแค่ไหน ก็ไม่ได้แปลว่า จะเก่งกาจไปหมดทุกเรื่อง แถมจริงๆ แล้ว ทุกคนก็สามารถเป็นครูของกันและกัน หรือพี่เลี้ยงที่ทำให้อีกฝ่ายเติบโตไปพร้อมๆ กันได้ด้วย

น้องอายุน้อยจะทำให้พี่ใหญ่เติบโตได้จริงไหม? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปผ่านแนวคิด ‘Reverse Mentorship’ พี่เลี้ยงแบบกลับด้านกัน

แนวคิด Reverse Mentorship คืออะไร?

Image by pch.vector on Freepik

Reverse Mentorship คือแนวคิดระบบการทำงานแบบย้อนกลับหรือการเป็นพี่เลี้ยงกลับด้านผ่านการเปิดโอกาสให้น้องเล็กหรือพนักงานระดับล่างทำหน้าที่สอน แนะนำเรื่องต่างๆ ให้กับพี่ใหญ่ หัวหน้าหรือพนักงานระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นติ๊กต็อก (TikTok) วิธีการรับมือกับความต้องการของลูกค้า ความเท่าเทียม หรือแม้กระทั่งประเด็นทางสังคม

จิม เบอร์รี (Jim Berry) ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) อธิบายว่า “หนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับนายจ้างคือ ความเข้าใจของคนต่างรุ่นที่มีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกันตามบริบทสังคมที่เติบโตมา การพูดคุยจะช่วยทลายกำแพงบางอย่างลง Reverse Mentorship ควรเป็นแบบถนน 2 ทาง ที่ต่างฝ่ายต่างเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน”

แนวคิด Reverse Mentorship เวิร์กหรือไม่ บริษัทไหนเคยเอาไปใช้แล้วบ้าง?

Image by jcomp on Freepik

อันที่จริง Reverse Mentorship ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่แท้จริงแล้ว เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1990 ต่างหาก โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็มีคนเคยนำไปใช้หลายครั้งแล้วด้วย อย่างเช่น ในปี 1999 แจ็ค เวลซ์ (Jack Welch) ก็เคยเอาไปใช้กับบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) ในการสอนให้พนักงานระดับสูงเข้าใจในเทคโนโลยี และโลกอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น

รวมไปถึง พีดับบลิวซี (PwC) บริษัทให้คำปรึกษาชั้นนำ และลิงก์เลเตอร์ (Linklaters) บริษัทกฎหมายก็ยังใช้ Reverse Mentorship ในการเพิ่มความหลากหลาย การไม่แบ่งแยกของคนต่างอายุ ต่างเจนเนอเรชันในออฟฟิศด้วย

Reverse Mentorship มีประโยชน์อย่างไร?

นอกเหนือจากการเพิ่มความหลากหลาย และความเข้าใจกันแล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่ง แนวคิดพี่เลี้ยงกลับด้านลักษณะนี้ก็ยังเป็นวิธีที่จะช่วยรักษาลูกน้องคนเก่งให้อยู่ด้วยกันไปนานๆ ไม่แพ้ Stay Interview ได้ด้วย เพราะยิ่งพวกเขาเห็นว่าพนักงานระดับสูงไม่ Ego มากเท่าไร ก็จะยิ่งรู้สึกผูกพันมากขึ้นเท่านั้น

ทุกคนเป็นครูได้หมด หัวหน้าไม่ได้ทำให้ลูกน้องเติบโตฝ่ายเดียว แต่ลูกน้องก็ทำให้หัวหน้าเติบโตได้เช่นกัน

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับแนวคิดนี้ เคยใช้ Reverse Mentorship ในทีมไหม ตอนนี้ใช้วิธีไหนอยู่? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bbc.in/3EwCAvy

https://bit.ly/3Xo55UC