“ตอนนี้ทำงานอะไร?”
“ได้เงินเดือนเท่าไร?”
“ใกล้แต่งงานหรือยัง?”
สารพันคำถาม ‘กลืนไม่เข้า คายไม่ออก’ ที่หลายคนต้องเจอในวันรวมญาติหรือเทศกาลต่างๆ บางคนโดนยิงคำถามเหล่านี้รัวเป็นปืนกล ไม่ว่าจะญาติฝั่งแม่หรือญาติฝั่งพ่อ ต้องต่อคิวเดินมาถามชีวิตความเป็นอยู่ของคนรุ่นหลานเสมอ
ในความคิดของญาติๆ ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย อาจเป็นเพียงการถาม ‘สารทุกข์สุขดิบ’ ทั่วไปของหลานๆ ที่เห็นมาตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆ ใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียน จนมาถึงวันที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ใส่สูทผูกไท หอบหิ้วเอกสารกองโตเข้าออฟฟิศไปทำงาน
แต่สำหรับคนรุ่นหลาน กลับเป็นคำถามที่รุกล้ำ ‘ความเป็นส่วนตัว’ (Privacy) เพราะคำถามเกี่ยวกับหน้าที่การงานและเงินเดือน ถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อน เมื่อญาติๆ ได้รับคำตอบตามต้องการ ก็หนีไม่พ้นการเอาไปเปรียบเทียบกับลูกของตัวเอง จนเกิดการประชัน ‘performance’ ในหมู่ลูกพี่ลูกน้องที่ไม่แข่งกันด้วยเรื่องเรียน ก็ต้องแข่งกันด้วยสถานะทางสังคมอยู่ดี
จริงๆ แล้ว คำถามวันรวมญาติ คือหนึ่งในภาพสะท้อนปัญหา ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ (Generation Gap) ที่เกิดจากความเห็นต่างของคนแต่ละรุ่น ญาติผู้ใหญ่อาจมองว่า คำถามเหล่านี้เป็นการเริ่มต้นบทสนทนาที่ดี แต่คนรุ่นหลานกลับมองว่า มีคำถามอีกมากมายที่ญาติผู้ใหญ่สามารถนำมาถามตัวเองได้โดยไม่แตะต้องเรื่องส่วนตัว
แน่นอนว่า การเปลี่ยนความคิดของญาติผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และคนทำงานวัยมิลเลนเนียลกับ Gen Z คงต้องตอบคำถามวันรวมญาติในเทศกาลต่างๆ ไปอีกนานแสนนาน…
ถ้าเลี่ยงตอบคำถามจากญาติๆ ไม่ได้ จะมี ‘สูตรโกง’ ในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์น่ากระอักกระอ่วนใจเช่นนี้อย่างไร? Future Trends จะพาไปทำความรู้จักกับ ‘Elevator Pitch’ ศาสตร์แห่งการ ‘พิช’ งานให้มัดใจคนฟังภายใน 1-2 นาที เพื่อนำมาปรับใช้กับการตอบคำถามจากญาติๆ แบบ ‘Knock Out’
(ในเมื่อเลี่ยงสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็นโอกาสในการแสดงความสามารถของตัวเองไปเลย!)
ทำความเข้าใจศาสตร์แห่ง ‘Elevator Pitch’ และวิธีนำไปใช้ในการตอบคำถามวันรวมญาติ (แบบสับ)
“คำพูดสั้นๆ และมีพลังที่เปลี่ยนใจใครบางคนได้ในเวลา 1 นาทีที่เจอกันในลิฟต์” – คิมยงซาน
วลีเด็ดจากซีรีส์เรื่อง ‘Start-Up’ ที่บอกเล่านิยามของ ‘Elevator Pitch’ หรือการสรุปทุกสิ่งที่ต้องการพูดให้เป็น ‘หมัดฮุก’ มัดใจคนฟังในเวลาที่สั้นมาก (เทียบเท่าหรือน้อยกว่าเวลาที่ใช้การขึ้นลิฟต์ 1 ครั้ง) ถือเป็นศาสตร์การพิชยอดนิยมในวงการสตาร์ตอัป มีธุรกิจมากมายที่โน้มน้าวใจนักลงทุนและพาร์ตเนอร์ด้วย Elevator Pitch จนสามารถ ‘สเกลอัป’ เป็นบริษัทเทคฯ ชื่อดังมาจนถึงปัจจุบัน เช่น Airbnb และ Slack เป็นต้น
โดยทั่วไป โครงสร้างของ Elevator Pitch จะมีทั้งหมด 4 ส่วน (เทคนิคของแต่ละคนจะแตกต่างกันตามประเด็นที่ต้องการสื่อสาร วิธีการเล่าเรื่อง และการเพิ่มลูกเล่นให้เป็นสไตล์ของตัวเอง) ได้แก่
1. เริ่มด้วยการแนะนำตัว
ไม่ว่าจะเป็นการพูดในที่สาธารณะรูปแบบใด การแนะนำตัวเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะเป็นมารยาทที่ดีแล้ว ยังช่วยให้คนฟังเข้าใจภูมิหลังของคุณ และรับรู้สิ่งที่สื่อสารต้องการมากขึ้น แต่การตอบคำถามวันรวมญาติอาจจะข้ามส่วนนี้ไปได้ เพราะคุณกับญาติรู้จักกันดีอยู่แล้ว
2. สรุปข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ทำ
หลายคนที่เคยผ่านประสบการณ์การตอบคำถามวันรวมญาติ จะพบว่า ผู้ใหญ่บางคนไม่เข้าใจอาชีพของคนรุ่นใหม่ที่มีมากกว่าแพทย์ พยาบาล คุณครู ตำรวจ และชื่ออื่นๆ ที่คุ้นหู ดังนั้น คุณต้องสรุปอาชีพของตัวเองให้เข้าใจง่ายที่สุด และอธิบายเป็นภาษาไทย แม้จะเป็นชื่ออาชีพภาษาอังกฤษก็ตาม เพื่อไม่ให้บทสนทนายืดยาวเกินความจำเป็น
3. อธิบายในสิ่งที่ตัวเองทำได้
เมื่อญาติผู้ใหญ่ถามเรื่องหน้าที่การงาน คำถามต่อมาต้องเกี่ยวกับ ‘เงินเดือน’ แน่นอน หากไม่อยากตอบตัวเลขเงินเดือนให้ญาติๆ รู้ คุณต้องอ่านบรรยากาศของการสนทนา และหาจังหวะในการพูดถึงความสำเร็จของการทำงาน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและทำให้คู่สนทนาหันไปโฟกัสที่ประเด็นอื่นแทน
4. จบการสนทนาด้วยคำพูดที่ตราตรึงใจ
ช่วงท้ายของการสนทนากับญาติผู้ใหญ่ คุณสามารถจบการสนทนาให้น่าประทับใจด้วยการพูดเชิงตั้งเป้าหมาย หรือการชวนคุยในประเด็นอื่น เพื่อให้ญาติๆ เข้าใจว่า การสนทนากับลูกหลานไม่จำเป็นต้องคุยเรื่องหน้าที่การงานอย่างเดียว เช่น “ปีหน้าจะมาเล่าเรื่องสนุกๆ ให้ฟังอีก” หรือ “ฝุ่นที่เชียงใหม่เป็นไงบ้าง อย่าลืมรักษาสุขภาพด้วยนะ” เป็นต้น
ถ้าคุณรู้ว่า ตัวเองต้องเผชิญหน้ากับการตอบคำถามวันรวมญาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้มาถึงนี้ สามารถนำเทคนิค Elevator Pitch มาใช้ออกแบบคำตอบ (สับๆ) ล่วงหน้าได้ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์จริงและตอบคำถามได้อย่างมั่นใจ
Sources: http://bit.ly/3o5rZTM