ในช่วงที่ผ่านมานี้เราจะเห็นได้ว่าราคาข้าวของเครื่องใช้ และอาหารปรับสูงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังช่วงการแพร่ระบาดเริ่มผ่อนคลายลง ทำให้ความต้องการใช้พลังงานดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเหตุการณ์ที่ทำให้วิกฤตพลังงานโลกยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น นั่นคือสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพราะรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ ทำให้ในช่วงแรกๆ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดีดตัวขึ้นมากว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเลยทีเดียว
ในวันนี้ Future Trends ได้สรุปกรณีศึกษาผลกระทบจากไลฟ์ ‘การเสวนาถอดบทเรียนวิกฤติพลังงานโลก’ โดยกระทรวงพลังงาน ซึ่งประกอบไปด้วยกรณีศึกษาจาก 6 ประเทศ ได้แก่ เยอรมัน สวีเดน สิงค์โปร์ กัมพูชา ญี่ปุ่น และศรีลังกา มาดูกันว่าในแต่ละประเทศเหล่านี้เขากำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในรูปแบบใดบ้าง และผู้คนในประเทศเขามีการปรับตัวอย่างไร รวมไปถึงทางภาครัฐมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานของคนไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ประเทศฝั่งยุโรป
ในฝั่งนี้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงานมากเป็นพิเศษ เพราะบ้านเขามีฤดูหนาวที่เย็นจัด ทำให้ต้องพึ่งพาแก๊สในการทำความร้อน แต่เมื่อรัสเซียเตรียมปิดท่อส่งแก๊ส ทำให้แก๊สขาดแคลนจนมีราคาสูงขึ้น หลายประเทศในยุโรป รวมถึง เยอรมนี และสวีเดนต่างเป็นกังวลว่าในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้ จะมีแก๊สเพียงพอต่อการทำความร้อนหรือไม่ โดยภาครัฐบาลได้ออกมาช่วยตรึงราคาค่าไฟไว้ และยังออกมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้นเพื่อลดการใช้พลังงาน
ประเทศฝั่งเอเชีย
สำหรับประเทศนี้ หลายประเทศไม่จำเป็นต้องใช้แก๊สในการทำความร้อนเหมือนฝั่งยุโรป แต่ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น อย่างเช่น ญี่ปุ่น และกัมพูชา ที่ยังใช้การนำเข้าพลังงานจากต่างชาติเป็นหลัก ทำให้ได้รับผลกระทบจากสภาวะพลังงานปรับราคาขึ้นไปเต็มๆ
โดยรัฐบาลในหลายประเทศได้พยายามตรึงราคาค่าไฟ และราคาน้ำมันไว้ เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน จะเห็นได้ว่าทั่วทั้งโลกได้ประสบกับวิกฤตพลังงานเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ผู้คนต่างต้องปรับตัว และพฤติกรรมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อประหยัดพลังงานให้พอใช้ในระยะยาว และที่สำคัญยังประหยัดเงินในกระเป๋าด้วย
สรุป 4 แนวคิดรับมือ ‘วิกฤตพลังงานโลก’
จากกรณีศึกษาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในต่างแดน ทำให้เราสามารถสรุปแนวคิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ ได้เป็น 4 ข้อ ดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานของตนเอง
เช่น การจัดตารางการเปิดเครื่องปรับอากาศใหม่ หรือเปลี่ยนไปใช้ขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ช่วยประหยัดพลังงาน และเงินในกระเป๋าไปพร้อมกัน
2. วางแผนการใช้พลังงานมากขึ้น เพื่อการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า
ควรจะเริ่มทำแต่เนิ่นๆ เพราะชีวิตของเรามีเรื่องพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้องในแทบจะทุกส่วน การวางแผนรับมือไว้ตั้งแต่แรกจะทำให้สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
3. ใช้พลังงานทดแทน
เป็นเรื่องที่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญอยู่ เพราะนอกจากเราจะได้ช่องทางการผลิตพลังงานใหม่ๆ แล้ว การใช้พลังงานสะอาดก็เป็นผลดีต่อโลกในระยะยาวด้วย
4. ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ
เป็นหนึ่งในอีกข้อที่สำคัญมาก เพราะการติดตามสถานการณ์ข่าวสารอยู่ตลอด จะทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า ต้องวางแผนอย่างไร และต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร ให้สามารถรับมือกับปัญหาที่กำลังจะเกิดในอนาคตได้
ชวนคนไทยลดใช้พลังงาน ไปกับหลัก ‘4ป 3ช’
สำหรับในไทยบ้านเราเองก็กำลังพบเจอกับวิกฤตพลังงานเช่นกัน โดยล่าสุดก็ได้ชวนคนไทยหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ง่ายๆ ด้วยหลัก ‘4ป 3ช’ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกัน
มาเริ่มกันที่หลัก ‘4 ป’ จะเน้นไปที่การประหยัดไฟฟ้าที่ทำได้ง่ายๆ ในบ้านของเราเอง ได้แก่
ปิด – หลอดไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้
ปรับ – อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่กำลังพอเหมาะ
ปลด – ปลั๊กไฟที่ไม่ได้ใช้ออก เพราะบางครั้งแม้เราจะปิดสวิตช์แล้ว แต่ไฟฟ้ายังคงไหลเวียนอยู่
เปลี่ยน – มาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เพราะได้รับการรับรองมาตรฐานจาก กฟผ.
ต่อกันด้วยหลัก ‘3 ช’ ที่จะช่วยให้เราประหยัดค่าน้ำมันรถยนต์ได้ง่ายๆ ได้แก่
เช็ก – สภาพรถยนต์ และซ่อมบำรุงอยู่เสมอ เพราะรถยนต์ที่ไม่เคยซ่อมบำรุงเลย จะเปลืองน้ำมันมากกว่า
ชัวร์ – เส้นทาง ด้วยการวางแผนก่อนออกจากบ้าน เพื่อให้เราไปถึงที่หมายได้ไวขึ้น และประหยัดน้ำมันมากขึ้น
ใช้ – ขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นหนึ่งในวิธีที่ประหยัดน้ำมันได้ดีทั้งกับตัวเรา และประเทศด้วย
โดยเราสามารถทำความเข้าใจหลัก 4ป 3ช ผ่านคลิปวิดีโอ ‘ทราบแล้วเปลี่ยน’ จาก PTT ที่ตั้งใจทำออกมาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจวิธีงานประหยัดพลังงานโดยการเริ่มที่ตัวเองได้ก่อน
เพราะโลกของเราไม่อาจเดินหน้าต่อได้หากขาดพลังงาน ในวิกฤตพลังงานโลกครั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่าผู้คนในแต่ละประเทศก็ได้มีวิธีการรับมือที่แตกต่างกันออกไป แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดเงินในกระเป๋ามากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ดีก็จะตกมาที่ตัวเราเอง และยังเป็นการช่วยโลกของเราทางอ้อมอีกด้วย
Source: ไลฟ์ ‘การเสวนาถอดบทเรียนวิกฤติพลังงานโลก’ โดยกระทรวงพลังงาน: https://fb.watch/f5o_JqcTWy/