การสื่อสารเป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจของมนุษย์ พวกเราใช้ภาษา และตัวอักษรเป็นตัวกลาง ส่วนของสัตว์พวกมันก็มีวิธีการที่แตกต่างกันในการสื่อสาร แต่ในความเป็นจริงมนุษย์อย่างเรา และสัตว์ทั้งหลาย ไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ ถึงแม้จะพยายามมานานแล้วก็ตาม
ในอดีตเคยมีนักวิทยาศาสตร์ทดลองการสื่อสารกับสัตว์ประเภทลิง ผลของการทดลองทำให้ได้รับรู้ว่าพวกสัตว์จะจดจำท่าทางของเรา และทำตามคำสั่งอย่างที่ถูกสอน แต่ไม่มีเครื่องยืนยันที่แสดงให้เห็นว่าลิงเข้าใจที่เราจะสื่อสารกับมันจริงๆ นอกจากลิง มนุษย์เรายังเคยศึกษาการสื่อสารกับโลมา สุนัข แมว เป็นต้น
แต่คำตอบก็เหมือนกันคือ “พวกมันทำตามที่ถูกฝึก ไม่ได้มีความเข้าใจแม้แต่นิด” ผลของการทดลองอาจจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า มนุษย์ไม่สามารถสื่อสารกับสัตว์ได้ แต่!
ถ้ามนุษย์ไม่ใช่คนที่สื่อสาร แต่เป็นปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence) ที่สื่อสารล่ะ ผลลัพท์จะยังออกมาในรูปแบบเดิมหรือไม่ วันนี้ Future Trends จะนำพาไปรู้จักกับ ‘Project CETI’ โครงการที่นำปัญญาประดิษฐ์ไปศึกษาวิธีการสื่อสารของวาฬหัวทุย (Sperm Whale)
[ ‘Project CETI’ What would it mean to? ]
“พวกเราไม่หวังผลกำไร เราเพียงแค่ริเริ่มทางวิทยาศาสตร์ และการอนุรักษ์แบบสหวิทยาการ”
CETI เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ต้องการใช้ความรู้ทางเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และหุ่นยนต์ขั้นสูง ล้ำสมัย เพื่อการฟังเสียงของวาฬหัวทุย และแปลออกมาเป็นภาษาของมนุษย์ เป็นการศึกษาวิจัยที่แสดงถึงการก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และไม่สนขอบเขตด้านการสื่อสาร โดยการศึกษาจะอยู่ที่ทะเลแถบโดมินิกาแคริเบียนตะวันออก
ร่วมกับสถาบันทางการศึกษาชื่อดังมากมายกว่า 15 สถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด(Harvard University) มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด(Oxford University) กูเกิลรีเสิร์ช(Google Research) เป็นต้น
[ จุดเริ่มต้นของ Project CETI ]
ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 1960 นักวิทยาศาสตร์ และดอกเตอร์โรเจอร์ เพย์น ได้ค้นพบว่า “วาฬร้องเพลงให้กันและกันฟัง” เป็นจุดเริ่มต้นของความน่าตื่นเต้นที่ไม่มีสิ้นสุดของมนุษย์ เกิดคำถามตามมาว่าเราได้ยินเสียงของวาฬที่แสนพิเศษ “ลองนึกดูสิถ้าเราได้ยินเสียงของมันแล้วเข้าใจความหมายด้วยจะเป็นอย่างไร?” ทำให้ในปี 2020 Project CETI ก่อตั้งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรโดยได้รับทุนจาก TED Audacious Prize
[ 3 ความต้องการของ Project CETI ]
“เราต้องการที่จะฟังและแปลภาษาของสายพันธ์ุอื่นๆ โดยเริ่มต้นที่วาฬหัวทุยก่อน”
1.บรรลุความก้าวหน้าและความสำเร็จในการสื่อสารข้ามสายพันธ์
2.เปลี่ยนความเข้าใจของมนุษย์เพื่อการเชื่อมต่อที่สื่อสารได้เข้าใจกัน
3.แบ่งปันการเรียนรู้ขงเรากับโลก
[ 4 Phase การทำงานของ Project CETI กับการรับฟังวาฬหัวทุย ]
1.Phase One Monitor
ทำการบันทึกเสียง และบันทึกการเคลื่อนไหวของเสียง ของวาฬหัวทุย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง อย่าง โดรนทางอากาศ(Aerial Drones) อุปกรณ์ดูดซับเสียงขั้นสูงขนาดเล็ก(Small High-Tech Suction-Cup Attached Computers) ไมโครโฟนใต้น้ำ(Hundreds of synced underwater Microphones) และหุ่นยนต์ว่ายน้ำ(Swimming Robots)
2.Phase Two Process
ขั้นตอนแห่งการประมวลผลข้อมูลดิบด้วยข้อมูลการสนทนาและข้อมูลพฤติกรรม(Conversation & Behavioral Data) การแสดงข้อมูล(Data Visualization) คำประกอบการอธิบายและการเตรียมการ (Annotaion & Preparation) และเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานในขั้นตอนต่อไป
3.Phase Three Train
ขั้นตอนการฝึกฝนเครื่องจักรเพื่อให้สามารถช่วยมนุษย์ในการทำความเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับวาฬหัวทุย ด้วยวิธีการเรียนรู้โดยเครื่องจักร(Machine Learning) โมเดลภาษาของวาฬ(Whale Language Model) และการเชื่อมโยงพฤติกรรมและภาษา(Linking Behavior & Language)
4.Phase Four Validation
การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการสื่อสารกับวาฬหัวทุยอย่างรอบคอบ ทั้งเรื่องภาษาศาสตร์(Linguistics) การเรียนรู้ภาษา(Language Acquisition) และเสียงพูดและสัณฐาณวิทยา(Phonology & Morphology)
ปัจจุบันการศึกษาทดลองยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยเราหวังว่าการศึกษาในครั้งนี้จะทลายกำแพงแห่งการสื่อสารระหว่างสายพันธุ์ลงไปได้ แรกเริ่มจากวาฬหัวทุย ต่อไปจะเป็นสัตว์ตัวไหนแค่คิดก็น่าตื่นเต้นแล้ว
“สำหรับผมแล้วภัยธรรมชาติคือการโจมตีที่น่ากลัวที่สุด และดูเหมือนว่าเราจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย การเริ่มต้นด้วยเสียงของสัตว์บางชนิดมันอาจจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้นก็ได้ ดังนั้น วาฬจึงเป็นกลุ่มสายพันธุ์แรกที่ผมอยากศึกษาและสื่อสารกับพวกมันให้ได้” Roger Payne
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Source: https://www.projectceti.org/