‘ผัดวันประกันพรุ่ง’ หนึ่งในกลไกการตอบสนองของร่างกายที่คนส่วนมากมักมองว่าเกิดจากความ ‘ขี้เกียจ’

Share

ณ เวลา 5 โมงเย็น คุณเพิ่งรู้สึกตัวว่ายังไม่ได้ทำรายงานที่มีกำหนดส่งในวันพรุ่งนี้ สงสัยว่ามันคงได้เวลาแล้วที่จะเปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมา แต่เดี๋ยวนะคุณมองไปเห็นโทรศัพท์ว่ามีแจ้งเตือนขอเปิดดูสักหน่อยแล้วกัน ไหนๆ ก็หยิบมันขึ้นมาแล้ว เช็คช่อง YouTube ที่กดติดตามก่อนดีกว่าว่ามีอะไรอัปเดตไหม

อืม… แต่นี่มันก็เย็นแล้วนะทำอาหารกินก่อนกีไหมนะ ไหนๆ คุณก็ชอบทำอาหารอยู่แล้ว โอ้ไม่นะ! 3 ทุ่มแล้วหรอ รายงานยังไม่ได้เริ่มทำเลย เอาเป็นว่าค่อยไปทำพรุ่งนี้เช้าแล้วกันนะ นี่คือสัญญาณของการติดอยู่ในวงจรของการ ‘ผัดวันประกันพรุ่ง’ Future Trends เชื่อว่าทุกคนต้องเคยประสบพบเจอมาก่อน แต่เพราะอะไรกันนะทั้งๆ ที่มันรู้สึกแย่แต่เราก็ทำอยู่ดี

[ ผลกระทบต่อความรู้สึกเมื่อเรา ‘ผัดวันประกันพรุ่ง’ ]

พวกเราทุกคนล้วนที่จะรู้ว่า การผัดวันประกันพรุ่งเป็นสิ่งไม่ดี แต่ขอบอกให้ชัดเจนก่อนเลยว่า การหลีกหนีเพื่อที่จะไม่ทำบางสิ่งบางอย่างไม่ใช่การผัดวันประกันพรุ่งเสมอไป ในการบริหารเวลาเราต้องรู้ก่อนว่างานไหนคืองานสำคัญที่รอไม่ได้ และงานไหนคืองานที่รอได้ ดังนั้น การผัดวันประกันพรุ่งคือการที่เราหลีกเลี่ยงงานที่เราบอกว่าจะทำโดยไม่มีเหตุผลที่ดีพอ

การผัดวันประกันพรุ่งเป็นผลมาจากร่างกายของเรา มันพยายามที่จะปกป้องตัวเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการคุกคาม ในบริบทนี้คือ ‘งาน’ ร่างกายตอบสนองกับความรู้สึกของคุณที่ว่าไม่อยากทำงานนี้เลย มันจึงพยายามหาทางเลี่ยงตามกลไกป้องกันตัวเอง เมื่อคุณรู้ตัวว่าต้องเขียนรายงาน สมองของคุณจะตอบสนองและจัดให้มันเป็นภัยคุกคามทันที

อะมิกดะลา(Amygdala) ซึ่งเป็นชุดของเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลทางอารมณ์และการระบุภัยคุกคาม จะปล่อยฮอร์โมนรวมทั้งอะดรีนาลีน(Adrenaline) ที่กระตุ้นการตอบสนองต่อความกลัว ความตื่นตระหนกที่เกิดจากความเครียดนี้สามารถเอาชนะแรงกระตุ้นจากเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า ซึ่งโดยทั่วไปจะช่วยให้คุณคิดในระยะยาวและควบคุมอารมณ์ของคุณ

ท่ามกลางการตอบโต้ หลบหนี หรือหยุดชะงักจากการสั่งการจากสมอง คุณตัดสินใจที่จะจัดการกับภัยคุกคาม ด้วยการหลีกเลี่ยงมัน และหันมาสนใจสิ่งที่เครียดน้อยกว่า ผ่อนคลายมากกว่า อย่าง การตรวจเช็คการแจ้งเตือนโทรศัพท์ การดูคลิปวิดีโอผ่อนคลายบนอินเตอร์เน็ต

การตอบสนองในลักษณะนี้อาจดูสุดโต่ง และให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังหนีปัญหา ซึ่งว่ากันตามตรงมันดูเหมือนจะไม่มีผลกระทบอะไร แต่แท้จริงแล้วหากเราผัดวันประกันพรุ่งกับ งานที่ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบ เช่น ความหวาดกลัว ความไร้ความสามารถ และความไม่มั่นคง มันจะส่งผลเสียให้ติดเป็นนิสัยว่าเมื่อใดก็ตามที่เจองานแบบนี้ต้องหนี คุณจะเสียเวลาไปกับมันอย่างมาก

[ ผลการศึกษาวิจัยบอกว่ามันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น แต่ยังเลวร้ายอยู่! ]

จากการศึกษาวิจัยระดับมหาวิทยาลัย ในหมู่ผู้ทดลองที่ทำการผัดวันประกันพรุ่ง พบว่าผู้เข้าร่วมทดลอง มีแนวโน้มที่สูงมากว่าจะเลื่อนงานที่พวกเขารู้สึกว่าเครียด ท้าทาย หรือรับมือได้ยากออกไป และเมื่อผู้ทดลองตะหนักรู้ว่างานนั้นมันยากมากเพียงใด พวกเขาจะพยายามหนีมันมากขึ้น

ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ในการศึกษาวิจัย รายงานว่าผลกระทบมันไม่ได้เลวร้ายอะไรมากมาย แต่เมื่อพวกเขาเริ่มที่จะผัดวันประกันพรุ่ง พวกเขามักประเมินความคิดเรื่องการเรียน และการทำงานว่าเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาเครียด เนื่องจากการผัดวันประกันพรุ่งจะกระตุ้นความรู้สึกด้านลบของเรา บุคคลบางคนจึงอ่อนไหวต่อความรู้สึกนั้นมากกว่าคนอื่นๆ

ผู้ที่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ และผู้ที่มีความนับถือตนเอง หรือ ‘Self Esteem’ ต่ำ มีแนวโน้มสูงมากที่จะทำการผัดวันประกันพรุ่ง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะจัดการเวลาได้ดีเพียงใด แต่ด้วยปัญหาทางอารมณ์ และความนับถือตนเองต่ำ กระตุ้นให้เกิดการป้องกันตัวเองต่อภัยคุกคามมากกว่าปกติ

[ คนที่ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ใช่คนที่ขี้เกียจเสมอไป ]

ความเข้าใจผิดหลักๆ ที่คนส่วนมากยึดถือเอาไว้ คือ “คนที่ผัดวันประกันพรุ่งทุกคนเป็นคนขี้เกียจ” นั่นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะเมื่อคุณรู้สึกขี้เกียจ คุณจะนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไร นี่คือลักษณะของคนขี้เกียจ ซึ่งแตกต่างจากคนผัดวันประกันพรุ่ง

เพราะคนเหล่านี้จะไม่นั่งอยู่เฉยๆ เพียงแต่พวกเขาจะหันเหความสนใจไปที่งานที่ไม่สำคัญ หรืองานที่สำคัญน้อยกว่า ในความเป็นจริง หลายคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง เป็นผลลัพธ์มาจากการที่พวกเขาใส่ใจรายละเอียดมากเกินไป มีรายงานว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความกังวลต่อความล้มเหลวสูง เป็นเหตุที่พวกเขาคิดว่า “เลิกทำไปเลยดีกว่า ทำไปก็ไม่ดีตามมาตรฐาน”

แต่ไม่ว่าจะผัดวันประกันพรุ่งด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผลลัพธ์มันจะเหมือนกัน คือ “ไม่ทำงานนี้ในตอนนี้” คนที่ผัดวันประกันพรุ่งบ่อยๆ มักจะประสบกับความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และความรู้สึกอับอายอย่างต่อเนื่อง ระดับความเครียดจะสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการมีความเครียดสูง 

แม้ว่าการผัดวันประกันพรุ่งจะทำร้ายร่างกาย และสุขภาพของคนในระยะยาว แต่มันก็เป็นอีกหนึ่งกลไกการป้องกันตัวที่ทำให้ระดับความเครียดของเราลดลงได้ชั่วคราว เป็นการเสริมการตอบสนองทางร่างกายในการรับมือกับงานที่ตึงเครียดที่ดี แต่นั่นแหละถ้าทำบ่อยมันก็กลายเป็นสิ่งไม่ดี

[ ตัดวงจรของการผัดวันประกันพรุ่ง ด้วยกลยุทธ์ง่ายๆ ]

เราจะตัดขาดกับวงจรของการผัดวันประกันพรุ่งได้อย่างไรกัน ถ้าให้พูดตามหลักความเป็นจริง ผู้คนมักคิดว่าผู้ที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง จำเป็นต้องฝึกฝนระเบียบวินัย และฝึกฝนการบริหารเวลาอย่างเข้มงวด แต่นักวิจัยหลายคนกลับรู้สึกตรงกันข้ามกันเลย การกดดันตัวเองมากเกินไปอาจเพิ่มอารมณ์ร้ายลงไปในงาน ทำให้การคุกคามรุนแรงยิ่งขึ้น

เพื่อลดการตอบสนองต่อความเครียดนี้ เราจำเป็นต้องจัดการ และลดอารมณ์ด้านลบให้กายไป ด้วยกลยุทธ์ง่ายๆ อย่าง การแบ่งงานออกเป็นองค์ประกอบย่อยๆ การจดบันทึกเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้คุณเครียด และจัดการกับข้อกังวลพื้นฐานเหล่านั้น ลองขจัดสิ่งรบกวนในบริเวณใกล้เคียงที่ทำให้ผัดวันประกันพรุ่งแบบหุนหันพลันแล่นออกไป

และเหนือสิ่งอื่นใด มันช่วยปลูกฝังทัศนคติของการเห็นอกเห็นใจตนเอง การให้อภัยตัวเอง และการวางแผนที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นในครั้งต่อไป เนื่องจากวัฒนธรรมที่ยืดเยื้อวงจรแห่งความเครียดและการผัดวันประกันพรุ่งนี้ทำร้ายพวกเราทุกคนในระยะยาว เราควรที่จะเลิกมันซะก่อนที่จะสายเกินไป

เป็นอย่างไรกันบ้างกับคอนเทนต์เรื่องการผัดวันประกันพรุ่ง เชื่อว่าหลายๆ คนเคยผ่านการใช้ชีวิตในรูปแบบนี้มาแล้วไม่ต้องกังวลไป มันไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงถ้าเกิดว่านานๆ ทำครั้ง แต่หากทำบ่อยเป็นประจำก็ควรที่จะหาทางแก้ไขก่อนมันจะสายเกินไป

เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์

หมายเหตุ! บทความนี้ดัดแปลงมาจาก ‘Why you procrastinate even when it feels bad’ โดย TED-Ed แพลตฟอร์มที่เผยแพร่เรื่องราวโดยเฉพาะการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาตัวเองของเด็ก และคุณครู เรื่องราวส่วนมากจึงเป็นเรื่องพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งสามารถปรับใช้ได้กับผู้อ่านทุกวัย

Source: https://ed.ted.com/lessons/why-you-procrastinate-even-when-it-feels-bad