Positive AI Economic Futures ปัญญาประดิษฐ์จะสร้างอนาคตที่ดีให้มนุษย์ได้อย่างไร

Share

ทุกวันนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI พัฒนาก้าวล้ำขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สามารถทำในสิ่งต่าง ๆ ที่เราอาจไม่เคยคิดว่ามันจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเอาชนะมนุษย์ในหมากกระดานที่ซับซ้อนที่สุดเกมหนึ่งอย่าง ‘โกะ’ วินิจฉัยโรคแทนหมอ ไปจนถึงการแต่งเพลง หรือเขียนบทความ

ทำให้อนาคตที่ผู้เชี่ยวชาญมากมายคาดการณ์ไว้ว่า วันหนึ่งหุ่นยนต์อาจเข้ามาแย่งงานจำนวนมากไปจากมนุษย์ มุมมองนี้ได้สร้างความหวาดกลัวว่าต่อไปผู้คนจะตกงาน เกิดความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจโดยรวม

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีมุมมองอีกด้านที่เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์อาจไม่ได้นำมาซึ่งอนาคตที่เลวร้ายทางเศรษฐกิจ แต่จะสามารถช่วยให้สังคมโดยรวมดีขึ้นไปได้

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้ออกรายงานสำรวจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของผลกระทบเชิงบวกจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในชื่อ Positive AI Economic Futures (ผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) ที่เป็นการรวบรวมมุมมอง ความเห็น และข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำเสนอว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถที่จะพาเราไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้

ซึ่งจากรายงานฉบับนี้ สภาเศรษฐกิจโลกก็ได้ค้นหา และนำเสนอความเป็นไปได้ของอนาคตที่น่าสนใจขึ้นมา 6 ทิศทาง

1.เศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น (Shared economic prosperity)
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงถึงกันในทั่วทุกมุมโลก และสาเหตุหนึ่งที่เศรษฐกิจทั่วโลกสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดมาจนถึงทุกวันนี้ก็เป็นเพราะเทคโนโลยี AI ที่เข้ามามีส่วนช่วยให้ผลผลิตที่มนุษย์สร้างขึ้นได้นั้นสูงขึ้น

และต่อไปการใช้เทคโนโลยี AI ที่มากขึ้นก็จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตไปได้อีก และควบคู่กันกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เรายังสามารถเริ่มต้นเก็บภาษีทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีแนวโน้มที่จะตกงาน หรือนำภาษีส่วนนี้ไปยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวมได้

อย่างไรก็ตามความท้าทายของเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ที่จะต้องหาวิธีในการแก้ปัญหาต่อไป แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ได้รับการผลักดันด้วย AI จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นได้

2.บริษัทและองค์กรที่เปลี่ยนไป (Realigned companies)
ในการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นกับทุกคนในสังคม สิ่งหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นคือการที่ธุรกิจ บริษัท และองค์กรต่าง ๆ จะต้องเลือกที่จะใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ

แน่นอนว่าหากมองด้วยภาพปัจจุบันนี่อาจดูเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่ธุรกิจจะให้ความสำคัญกับผู้คนก่อนผลกำไร แต่ต่อไปหากเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมได้มากขึ้น ก็จะต้องมีข้อกำหนด และกฎหมาย ไปจนถึงการตรวจสอบ ที่เกิดขึ้นมาควบคุมธุรกิจในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้

3.ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น (Flexible labour markets)
เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในตำแหน่งงานต่าง ๆ และในกระบวนการปรับตัวของผู้คนต่อเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น จะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่สิ่งสำคัญในกระบวนการของช่วงเปลี่ยนผ่านนี้คือการศึกษา และฝึกฝันทักษะใหม่ ๆ ที่สอดรับกับงานใหม่ที่เกิดขึ้น ผู้คนจะต้องเรียนรู้ในการปรับตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐและผู้มีอำนาจในด้านต่าง ๆ เองก็จะต้องให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา และการฝึกฝนแรงงานทักษะ เพื่อให้ผู้คนในตลาดแรงงานสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่เกิดขึ้น

4.การออกแบบปัญญาประดิษฐ์โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centric artificial intelligence)
หากผู้คนตัดสินใจที่จะต่อต้านการเข้ามาแย่งงานของหุ่นยนต์ นักพัฒนา นักธุรกิจ และผู้ออกนโยบายเลือกที่จะออกแบบเทคโนโลยี AI โดยมีรักษาบทบาทการทำงานของมนุษย์ไว้

ในท้ายที่สุดการพัฒนาในทิศทางนี้จะนำไปสู่จุดกึ่งกลางที่เทคโนโลยี AI พัฒนาขึ้นโดยทำงานร่วมกับมนุษย์ ทำให้ไม่มีงานใดต้องถูกแทนที่ (หรืออาจมีน้อย) ด้วยกระบวนการเช่นการเก็บภาษีหุ่นยนต์ และ AI ในระดับที่จำเป็น หรือจำกัดการใช้เทคโนโลยี AI ไว้เพื่อช่วยผู้คนในการทำงานเท่านั้น

การพัฒนา AI ไปโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยไม่สร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงให้กับผู้คนและสังคมได้

5.งานที่มีความหมายมากขึ้น (Fulfilling jobs)
หุ่นยนต์และ AI สามารถเข้ามาทำงานต่าง ๆ ที่มีรูปแบบชัดเจน ซ้ำไปซ้ำมา และช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้คนในการเปลี่ยนไปทำงานที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ มีความยืดหยุ่น และมีความหมายมากขึ้นได้

อนาคตในทิศทางนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการผลักดันให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการออกแบบงานของตนเองมากขึ้น เช่นการให้พนักงานเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบงานร่วมกับบอร์ดบริหาร และอื่น ๆ

ในอนาคตงานที่ถูกแย่งไปโดยหุ่นยนต์ และ AI อาจเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำอยู่แล้วตั้งแต่ต้น และเปิดโอกาสให้ผู้คนได้หันมาใส่ใจในการพัฒนาทักษะของตนเอง และการทำงานที่มีความหมายมากขึ้นได้

6.การยกระดับทางสังคม และการพัฒนาผู้คน (Civic empowerment and human flourishing)
ในอนาคตที่มนุษย์สามารถทำงานน้อยลงได้เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาเติมเต็มบทบาทต่าง ๆ ให้ ผู้คนสามารถกันกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ที่มีความหมายสำหรับตนเองมากยิ่งขึ้น เช่นคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคม และอื่น ๆ

เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่นี้อาจไม่ได้หมายความว่ามันจะมาแทนที่มนุษย์เสมอไป แต่อาจเป็นการยกระดับพื้นฐานของมนุษย์ให้สูงยิ่งขึ้นได้ หากงานทักษะต่ำหายไป อาจไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะไม่มีงานทำเสมอไป แต่อาจเป็นการปลดล็อกให้ไม่มีใครต้องทำงานทักษะต่ำอีกต่อไป และทำให้ผู้คนพัฒนาทักษะของตัวเองได้สูงขึ้น

ท้ายที่สุดแล้วก็ยังเป็นเรื่องยากที่เราจะคาดเดาว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่จะสร้างผลกระทบกับชีวิตของผู้คน สังคม และเศรษฐกิจอย่างไร และรายงานนี้ก็ยังคงเป็นเพียงการคาดเดาจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ถึงอย่างนั้นมุมมองเหล่านี้ก็ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเราคงไม่สามารถหลีกหนีอนาคตที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะพัฒนาขึ้นไปกว่านี้ และมีบทบาทมากขึ้นในสังคม

สำหรับใครที่สนใจอยากอ่านรายงาน Positive AI Economic Futures โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลด PDF ได้ที่ :https://www.weforum.org/reports/positive-ai-economic-futures