นอกเหนือจากโครงสร้างองค์กรที่เติบโตยากหรือ Matrix Structure แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : https://bit.ly/3OHYXkX) อีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความป่วงในจิตใจให้หลายๆ คนไม่น้อยไปกว่ากันคือ ‘การได้โคจรไปร่วมงานกับคนหัวดื้อ’ ที่มีนิสัยต่อต้าน เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และดันทุรังทำในสิ่งที่ค้านสายตาของคนในทีม
แต่ว่ากันตามตรง เราก็อาจจะเลือกไม่คบหาสมาคม ไม่เสวนากับพวกเขาไม่ได้ขนาดนั้น เพราะ ในการสัมภาษณ์งาน เราเลือกได้แค่บริษัท ส่วนหัวหน้า และลูกน้องก็วัดกันและกันได้เพียงเล็กน้อยจากการคุยแค่ไม่กี่นาที ซึ่งถ้าเจอแบบน่ารักก็เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ แต่ถ้าเจอแบบไม่น่ารักอย่าง ‘คนหัวดื้อ’ แล้ว นี่ก็ไม่ต่างอะไรจากการตกนรกบนดินทั้งเป็น เพราะพวกเขาเหล่านี้จะคอยบั่นทอนสุขภาพจิตของเราลงเรื่อยๆ
อดัม แกรนต์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชื่อดัง และผู้เขียนหนังสือขายดีระดับโลกได้แนะนำเทคนิคการทำงานร่วมกับคนหัวดื้อผ่านเคสตัวอย่างของสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) อดีตผู้บริหารสูงสุดระดับตำนานของแอปเปิล (Apple) ไว้ว่า แท้จริงแล้ว ความสำเร็จอันสวยหรูที่เราเห็นกันก็ล้วนมาจากการที่ทีมของเขาผลักดันให้เขาคิดใหม่เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ซึ่งถ้าสตีฟไม่ได้ห้อมล้อมด้วยคนที่รู้วิธีเปลี่ยนวิธีคิด ในวันนี้เขาอาจไม่ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้ที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาลเลยก็ได้
แล้วถ้าเกิดเราเจอเพื่อนร่วมหัวดื้อ ลูกน้องหัวรั้น เจ้านายที่ชอบดันทุรังแบบจอบส์ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ยังต้องร่วมงานกัน จะรับมือให้ไม่รู้สึกป่วง และทำให้งานประสบความสำเร็จยังไงได้บ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ 4 เทคนิคทำงานกับคนหัวดื้อผ่านคำแนะนำของอดัมกัน
1. ลองบอกให้คนที่ชอบทำตัว ‘รู้ไปหมดทุกเรื่อง (Know-it-all)’ อธิบายบางอย่าง
เพราะความมั่นใจที่สูงมาพร้อมกับการไม่ยอมรับในความไม่รู้ของตัวเอง ในอดีต จอบส์เองก็เคยเป็นหนึ่งนั้นบรรดาคนประเภทนี้ด้วย เวนเดลล์ วีกส์ (Wendell Weeks) เจ้าของคอร์นนิง (Corning) บริษัทที่รับผลิตกระจกไอโฟน (iPhone) เล่าว่า สมัยก่อนมีครั้งหนึ่งที่จอบส์รู้สึกหงุดหงิด ผิดหวังกับหน้าจอพลาสติกของเครื่องต้นแบบจำลอง เพราะลึกๆ แล้วเขาต้องการกระจกที่แข็งแรงมาก แต่กระจกนั้นกลับบอบบาง และมีรอยขีดข่วนได้ง่าย
ซึ่งเขาก็ไม่เถียงกลับ แต่ตอบไปอย่างสุภาพว่า ตนพร้อมจะปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ขออย่างเดียวคือ ให้ทีมที่มีความเข้าใจเรื่องนี้มาคุยด้วยหน่อย จอบส์จึงสวนกลับมาว่า เขาเนี่ยแหละเป็นคนที่รู้ทุกเรื่อง จากนั้น เวนเดลล์ก็ปล่อยให้เขาอธิบายต่อไปว่า จริงๆ แล้วต้องการกระจกแบบไหน?
อย่างไรก็ตาม พออธิบายไปได้สักพัก จอบส์ก็เริ่มรู้ตัวว่า ตัวเองไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง ยังมีอีกที่ตนไม่รู้ และไม่มีใครรู้ไปหมดทุกเรื่องหรอก เมื่อเห็นเช่นนี้ เวนเดลล์เลยเดินเข้าไปที่กระดานไวท์บอร์ดแล้วบอกว่า ให้ฉันสอนวิทยาศาสตร์คุณสักหน่อย แล้วเดี๋ยวเราค่อยนั่งคุยกันต่อแบบดีๆ
จอบส์ตอบตกลงทันที และพอฟังคำอธิบายวิธีการสร้างกระจก เขาก็เข้าใจว่า มันเป็นเรื่องยากมากแค่ไหน เรื่องนี้จึงลงเอยด้วยวิธีการตามที่เวนเดลล์แนะนำ และท้ายที่สุดแล้ว วันที่ไอโฟนเปิดตัววันแรก เวนเดลล์ก็ได้รับข้อความขอบคุณจากสตีฟว่า ‘ตนจะมีวันนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่มีคุณ’
2. ลองให้คนหัวดื้อคุมงานบางอย่าง
คนประเภทนี้ชอบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ว่าใครจะพูดอะไร ค้านโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้จริง พวกเขาก็ไม่ฟังอยู่ดี โดยอีกหนึ่งวิธีที่จะปราบความมั่นอกมั่นใจทำนองนี้ก็คือ การแก้เผ็ดโดยการให้พวกเขาคุมงานบางอย่างกลับ
อดัมเล่าเรื่องราวของไมค์ เบลล์ (Mike Bell) อดีตวิศวกรที่เคยร่วมงานกับสตีฟ จอบส์ไว้ว่า ไมค์เคยรู้สึกหงุดหงิดเวลาฟังเพลงแล้วต้องพกอุปกรณ์ติดตัวอยู่ตลอด เขาเลยเสนอให้ผลิตอุปกรณ์ที่สตรีมได้ทั้งภาพ และเสียงพร้อมกัน
และแน่นอนว่า จอบส์ก็หัวเราะเยาะใส่ ตอบกลับมาด้วยประโยคที่ว่า “ใครจะไปอยากได้เครื่องแบบนั้นกันเชียว?” แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้าใครเสนออะไรไป เขาก็ปัดตกหมด ยึดเอาไอเดียของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ไมค์จึงรับมือด้วยการค่อยๆ ตะล่อม ทำให้เขาเปิดใจรับฟังว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีแม็ค (Mac) ในทุกห้อง การสตรีมบนเครื่องอื่นเป็นเรื่องใหญ่ แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราผลิตอุปกรณ์ที่สามารถตรีมภาพได้ก็คงจะสะดวกดี
ในทางกลับกัน ถึงจอบส์จะยังคงติดใจกับเรื่องนี้อยู่ แต่เมื่อดูความเป็นไปได้ เขาจึงตัดสินใจคุมงาน เป็นเจ้าของแนวคิดนี้ทันที และในที่สุด เขาก็ไฟเขียว อนุมัติโปรเจกต์ให้ไมค์พัฒนาต่อไปจนกลายมาเป็นแอปเปิล (Apple TV) ที่เราเห็นกันในทุกวันนี้
3. ลองชมคนหลงตัวเองไปพร้อมกับเสนอความคิดของเรา
ตามปกติแล้ว คนหัวดื้อจะชอบคิดว่าตัวเองเหนือชั้น วิเศษกว่าคนอื่น ทั้งนี้ การที่เราไปบอกว่า ไอเดียของพวกเขาไม่เวิร์กนั้นก็ไม่ใช่วิธีการรับมือที่เวิร์กเช่นกัน เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้พวกเขาเปิดใจรับฟัง ควรจะเริ่มจากการโฟลวไปตามน้ำ ชมพวกเขาตามที่พวกเขาชอบไปพร้อมๆ กับเสนอความคิดของเรา
ครั้งหนึ่ง ในการประชุมเรื่องนักพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลก หรือช่วงที่เขารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดได้ไม่นาน ระหว่างการถาม-ตอบกับผู้ชม มีชายคนหนึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ และตัวเขาว่า จอบส์ไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองพูดออกมาเลย แต่ถึงจะดูเป็นมุมมองที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ถ้อยคำ และท่าทีของชายคนนี้กลับเต็มไปด้วยความละมุนละม่อม วิจารณ์ แต่ไม่ได้โจมตีตรงๆ
โดยเขาก็ได้เริ่มจากการเอ่ยชมว่า จอบส์ คุณเป็นคนที่ฉลาด และเก่งมากคนหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่บางครั้งคุณไม่เข้าใจอะไรในสิ่งพูดสักนิด การเริ่มจากการชื่นชม ยกย่องในสิ่งที่พวกเขาอยากฟังเพื่อสร้างความรู้สึกดีแล้วเสนอความคิดของตนตามทีหลังนั่นเลยทำให้เขาเปิดใจ และตอบกลับแบบถ่อมตัวว่า ชายคนนี้พูดถูกต้อง ยอมรับว่า หลายครั้งก็พูดไปโดยที่ไม่รู้เรื่อง ขอน้อมรับในความผิดพลาดดังกล่าว และจะนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขตัวเองต่อ
4. ลองเทคนิค ‘แย้งมาแย้งกลับไม่โกง’
ตามปกติ เวลาเสนอให้ทำอะไรไป คนประเภทนี้จะพยายามสรรหาเหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาคัดค้านว่า ที่เราบอกเป็นเรื่องที่ไม่เวิร์กเพราะอะไร? โดยการที่จะก้าวข้ามความไม่ลงรอย ทำให้พวกเขาเห็นด้วยกับความคิดสามารถทำได้ด้วยการแย้ง ค้านหัวชนฝาพวกเขากลับเพื่อทำลายความมั่นใจลง
เมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว วิศวกรคนหนึ่งของบริษัทเคยเสนอไอเดียให้ผลิตโทรศัพท์ แต่จอบส์กลับหาเหตุผลมากมายมาแย้งว่า เป็นเรื่องที่ไม่เวิร์ก แต่พอเป็นแบบนี้ วิศวกรจึงเลือกท้าทายความคิดของเขาด้วยการแย้งกลับว่า ถ้าแอปเปิลผลิตโทรศัพท์ ให้เขาลองคิดดูว่า มันจะสวย เก๋แค่ไหน และถ้าไมโครซอฟต์ (Microsoft) ชิงผลิตก่อน จะเกิดอะไรขึ้น?
คำท้าทายที่ปลุกไฟเหล่านี้ส่งผลให้หลายเดือนหลังจากนั้น สตีฟ จอบส์ไฟเขียว อนุมัติโปรเจกต์มือถือต่อ โดยไอเดียนี้ก็ได้สร้างมูลค่ามหาศาล ทำให้แอปเปิลกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลกในทุกวันนี้นั่นเอง
ลึกๆ แล้ว ไม่ว่าใครก็มีข้อดี-ข้อเสียด้วยกันหมด การเรียนรู้ ยอมรับซึ่งกันและกันเป็นเรื่องสำคัญ และต่อให้เราจะเลือกร่วมงานกับคนหัวดื้อไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเลือกได้นั่นก็คือ ‘การเป็นมืออาชีพ’ อยู่ให้เป็น ทำงานร่วมกันให้ประสบความสำเร็จโดยไร้ซึ่งความบาดหมาง ความขุ่นเคืองใจต่อกันได้ไม่ยาก
Source: https://bit.ly/3NnYoMm