ทำงานส่งๆ ไม่แฮปปี้ ไม่หนี ไม่ออก แก้ด้วย ‘Pay to Quit’ กลยุทธ์จ่ายเงินออกที่องค์กรระดับโลกเลือกใช้

Share

ช่วงที่ผ่านมา คำว่า “Quiet Quitting การลาออกแบบเงียบๆ และ Resenteeism ภาวะเบื่องาน แต่ไม่ลาออก” นั้นถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ไม่เพียงแค่ในติ๊กต็อก (TikTok) เท่านั้น แต่ก็ยังรวมไปถึงเฟซบุ๊ก (Facebook) และเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย

ซึ่งถ้าพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว การกระทำเช่นนี้ก็อาจจะดูไม่แฟร์กับตัวองค์กรสักเท่าไร รวมไปถึงก็อาจจะ Transform พนักงานคนนั้นๆ ให้กลายเป็น Deadwood หรือพนักงานแบบไม้ตายซากขององค์กรที่ทำงานเฉื่อย แค่ให้จบไปวันๆ ไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ และไม่พร้อมพัฒนาด้วย

แล้วองค์กรควรจะจัดการกับเรื่องนี้ยังไงดี? บทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ ‘Pay to Quit’ กลยุทธ์การจ่ายเงินออกที่ Win-win กับทั้งองค์กร และพนักงานกัน

กลยุทธ์ Pay to Quit คืออะไร?

Image by Freepik

Pay to Quit คือกลยุทธ์การเสนอเงินก้อนเพื่อให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ แซปโปส (Zappos) เว็บไซต์อีคอมเมิรซ์ขายรองเท้าออนไลน์ชื่อดังก็เคยนำกลยุทธ์นี้มาใช้แล้ว โดยการยื่นข้อเสนอเป็นโบนัสให้พนักงานใหม่ที่รู้สึกว่า งานนี้ไม่ใช่ และไม่เหมาะกับตัวเอง หลังจากฝึกอบรมเป็นเวลาทั้งสิ้น 4 สัปดาห์

ต่อมา ในปี 2009 เมื่อแอมะซอน (Amazon) ควบรวมอาณาจักรแซปโปสก็ได้มีการนำกลยุทธ์ Pay to Quit ไปปรับใช้เช่นกัน เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ได้พูดถึงกลยุทธ์นี้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นปี 2014 โดยมีหลักใหญ่ใจความว่า เป็นปีแรกที่แอมะซอนจะเริ่มใช้กลยุทธ์ดังกล่าว มันค่อนข้างเรียบง่าย เราจะยื่นข้อเสนอเป็นเงินให้พนักงานลาออก

ปีแรกจะเริ่มต้นที่ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้น ในปีถัดมา จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเพิ่มไปจนถึง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้พนักงานได้ฉุกคิดถึงความต้องการในระยะยาวที่แท้จริง ตลอดจนการตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพก็ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการระงับใช้กลยุทธ์นี้ไป เนื่องด้วยสภาพตลาดแรงงานที่มีความตึงตัว และได้เปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์การ Upskill ให้กับพนักงานแทน

ยูริ นีซี (Uri Gneezy) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมได้พูดถึงกลยุทธ์​ Pay to Quit บนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Havard Business Review) เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่ง ตามปกติแล้ว มันไม่มีเหตุผลอะไรที่พนักงานที่ไม่พอใจจะเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงของตน แต่การใช้กลยุทธ์นี้จะช่วยจูงใจพวกเขาได้สำเร็จ ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้ Stayer ที่อยู่ต่อมีแรงจูงใจมากขึ้นด้วย

กลยุทธ์ Pay to Quit มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

Image by Freepik

1. เช็กให้แน่ใจว่า โปร่งใสจริง?

ขั้นแรก ให้องค์กร Step back กลับมาทำความเข้าใจก่อนว่า ทำไมถึงเลือกใช้กลยุทธ์ Pay to Quit และกลไกการทำงานของกลยุทธ์ Pay to Quit เป็นอย่างไร? เพื่อที่ว่าจะได้ใช้อย่างถูกวิธี และเหมาะสม

2. เงินซื้อเราได้ ถ้ามันมากพอ!

ถัดมา ทบทวนว่า จำนวนเงินที่องค์กรให้นั้นอยู่ในระดับที่โอเครึเปล่า? เพราะถ้าน้อยไปก็อาจจะไม่มีพนักงานคนไหนรับ ในทางกลับกัน ถ้ามากไปก็อาจจะทำให้พนักงานหลายๆ คนพร้อมใจกันเลือกรับข้อเสนอจนเกือบหมดองค์กร 

3. เลือกให้เป็น

แม้ข้อเสนอนี้จะน่าสนใจ แต่จริงๆ แล้ว เราไม่ควรเสนอให้กับทุกคน ควรจำกัดเอาไว้แค่บางกลุ่มเท่านั้น โดยต้องดูว่า ข้อเสนอ Pay to Quit นั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์กับใครคนไหนมากที่สุดด้วย

4. กำหนด Deadline

หลังจากเลือกกลุ่มที่จะยื่นข้อเสนอให้เรียบร้อยแล้ว ต่อไป ให้กำหนดระยะเวลาให้พนักงานได้ตัดสินใจด้วย นอกจากนี้ ก็ควรระบุให้ชัดเจนว่า หากเลือกหรือเกินกำหนดเวลาแล้ว ก็จะไม่สามารถเลือกรับข้อเสนอนี้ได้อีก

5. ใช้อย่างเดียวไม่พอ ต้อง Follow-up ด้วย

เมื่อยื่นข้อเสนอ และกำหนด Deadline เสร็จสรรพ สิ่งที่ไม่ควรลืมเลยก็คือ ‘การติดตามผล และประเมินผล’ เพราะสุดท้ายปลายทางแล้ว การไม่ Follow-up ก็จะทำให้เราไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยว่า กลยุทธ์​ Pay to Quit เวิร์กกับองค์กรหรือไม่? แต่ขณะเดียวกัน ก็ควรจะตั้งเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจนก่อนด้วย

สรุปแล้ว Pay to Quit ไม่ได้สร้างประโยชน์แค่ให้กับตัวองค์กรหรือพนักงานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ก็ยังทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายแยกย้ายกันไปเติบโต และไปได้ดีในเส้นทางของตัวเองเช่นกัน

Source: https://bit.ly/3p514rR