“เรียนออนไลน์ได้แต่ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันฝืนธรรมชาติมนุษย์” ชำแหละปัญหาการศึกษาไทย กับอ.อรรถพล อนันตวรสกุล

Share

ไม่ใช่แค่คนทำงานที่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนจากออฟฟิศ มาเป็นการทำงานจากที่บ้านหรือ  ‘work from home’ แทนเท่านั้น แต่เด็กๆ ในระบบการศึกษาทุกคนก็ปรับจากออนไซต์มาสู่ออนไลน์ด้วย และอย่างที่เราทราบกันดีว่า แม้จะมีความพยายามในการเคลื่อนตัวเข้าสู่เทคฯ เอดูเคชัน มากขึ้น แต่ปัญหาของการเรียนออนไลน์ก็ยังมีมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโควิด-19 ในไทยยังเดินทางไม่ถึงจุดสิ้นสุด ภูมิคุ้มกันหมู่ยังไม่เกิด ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนยังไม่ถึงร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ กำหนดการเลื่อนเปิดเรียนจึงถูกเลื่อนออกไปอีก การรวมกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ และทำกิจกรรมที่เด็กๆ ควรได้รับก็ดูจะหายไปจากปฏิทินปีการศึกษานี้เช่นกัน

วันเวลาเวียนมาบรรจบครบรอบ 1 ปีของการเรียนออนไลน์พอดี Future Trends ชวนอ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยถึงประเด็นปัญหาของการเรียนออนไลน์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี รวมถึงการตั้งข้อสังเกตที่ว่า สถานศึกษาอย่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอาจถูกตั้งคำถามถึงความสำคัญของการมีอยู่หรือไม่ ในวันที่การเรียนออนไลน์เข้ามาแทนที่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม

อ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากการเรียนการสอนถูกมูฟไปเป็นออนไลน์ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นยังไงบ้าง

เป็นปีแห่งการปรับตัว เจอกับการระบาดมาสองรอบ ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ปีที่แล้วที่มีการเลื่อนเปิดเทอม เป็นการทดลองระบบแล้วค่อยๆ ปรับมาเป็นการเรียนออนไซต์ปกติ ก็ได้มีการนำประสบการณ์มาใช้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราเจอกับออนไลน์จริงๆ คือการระบาดระลอกสอง คุณครูก็ปรับตัวได้มากขึ้น ทั้งการทำใบงานประกอบ การดูวิดีโอ หรือทำชุดกิจกรรมส่งให้เด็ก ประคับประคองให้อยู่รอดกันมา แต่ใช้เวลายาวนานสัก 5-6 สัปดาห์ ซึ่งหลายโรงเรียนได้เริ่มเห็นปัญหาที่ตามมา เช่น พอสอบออนไลน์ เด็กเริ่มหลุด เด็กไม่พร้อม พ่อแม่หลายคนต้องกลับต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์

หลายโรงเรียนใช้การเรียนแบบไฮบริด เรียนที่ห้องครึ่งหนึ่ง เรียนออนไลน์ครึ่งหนึ่งแต่ก็ไม่เวิร์ก จะออนไซต์ก็ออนไซต์ ออนไลน์ก็ออนไลน์ไปเลย แต่ทั้งหมดเป็นแค่การประคับประคอง การระบาดครั้งนี้เป็นโอกาสที่ครูจะเอาสิ่งที่ตัวเองพลิกแพลงในรอบปีที่ผ่านมามาใช้ ถ้าไม่เลื่อนเปิดเทอม คุณครูอาจต้องเปิดเทอมโดยไม่ได้มีการคุยกันมากพอ คือแค่เอาตัวรอด อาจจะไม่ได้ในเชิงคุณภาพการสอน

พอเลื่อนเปิดเทอมแบบนี้ มีปัญหาตามาบ้างไหม

พอเลื่อนเปิดเทอม ทำให้เราเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะได้เตรียมตัวมากขึ้น เลื่อนครั้งล่าสุดคือเปิดเทอมช่วงกลางเดือนมิถุนายน แต่ตอนนี้ทราบว่า หลายโรงเรียนเปิดเทอมไปบ้างแล้ว เพราะส่วนกลางให้เป็นดุลยพินิจของโรงเรียน หลายโรงเรียนเปิดให้เรียนเฉพาะเด็กมัธยมปีที่ 2-3 และมัธยมปีที่ 5-6 เหลือมัธยมปีที่ 1 กับ 4 ที่ยังติดขัดเรื่องการรับเข้าใหม่ในเดือนหน้า

แล้วปัญหาคือ มันจะเกิดการ ‘overlap’ กัน เด็กใหม่ต้องมานับหนึ่งกันใหม่ ซึ่งอันนี้ก็ไม่เป็นไรอยู่ที่โรงเรียนเลือกชอยส์ แต่อยากให้ผู้บริหารคุยกับครูเยอะๆ การที่กระทรวงจากส่วนกลางเลือกไม่ฟังธง ตัดสินใจให้อำนาจโรงเรียนด้านหนึ่งก็เป็นข้อดี ทำให้ยืดหยุ่น แต่ด้านหนึ่งแม้จะเปิดเทอมไม่พร้อมกัน แต่กรอบเวลาปิดเทอมยังมีอยู่ อันนี้โรงเรียนต้องคิดนอกกรอบ เพราะมีเรื่องชั่วโมงเวลาเรียน ก็อาจจะมีคลิปวิดีโอหรือเสริมกิจกรรมอะไรไปที่นับได้ว่าเป็นชั่วโมงการสอนก็ได้ ไม่ต้องมานั่งเร่งให้เด็กเรียนวันจันทร์ถึงวันเสาร์ อันนี้ผมคิดว่า โรงเรียนต้องคุยกันว่าถ้ากรอบเวลาปิดเทอมเหมือนเดิมจะทำอย่างไร

ปัญหาในมุมของผู้เรียนที่ผ่านมามีอะไรบ้าง

เด็กเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กันแล้วไม่ได้เจอหน้ากันเลย โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ผ่านมา เรียนออนไลน์ทั้งปีแทบไม่ได้เจอกันเลยจนเข้าสอบ จบแล้วก็ไม่ได้เจอกันอีก นอกนั้นออนไลน์หมด แบบนี้มันเป็นปัญหาแล้ว ความสัมพันธ์ทางสังคมมันฝืนธรรมชาติ ต่อให้มีระบบเรียนผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ก็ไม่เหมือนการใช้ชีวิตร่วมกัน พาร์ตที่เป็น ‘transition’  เรื่องกลุ่มเพื่อน ประสบการณ์จากเด็กมัธยมปีที่ 6 ป็นเด็กนิสิตนักศึกษาปีที่ 1 มันหายหมด 

อย่างเด็กครุศาสตร์จะเห็นชัด เพราะเราเปลี่ยนจากเรียนครู 5 ปีเป็น 4 ปี ฝึกงานในโรงเรียนจาก 1 ปีเต็มเป็นเทอมเดียว ประสบการณ์ ‘observe class’ ก็หายไป ไม่ได้พาไปประกบการสอนกับคุณครูที่โรงเรียน มันไม่หมือนการได้เข้าห้องเรียนจริงๆ ไปดูว่า ครูมีวิธีการจัดการกับเด็กยังไง ส่วนคณะอื่นๆ ที่เน้นปฏิบัติการก็น่าจะเจอปัญหาเดียวกัน มีผลกับสมรรถนะของบันฑิต ถึงเวลาต้องมาเร่งทำเมคอัป คลาส ตอนชั้นปีโตๆ ซึ่งหลายอย่างมันต้องเกิดจากการทำบ่อยๆ ธรรมชาติต่างกัน 

แต่ถ้ามองมุมกลับ เด็กที่เคยผ่านการเรียนออนไลน์มา เขาจะทำหน้าที่ฝึกสอนออนไลน์ได้ดีเพราะเคยเรียนมาก่อน จะพบว่าไม่เหมือนกัน เคยเห็นจากมุมผู้เรียนที่เห็นแล้วว่ามีปัญหา พอต้องทำหน้าที่สอนก็มีความท้าทายอีกแบบ จะทำยังไงให้เด็กมีส่วนร่วมผ่านออนไลน์ได้ ฟอลโลวอัปเด็กยังไง ให้กำลังใจยังไง เป็นทักษะใหม่

แล้วฝั่งครูผู้สอนเป็นยังไงกันบ้าง มีปัญหาอะไรที่ยังเจอแล้วไม่ได้รับการแก้ไขสักทีไหม

คุณครูก็ยังมีบ่นๆ หนึ่งปีผ่านไป พาร์ตนโนบายตามปฏิบัติไม่ทัน เขาประคองรอดกันไป แต่ไม่ได้แปลว่ามีคุณภาพ คุณครูก็ไม่ค่อยโอเคหรอกสำหรับการสอนออนไลน์ มันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก พอไม่มีอะไรซัพพอร์ตก็ต้องถูลู่ถูกังกันไปแบบนี้ ช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้วบรรยากาศการติดเชื้อน้อยลงมาก แต่นโยบายยังกลัวอยู่ มีท่าทีไม่อยากให้มหาวิทยาลัยกลับมาเปิด ก็เรียนออนไลน์กันไป แต่ผมสอนวิชา practice ก็ดื้อไปสอนที่คณะ อย่างน้อยวิชาที่้ต้องเจอกันในคลาสก็ได้เจอ

พอเทอมสองก็มีต้นทุนความสัมพันธ์ในการทำงานจากเทอมแล้วมาก่อน เราก็ประคองกันมาได้ แต่ว่าโรงเรียนน่าเห็นใจเ พราะเขาไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเอาทรัพยากรมาเกื้อหนุนตัวเองได้ โรงเรียนขนาดใหญ่ยังมีสมาคมศิษย์เก่า มีอะไรมาเกื้อหนุน แต่ขนาดกลางกับเล็กมีปัญหา ปัญหาเดิมไม่ถูกแก้ เรื่องอินเทอเน็ตทางมือถือ พูดมาหลายเทอมแล้วว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงต้องขอความร่วมมือเอกชน พวก internet provider ต้องมีมาซัพพอร์ตผู้สอนและผู้เรียน แต่ผ่านมาสองครั้งเขาต้องจ่ายค่าอินเทอเน็ตเอง ตอนนี้เห็นว่ามีการเจรจาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงดิจิทัล คืออย่างน้อยที่สุดให้ลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ของคุณครูไปก็ยังดี

อาจารย์มองว่า การเรียนออนไลน์จะทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถูกดิสรัปต์ไหม

จริงๆ ทุกคนก็ยังอยากกลับไปเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ในห้องเรียนปกติ แปลว่าโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยก็ยังสำคัญอยู่ แต่ช่วงที่ผ่านมาด้วยการจัดสรรงบประมาณ ทำให้โรงเรียนไม่สามารถช่วยเหลือผู้เรียนได้เต็มที่ เพราะงบเป็นคนละส่วน ไม่ได้มีการตั้งงบฯ ล่วงหน้าก่อน อันนี้เป็นปัญหาเชิงเทคนิค จะโยกงบฯ มาซื้อซิมแจกเด็กก็กลัวว่าเดี๋ยวสตงมาตรวจก็ซวยเอา จะเกลี่ยงบฯ ยังไงเพื่อช่วยเด็ก ก็มีการเตือนๆ กันว่าทำไม่ได้นะ ผิดระเบียบ แบบนี้คือไม่ได้จัดการศึกษาโดยเอาเด็กเป็นตัวตั้ง ยังมีปัญหาในการช่วยหลือเด็ก

คำถามคือแล้วโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยจะปรับตัวอย่างไรให้ยังจัดการเรื่อง well-being ได้ นี่คือสิ่งที่ต้องมีเสียงจากฝั่งนโนบายส่งลงไปในพื้นที่ ต้องมีงบฯ ที่ยืดหยุ่น มหาวิทยาลัยก็เป็น

อย่างผมอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ปิดการเรียรการสอนติดต่อกันมานานหลายเดือน ค่าน้ำค่าไฟที่ควรโยกมาคืนให้กับนิสิตก็ถือเป็นงบฯ คนละส่วน มหาวิทยาลัยก็เจอปัญหาเดียวกันเรื่องการใช้งบฯ จะลดค่าเทอมก็ติดเพดาน จะจ่ายเงินซื้อซิมก็ได้แค่นี้ ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมเก็บค่าเรียนเท่าเดิมแต่ทุกคนต้องเรียนออนไลน์หมด

แปลว่า เด็กๆ ส่วนใหญ่ก็ยังอยากกลับไปเรียนออนไซต์กันอยู่ดี

มันฝืนธรรมชาติมนุษย์เรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กัน เรียนออนไลน์เกิดขึ้นจริงได้แต่ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนนี้หลายวิชาอาจจะเริ่มคลิกแล้วว่า การเรียนออนไลน์เวิร์กนะ แทนที่เด็กจะมาฟังในหอประชุมใหญ่ มีกิจกรรมมาเข้าในรูม หลายวิชาก็เริ่มเห็นความเป็นไปได้ในการใช้เครื่องมือในการสอน (tools) เป็นหลัก ส่วนวิชาชีพ ปฏิบัติการทั้งหลายที่ต้องประกบให้คอมเมนต์งานเด็กมันฝืนธรรมชาติ 

ที่เคยคิดว่า ดิจิทัลจะดิสรัปต์แต่จริงๆ แล้วมันเมนสตรีมไม่ได้ ที่เข้าใจว่าจะมาแทนที่บางส่วนแต่มนุษย์ก็คือมนุษย์ สิ่งหนึ่งที่การเรียนผ่านข่องทางพวกนี้ให้ไม่ได้คือ ‘human touch’ โจทย์คือแล้วจะเบลนเข้าหากันยังไง ความเป็นไปได้และเพดานของการใช้ดิจิทัล แชแนลอยู่ตรงไหน ทำยังไงให้ช่วงเวลาการอยู่ร่วมกันมีความหมาย

นอกจากเรื่องออนไลน์แล้ว อาจารย์มองเห็นปัญหาส่วนไหนเพิ่มเติมอีก

ปัญหาเดิมคือไม่มีการพูดคุยกัน เชื่อมร้อยกัน เรื่องกรอบเวลาการสอบของเด็ก ต่างคนต่างคิดแก้ปัญหาในมุมตัวเอง ซึ่งมีการเลื่อนเปิดเทอมอีกแล้ว กรอบเวลาสอบรับเข้าจะเป็นยังไง แล้วล่าสุดจะมีการเปลี่ยนรายละเอียดการสอบ TCAS จะเพิ่มการสอบเรื่อง soft skill คำถามคือคุณจะมาปลี่ยนอะไรตอนนี้ ตอนที่เด็กไม่ได้มีโอกาสเจอกันเลย มันประหลาดมาก ตัวทรีตเมนต์เรื่องนี้เราก็ไม่มีให้เด็ก แต่คุณจะใช้เป็นตัวชี้วัดไปวัดเรื่องที่เด็กไม่ได้รับการพัฒนา นี่คือโจทย์ใหญ่ที่โยนไม่ได้

ปีที่แล้วทุกคนรู้ว่าเป็นการประคับประคอง แต่โควิด-19 ไม่ได้จบแค่นี้ มันจะต้องมีอาการเปิดๆ ปิด ๆ ไปเรื่อยๆ กลไกการตัดสินใจ เช่น การวัดผลหลักสูตรใหม่จะมา แต่คุณครูยังต้องตรียมสอนออนไลน์  เตรียมเรื่อง TCAS ตัวใหม่อยู่เลย นี่เป็นโจทย์ที่ซับซ้อนในหลายๆ เรื่อง  ไม่มีกรอบเวลาชัดเจน กระทรวงศึกษาธิการต้องคุมหางเสือในการคุยข้ามหน่วยงานดีๆ เพราะโจทย์ไม่ใช่เรื่องการรับผิดชอบเฉพาะหน้างานตัวเอง มีหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้อง

เขียนโดย Piraporn Witoorut