ของมันต้องมี! Omega X Swatch เจ๋งยังไง? ทำไมถึงทำเอา ‘ห้างทั่วโลกแทบแตก’ จนล่าสุดต้องยกเลิกการขายไป

Share

หลังจากที่ประกาศเปิดตัวนาฬิกา Omega X Swatch คอลเลกชันสุดพิเศษ Biocermic Moonswatch ทั้ง 11 เรือนไปได้ไม่นาน ก็เกิดความตกตะลึงอย่างมากในหมู่ของเหล่าสาวกนักสะสมนาฬิกาหรู โดยวันแรกที่วางจำหน่าย (วันที่ 26 มีนาคม 2565) ส่งผลให้มีคนจำนวนมากแห่กันมารอต่อคิวซื้อตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ายังไม่เปิด และแน่นอนว่า ก็มากซะจนเกิดปรากฏการณ์ ‘ห้างแทบแตก’ ล่าสุดทางแบรนด์ผู้จำหน่ายต้องออกมาประกาศยกเลิกการขายไปก่อน เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูกค้า ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่เอื้อต่อการรวมตัวต่อคิวซื้อยาวๆ

โดยปรากฏการณ์แบบนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบ้านเราเท่านั้น แต่อีกซีกโลกหรือประเทศเพื่อนบ้านก็เช่นกัน ซึ่งอาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ เพราะมีการปักหลัก ขนที่นอน หมอน มุ้งมารอข้ามคืน เกิดเหตุชุลมุน ยื้อ แย่ง ฉุด กระชากเหมือนในภาพยนตร์ซอมบี้ยังไงยังงั้น แถมยังมีคนเป็นลมระหว่างเข้าคิวซื้อด้วย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย ฮ่องกง หรือแม้กระทั่งหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ารวยที่สุดอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เอากับเขาเช่นกัน

แต่หากย้อนกลับมาดูที่ราคาแล้ว จะพบว่า นาฬิกาที่ฮอตปรอทแตกนี้กลับมีราคาสูงถึง 8,700 บาทด้วยกัน ซึ่งก็เป็นเม็ดเงินที่มากพอสมควร ประกอบกับช่วงนี้เศรษฐกิจทั่วโลกก็ไม่ค่อยดีสักเท่าไร อันเนื่องมากจากผลพวงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย

แล้ว Omega X Swatch เจ๋งยังไง ทำไมนาฬิกาหรูเรือนละเกือบหมื่นถึงฮอตท่ามกลางเศรษฐกิจที่ถดถอยจน ‘ห้างสรรพสินค้าทั่วโลกแทบแตก’ และขึ้นแท่นไอเทม ‘ของมันต้องมี’ ชั่วข้ามคืน? วันนี้ Future Trends จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ

ปัจจัยแรกที่ทำให้นาฬิกาคอลเลกชันหรูได้รับกระแสตอบรับดีเช่นนี้ก็คือ ‘การจับมือทำโปรเจกต์พิเศษร่วมกัน (Collaboration หรือ Co-brand)’ ของ 2 แบรนด์ระดับพระกาฬอย่างโอเมก้า (Omega) กับสวอตช์ (Swatch) ผู้ผลิตนาฬิกาหรูสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ค่ะ ประเทศที่โด่งดังเรื่องการผลิตนาฬิกาคุณภาพ และได้รับสมญานามจากคนทั่วโลกว่า ‘เป็นดินแดนนาฬิกา’ โดยแบรนด์ดังอื่นก็มีสายพานการผลิตจากประเทศนี้ด้วย ทั้งโรเล็กซ์ (Rolex), โอเดอะมาร์ส ปิเกต์ (Audemars Piguet) และปาเต็ก ฟิลิปป์ (Patek Phillippe)

หากสังเกตจะพบว่า ตราสัญลักษณ์ของสวอตช์ก็มีธงชาติสวิตเซอร์แลนด์อยู่ด้วย อีกทั้งถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์ ก็จะมีการเขียนกำกับไว้ด้านล่างว่า “Swiss made” ที่ไม่ได้บอกแค่สถานที่ผลิตของแบรนด์ แต่เป็นการบอกกลายๆ ถึงมูลค่า และการันตีคุณภาพอีกครั้งหนึ่งควบคู่กันไป ซึ่งใครเห็น ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า นาฬิกาเรือนนั้นอึด ถึก ทน พิถีพิถันในการผลิตเป็นอย่างมาก จะว่าไปก็คล้ายกับสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมหรือมิชลิน ไกด์ (Michelin Guide) ที่เป็นที่ยอมรับของคนจำนวนมากเลยค่ะ แต่ในเคสจะเป็นนาฬิกาแทน

และด้วยความที่ทั้ง 2 แบรนด์ต่างก็มีฐานสาวกมหาศาลอยู่แล้ว เมื่อผนึกกำลัง โคจรมาเจอกัน จึงเกิดความความตกตะลึงสร้างความสำเร็จน่าทึ่งเหนือความคาด สามารถรังสรรค์นาฬิกาออกมาได้สวยสะดุดตา มีเอกลักษณ์ คุณภาพสูง ใช้งานได้จริง และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ‘สายรัดข้อมือ และส่วนผสม’ ค่ะ เพราะเป็นเวลโคร สแตรป์ (Velcro Strap) แบบเดียวกับที่นักบินอะพอลโล (Apollo) ใส่กับชุดอวกาศ มีการผสมผงสแตนเลส ซึ่งเป็นผงชนิดเดียวกับนาฬิกาที่เคยถูกนำไปใช้บนดวงจันทร์ในปี 1969 ด้วย

จากที่บอกไปก่อนหน้าว่า คอลเลกชันนี้มีมากถึง 11 เรือน โดยทั้งหมดก็เป็นได้รับแรงบันดาลใจมาจากอวกาศ ทำให้แต่ละรุ่นถูกออกแบบชื่อ และรูปลักษณ์ด้วยการอิงจากกลุ่มดาวฤกษ์ ดาวบริวาร และดาวเคราะห์ในกาแล็กซี ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ (Mission to the Sun) ดาวพุธ (Mission to Mercury) ดาววีนัส (Mission to Venus) โลก (Mission on Earth) ดวงจันทร์ (Mission to the Moon) ดาวอังคาร (Mission to Mars) ดาวพฤหัส (Mission to Jupiter) ดาวเสาร์​ (Mission to Saturn) ดาวยูเรนัส (Mission to Neptune) ดาวเนปจูน (Mission to Neptune) ไปจนถึงดาวเคราะห์แคระที่ถูกตัดออกจากระบบสุริยะอย่างดาวพลูโต (Mission to Pluto) เช่นกัน

เรียกได้ว่า เท่ คลาสสิก และหรูหราหมาเห่าสุดๆ อีกทั้งข้อความแกะสลัก และรูปดวงดาวที่ฝาด้านหลังนาฬิกา ว่า “Dream big, Fly higher, Explore the universe, Reach for the planets, Enjoy the mission.” แปลเป็นไทยว่า ‘ฝันให้ใหญ่ บินให้สูง สำรวจจักรวาล ไปให้ถึงดาวเคราะห์ และสนุกกับภารกิจ’ ที่เป็นแรงบันดาล ปลุกพลังในการสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้สวมใส่อยู่เสมอ

ส่วนรูปดาวเคราะห์ก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละรุ่น ซึ่งเป็นภาพจริงที่ถูกส่งตรงมาจากองค์กรนาซ่า (NASA) เป็นกิมมิคเล็กๆ เอาใจคนหลงใหลในอวกาศ และเมื่อรวมกับความพิเศษของ 3 หน้าปัดย่อย หรือนาฬิกาแบบโครโนกราฟ (Chronographs) ที่มีการย่อยจำนวนวินาที นาที และชั่วโมงแล้ว ก็ทำให้มั่นใจในคุณภาพได้เลยว่า จะมีความเที่ยงตรงกว่านาฬิกาทั่วไป เนื่องจาก ตามปกตินาฬิกาประเภทนี้มักจะถูกใช้ในการแข่งขันกีฬาที่ต้องอาศัยความแม่นยำ และความรวดเร็ว

รวมไปถึงเรื่องการออกแบบ ที่นอกจากจะผสมผงสแตนเลส ก็ยังใช้วัสดุแบบไบโอเซรามิก (Bioceramic) ที่ ‘ดีต่อโลก และดีต่อใจลูกค้า’ พลิกโฉมวงการนาฬิกาอีกด้วย เพราะเป็นการผสมผสานนวัตกรรมยั่งยืนระหว่างเซรามิก และพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำมันละหุ่ง ทำให้นาฬิกาทั้งแข็งแรง น้ำหนักเบา ทนต่อการขีดข่วนได้เป็นอย่างดี สอดรับกับเทรนด์ช่วงนี้ที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยอมจ่ายสินค้าราคาที่แพงกว่าเดิม หากเป็นแบรนด์ที่รักษ์โลก

นอกจากนี้ ด้วยรูปลักษณ์ที่เหมาะกับทุกเพศ (Unisex) ใส่แล้วดูดี เข้ากับเสื้อผ้าทุกแบบได้ง่าย ไม่ว่าจะซื้อใส่เอง หรือซื้อให้คนรู้จักก็ย่อมดีงามไปหมด และถึงราคาจะเกือบหมื่น แต่หากดูภาพรวม ก็คล้ายคลึงกับ Speedmaster ที่ออกมาก่อนหน้า ราคาประมาณ 125,000-200,00 บาทเลยทีเดียว ซึ่งแม้จะแพง แต่ก็ไม่ได้มากเกินไป เป็นราคาที่หลายคนยังสามารถเอื้อมถึงได้

และจากการจับมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 แบรนด์ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นรุ่นลิมิเต็ด สินค้ามีจำนวนจำกัด เนื่องจากส่วนใหญ่แบรนด์ต่างๆ จะมีช่วงเวลาของโปรเจกต์ที่ ‘สั้น’ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกโหยหา ต้องรีบจับจอง หรือที่เราเรียกว่า ‘ผลจากอคติการขาดแคลนทางความคิด (Scarcity Effect)’ ค่ะ

รวมไปถึงความหอมหวานของการซื้อแล้วนำไปขายต่อ โดยก็มีคนคาดการณ์ว่า ราคาอาจจะพุ่งไปถึง 30,000 บาทเลยทีเดียว ทั้งนี้ล่าสุดแบรนด์ก็ได้ออกมาแจ้งแล้วว่า นาฬิกาในคอลเลกชันนี้ไม่ใช่สินค้าลิมิเต็ด และจะมีการเติมสต็อกในอนาคตอย่างแน่นอน

จากปรากฏการณ์ Omega X Swatch ฟีเวอร์ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีให้เห็นแล้วว่า ถึงแม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะถดถอย ผู้คนไม่กล้าจับจ่ายของฟุ่มเฟือย แต่หากสินค้าดี มีคุณภาพ สร้างแบรนด์ดิ้งเยี่ยม เข้าถึงใจกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีชั้นเชิง สุดท้ายแล้ว ‘ราคาที่สูงลิ่บลิ่วก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป’

Sources: https://bit.ly/3K8OmwF

https://bit.ly/3L78DEb

https://bit.ly/38auM6e

https://bit.ly/38a9UM6

https://on.ft.com/3LhaRRq

https://bit.ly/3K77lb0

https://bit.ly/3K88M9c

https://bit.ly/3ExPCZi

https://bit.ly/3k0YDAI