คอลัมน์: OF-FIT สู่ชีวิตลงตัว
เขียน: ดร. เดชรัต สุขกำเนิด
แน่นอนว่า ไม่มีใครชอบคำว่า “ความไม่เป็นธรรม” แต่หลายคนก็บอกว่า “ความไม่เป็นธรรม” นั้นตัดสินกันยากว่า “อะไรเป็นธรรม? หรือไม่เป็นธรรม?”
หลายคนบอกว่า “ความไม่เป็นธรรม” จะเห็นได้ชัดเจน เมื่อเราเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำหรือถูกเอาเปรียบ ข้อความนี้ ผมก็เห็นด้วยจากประสบการณ์ของตนเองและเพื่อนๆ หลายๆ คน
เอ๊ะ แต่เราจะสังเกตเห็นความไม่เป็นธรรมหรือไม่? หากเราเป็นฝ่ายที่กระทำ หรือเป็นฝ่ายได้เปรียบบ้าง?
น่าสนใจนะ งั้นเรามาทดลองกัน…
บททดลอง
ผมทำการทดลองแบบง่ายๆ ตามแบบเกม Ultimatum game ในห้องเรียนที่มีนักศึกษาเรียนอยู่ประมาณ 300 คน
ขั้นตอนแรก ผมเริ่มจากเหตุการณ์สมมติว่า “นักศึกษากับเพื่อนร่วมทีม (หนึ่งคน) กำลังจะได้รับเงินจำนวน 100 บาท โดยนักศึกษาจะแบ่งเป็นผู้แบ่งให้เพื่อนคนนั้น ซึ่งยังไม่ทราบว่าใคร แล้วขอให้นักศึกษาเขียนตัวเลขที่จะแบ่งไว้ในกระดาษ ส่วนเงินที่เหลือ ก็ใส่ไว้ในกระดาษทด (ซึ่งเป็นเสมือนกระเป๋าตังค์) ของนักศึกษา”
เช่น นาย ก. คิดว่าจะแบ่งให้เพื่อน 10 บาท ก็เขียนเลข 10 ในกระดาษ และนาย ก. ก็เก็บเงิน 90 บาทไว้ในกระเป๋าตังค์ของนาย ก. (ใช้เป็นกระดาษทด)
จากนั้น ผมกับทีมผู้ช่วยสอน ก็จะรวบรวมกระดาษที่แบ่งเงินให้เพื่อน (ตัวเลข 10 บาทของนาย ก.) แล้วมาสลับสับกันก่อนแจกให้กับนักศึกษาคนอื่นๆ ทุกคนในห้อง โดยการสุ่ม
นั่นแปลว่า ทุกคนในรอบแรก จะได้เงินทั้งหมด 2 ส่วน ส่วนแรก คือ เงินที่ตนเก็บไว้เอง และส่วนที่สอง คือ เงินที่ได้รับมาจากเพื่อน
หลังจากได้รับเงินแล้ว หลายคนหน้าเสีย เพราะเงินที่ได้รับมาจากเพื่อนน้อยมาก บางคนอยากด่าเพื่อน แต่ก็ด่าไม่ด่า เพราะตนก็แบ่งให้เพื่อนน้อยด้วยเช่นกัน อิอิ ส่วนบางคนแอบอมยิ้ม เพราะเงินที่ได้จากเพื่อนมากกว่าเงินที่ตนแบ่งให้เพื่อนมาก
ผมก็ขอเก็บข้อมูลเงินที่ได้ในรอบแรกของนักศึกษาไว้ โดยการกรอกผ่านกูเกิลฟอร์ม
จากนั้น เราก็มาเล่นรอบที่สองกัน กติกาการเล่นรอบที่สองเหมือนแรก แต่ปรับเพิ่มนิดหนึ่งคือ “คนที่ได้รับเงินจากเพื่อน หากรู้สึกว่าตนไม่พอใจเงินที่เพื่อนแบ่งให้ ก็สามารถปฏิเสธเงินนั้นได้ ซึ่งการปฏิเสธเงินนั้นจะทำให้ฝ่ายที่เก็บเงินไว้ก็จะไม่ได้เงินส่วนที่เก็บไว้ และคนที่ปฏิเสธเองก็จะไม่ได้เงินส่วนที่เพื่อนแบ่งให้ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น (ขอยกตัวอย่างเดิม) นาย ก. แบ่งเงินให้เพื่อน 10 บาท และเก็บไว้เอง 90 บาท หลังจากสลับกระดาษเงินที่แบ่งให้เพื่อน ปรากฏว่า นาย ข. ได้กระดาษส่วนแบ่งของนาย ก. นาย ข. เปิดดูแล้วปรากฏว่าได้แค่ 10 บาท นาย ข. ไม่พอใจ นาย ข. ก็ปฏิเสธเงินส่วนนั้น ทำให้นาย ข. ไม่ได้เงิน 10 บาท และนาย ก. ก็ไม่ได้เงิน 90 บาท ด้วย
แต่ถ้า นาย ข. ตอบรับ นาย ข. ก็จะได้เงิน 10 บาท และ นาย ก. ก็จะได้เงิน 90 บาท ส่วนที่เก็บไว้
งานนี้ นักศึกษาทุกคนจึงเครียดขึ้นมาทันใด เพราะไม่แน่ใจว่าเพื่อน (ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นใคร) จะปฏิเสธเงินที่ตนส่งให้หรือไม่
หลังจากเขียนเงินในกระดาษที่แบ่งให้เพื่อน สลับ และแจกคืน เสียงอื้ออึงในห้องเรียนก็ดังขึ้น พร้อมกับการวิพากษ์วิจารณ์และขบคิดว่า จะปฏิเสธหรือไม่?
ผมรวบรวมคำตอบรับและคำปฏิเสธผ่านกูเกิลฟอร์ม ก่อนเปิดให้ทุกคนได้ทราบว่าของตนเองได้รับการตอบรับหรือปฏิเสธ แน่นอนว่า เสียงอื้ออึงดังขึ้นอีกครั้ง เพราะบางคนผิดหวังที่ถูกเพื่อนปฏิเสธ ซึ่งแปลว่า เงินที่ตนคิดว่าจะได้ ก็หายไปด้วย
มาถึงรอบสุดท้าย รอบสุดท้ายผมเล่นง่ายๆ ด้วยการให้จับคู่กันกับเพื่อนที่นั่งข้างๆ และให้ตกลงกันแบ่งเงินให้กับเพื่อนๆ ที่นั่งข้างๆ กัน แทนที่จะส่งให้ใครก็ไม่รู้
รอบสุดท้าย นักศึกษาส่วนใหญ่คุยกันไม่นาน ก็ตกลงกันได้ และผมก็ขอเก็บข้อมูลผ่านกูเกิล ฟอร์ม
ผลลัพธ์
เมื่อครบ 3 รอบ ผมก็เปิดข้อมูลที่ผมเก็บรวบรวม และให้ทีมงานวิเคราะห์ผล แล้วเปิดให้นักศึกษาได้ดูกัน
- รอบแรก นักศึกษาแบ่งเงินโดยไม่รู้ว่าคนรับเป็นใคร และคนรับไม่สามารถปฏิเสธได้ รอบนี้นักศึกษาแบ่งเงินให้เพื่อนเฉลี่ยเท่ากับ 17.19 บาท/คน
- รอบที่สอง นักศึกษาก็ยังไม่รู้ว่าคนรับเป็นใครเหมือนรอบแรก แต่รอบนี้ คนที่ได้รับจะสามารถปฏิเสธได้ และตนก็จะไม่ได้เงินด้วย ปรากฏว่า นักศึกษาแบ่งเงินให้เพื่อนเพิ่มขึ้นเป็น 27.63 บาท/คน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 บาท/คน
- รอบสุดท้าย นักศึกษาคุยและแบ่งเงินกับเพื่อนข้างๆ ปรากฏว่านักศึกษาแบ่งเงินให้กับเพื่อน 49.28 บาท/คน
ผมฉายภาพกราฟที่มีตัวเลขทั้งสามตัว แล้วถามนักศึกษาว่า “นักศึกษาคิดว่า ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นแล้วยัง?” นักศึกษาพยักหน้าและตอบว่า เกิดขึ้นตั้งแต่รอบแรกแล้ว และค่อยๆ ลดลงในรอบที่ 2 และหมดไปในรอบที่ 3
แล้วใครเป็นผู้สร้างความไม่เป็นธรรมนั่นขึ้น? นักศึกษาตอบว่า “ก็ตัวพวกเรา (ในบทคนแบ่งเงิน) เอง”
ผมจึงถามต่อว่า “แล้วทำไมเราจึงเป็นผู้สร้างความไม่เป็นธรรมนั่นล่ะ?” คราวนี้ คำตอบมาหลากหลายเลย แต่พอประมวลได้ว่า?
หนึ่ง เพราะเรา “ไม่รู้” ว่า คนที่เรากำลังดีลด้วยคือใคร? (ไม่เหมือนรอบที่ 3) เลยขอเอาเปรียบไว้ก่อน แต่ในรอบที่สาม เราไม่กล้าเอาเปรียบ เพราะคนที่เราดีลด้วยนั่งอยู่ตรงหน้า เราเลยแบ่งเงินให้เพื่อนเท่าๆกัน
มีนักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า ในรอบที่ 3 ก็เห็นหน้ากันอยู่อย่างนี้ เลยไม่รู้จะเอาเปรียบกันอย่างไร
สอง เพราะเรา “รู้” ว่า “คนที่เรากำลังดีลด้วย (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร) ไม่มีทางเลือก โดยเฉพาะในรอบแรก” ดังนั้น พอในรอบที่สอง ซึ่งข้อเสนอของเราอาจถูกปฏิเสธ เราจึงเพิ่มเงินที่แบ่งให้เพื่อนทันที แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าเป็นใรก็ตาม
สาม เพราะเรา “ไม่รู้” (หรือไม่ได้คิด) ว่า “มีกติกาในการแบ่งเงินในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความเป็นธรรมมากกว่า (เช่น กติกาในรอบที่ 2 หรือรอบที่ 3) เราจึงตีเนียนทำตามกติกาที่เรากำลังได้เปรียบไปพลางๆ
ข้อสรุปและการประยุกต์ใช้
กล่าวโดยสรุปว่า การที่มนุษย์ซึ่งกำลังได้เปรียบผู้อื่นอยู่จะรู้ตัวว่าตนเองกำลังสร้างหรือดำรงความไม่เป็นธรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยกเว้นจะมีการเทียบเคียงให้เห็น (เหมือนที่ผมเทียบผลในรอบที่ 1-3) และการเจรจากันอย่างตรงไปตรงมาและมีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกันจริงๆ
แต่การทดลองนี้ก็ให้บทเรียนที่สำคัญกับนักศึกษาว่า เราอาจกำลังเอาเปรียบคนอื่นๆ อยู่โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น กล้วยที่เราซื้อในโมเดิร์นเทรดลูกละ 8-10 บาท แต่เกษตรกรอาจจะได้รับเงินค่ากล้วยเพียง 1-2 บาท/ผล เท่านั้น (แล้วแต่ช่วงเวลา) แน่นอนว่าการดำเนินการของคนกลางต้องมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดบางส่วนและกำไรอีกบางส่วน แต่นักศึกษาก็คิดว่าส่วนแบ่งที่เกษตรกรได้รับนั้นน้อยเกินไป โดยนักศึกษาคิดว่าส่วนแบ่งที่เกษตรกรได้รับควรจะประมาณ 3.34 บาท/ผล
แล้วเพราะอะไรเกษตรกรจึงได้รับส่วนแบ่งน้อยกว่าที่เราคิด?
นักศึกษาบางคนตอบมาทันใดว่า “เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร” อีกคนตอบว่า “เพราะเขาไม่มีทางปฏิเสธราคาที่คนกลางแบ่งให้” และบางคนตอบว่า “เพราะเขาไม่ได้นั่งคุยกับเราเหมือนในรอบที่ 3 ไง”
นั่นละครับ หากเราพลิกคำตอบเหล่านั้นกลับ นั่นละครับคือ หนทางสู่การสร้างความเป็นธรรมในสังคม