หากพูดคำว่า ’NFT’ ขึ้นมา สิ่งแรกที่คุณจะนึกถึงคืออะไร?
งานศิลปะบนโลกดิจิทัล?
การประมูลงานศิลปะด้วยราคาสุดโหดบนบล็อกเชน (Blockchain) ?
งานศิลปะที่ซื้อไปก็จับต้องไม่ได้?
ไม่ว่าคุณจะนึกถึงอะไร มันก็ไม่มีผิดไม่มีถูกหรอก เพราะมุมมองที่แต่ละคนมอง NFT (Non-Fungible Token) นั้น แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทุกคนน่าจะมองคล้ายๆ กันเกี่ยวกับ NFT ก็คือการสร้างทางเลือกใหม่ในวงการศิลปะ ทั้งกับศิลปินที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบใหม่ๆ และนักสะสมผลงานที่ต้องการเลือกสะสมผลงานที่ตัวเองชอบ
แต่การซื้องาน NFT ผู้ซื้อจะได้รับกรรมสิทธิ์ในการถือครองงานในรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้จับหรือสัมผัสงานจริง ดังนั้น คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าไม่สามารถครอบครองผลงานจริงได้ เราจะซื้องาน NFT ไปทำไมกัน?
หลักๆ คงมาจากความพึงพอใจของผู้ซื้อที่อยากครอบครองผลงานนั้นๆ เหมือนกับการซื้อของตามปกตินั่นแหละ หรืออาจจะซื้อเพื่อการเก็งกำไรในอนาคตก็เป็นได้ เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนและระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) มีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นทุกวัน ทำให้ผู้ซื้อผลงานที่มีสถานะเป็นนักลงทุนด้วยนั้น มองเห็นโอกาสที่จะทำกำไรจากการลงทุนในรูปแบบนี้
ย้อนกลับไปในสมัยที่ยังไม่มี NFT การสร้างรายได้จากงานศิลปะ จะเกิดจากการประมูลผลงานในโอกาสต่างๆ หรือการจัดแสดงงานในแกลเลอรี เพื่อรอนักสะสมที่ชื่นชอบผลงานมาซื้อเก็บกลับบ้านไป ซึ่งกระบวนการของ NFT ก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย เพียงแค่จะทำทุกอย่างบนโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ว่ายังไง NFT ก็ให้เหมือนกับการซื้อขายงานแบบดั้งเดิมไม่ได้ นั่นก็คือ ความรู้สึกเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นเวลาเดินชมงานศิลปะในแกลเลอรีเท่านั้น อย่างการที่ความเงียบสงบในแกลเลอรี ทำให้เกิดสมาธิในการสร้างสุนทรียภาพ และความเข้าใจในผลงานอย่างลึกซึ้ง
โดยในปัจจุบัน ก็มีกลุ่มคนรักศิลปะที่มองเห็นช่องโหว่ของงาน NFT ตรงจุดนี้ จึงได้พยายามจัดงานอิเวนต์เพื่อนำงาน NFT มาจัดแสดง เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินชมงานศิลปะอยู่ในแกลเลอรีจริงๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสถานที่แห่งหนึ่งที่กำลังวางแผนจะสร้างพิพิธภัณฑ์ NFT ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และที่แห่งนั้น ก็คือ ‘Steinway Tower’ ตึกระฟ้าที่ตั้งอยู่บนเลขที่ 111 West 57th Street ในละแวก Billionaires’ Row ใจกลางนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ความพิเศษของ Steinway Tower นอกจากที่ในอนาคตอาจจะมีพิพิธภัณฑ์ NFT ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ก็ยังเป็นตึกที่ทำลายสถิติด้านความ ‘บาง’ จนขึ้นแท่นเป็นตึกระฟ้าที่ ‘บาง’ ที่สุดในโลกไปแล้วเรียบร้อย ด้วยอัตราส่วนความสูงต่อความกว้างเท่ากับ 24:1 โดยตึกแห่งนี้ มีความสูงอยู่ที่ 1,428 ฟุต หรือราวๆ 435 เมตร และมีความกว้างเพียงแค่ 59.5 ฟุต หรือราวๆ 18 เมตรเท่านั้น
Steinway Tower ได้รับการออกแบบจาก SHoP Architects บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมชื่อดังในแมนฮัตตัน (Manhattan) และถูกสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยวัตถุประสงค์หลักในการสร้างตึกแห่งนี้ คือเพื่อใช้งานเป็นอะพาร์ตเมนต์สำหรับอยู่อาศัย และเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของนครนิวยอร์ก
แต่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ท็อดด์ มอร์ลีย์ (Todd Morley) ประธานบริษัท Overline Network หนึ่งในหุ้นส่วนของการสร้าง Steinway Tower ได้ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg TV ว่า “ผมต้องการให้ตึกแห่งนี้ เป็นตึกที่มีทุกอย่างเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) แบบครบวงจร หากคุณอยากเข้ามาเทรดเหรียญ เราก็มีอินเทอร์เน็ตไว้บริการเสมอ”
และเขายังกล่าวอีกว่า ตัวเขานั้น มีความพยายามที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ NFT ที่ใหญ่ที่สุดในตึกแห่งนี้ แต่ยังไม่ได้คิดรูปแบบของพิพิธภัณฑ์เช่นกันว่า จะเป็นแบบพิพิธภัณฑ์ทั่วไปที่มีภัณฑารักษ์คอยดูแล หรือจะเป็นแบบพิพิธภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสุดล้ำ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้เข้าชมกันแน่
ถึงแม้ว่า ตึกแห่งนี้ จะสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า พิพิธภัณฑ์ NFT จะถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ หรือไม่ ซึ่งทีมงานอาจจะกำลังซุ่มการกันอยู่ เพื่อเตรียมเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ หรือบางทีอาจจะเป็นเรื่องขายฝันที่เจ้าของโครงการมาให้ความหวังไว้เฉยๆ ก็เป็นไปได้
แต่ถ้าเกิดท็อดด์ สามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ NFT ใน Steinway Tower ได้สำเร็จขึ้นมาจริงๆ ตึกแห่งนี้ ก็คงจะไม่ใช่อะพาร์ตเมนต์ธรรมดาๆ อีกต่อไป แต่คงเป็นชุมชนสำหรับศิลปินที่สร้างสรรค์งาน NFT และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีอย่างแน่นอน ดีไม่ดี ในอนาคต อาจจะกลายศูนย์กลางด้านคริปโทเคอร์เรนซีแห่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่มากๆ อีกแห่งหนึ่งก็ได้เช่นกัน