ส่องแนวคิดการทำงานแบบ ‘Netflix’ อะไรทำให้ Netflix กลายเป็นบริษัทสตรีมมิงระดับโลกมาจนถึงทุกวันนี้

Share

ก่อนอื่น เราอยากถามทุกคนว่า จริงๆ แล้ว ที่ทำงานในฝันของทุกคนเป็นแบบไหนกัน?

หลายคนอาจจะอยากให้ที่ทำงานในฝัน ไม่มีกรอบเวลาการทำงานที่กำหนดตายตัว

หลายคนอาจจะอยากให้ที่ทำงานในฝัน เป็นที่ที่สร้างเสียงหัวเราะมากกว่าน้ำตา

ไม่ว่าที่ทำงานในฝันของแต่ละคนจะเป็นแบบไหน มันไม่มีผิดไม่มีถูกหรอกค่ะ เรื่องนี้อยู่ที่ความสบายใจของแต่ละคนมากกว่า แต่ถ้าให้พูดถึงสิ่งที่หลายๆ คนรู้สึกเหมือนกัน และเป็นสิ่งที่อยากได้จากที่ทำงานมากที่สุด ก็คงจะเป็น ‘อิสระในการทำงาน’ ใช่ไหมล่ะคะ

ด้วยความที่ในปัจจุบัน พนักงานรุ่นใหม่ต้องการอิสระในการทำงานมากขึ้น ดังนั้น รูปแบบการทำงานในองค์กรที่เกิดมาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ อย่าง ‘Flat Organization’ จึงถูกนำไปใช้ในหลายๆ บริษัท

แล้ว Flat Organization คืออะไร? ทำไมหลายๆ บริษัทถึงเริ่มใช้รูปแบบการทำงานแบบนี้มากขึ้น?

Flat Organization คือรูปแบบการทำงานที่ทุกคนมี ‘ความเท่าเทียมกัน’ เกือบ 100% ไม่มีลำดับขั้นในการทำงาน ทุกคนมีอิสระในการทำงานของตัวเอง และหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามกับคนที่เราต้องการปรึกษาได้ในทันที ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการทำงานไปโดยไม่จำเป็น

แต่ในวันนี้ เราจะพาคุณไปส่องแนวคิดการทำงานของบริษัทที่มีรูปแบบการทำงานพิเศษกว่า Flat Organization ขึ้นมาอีกหนึ่งระดับ ซึ่งบริษัทนั้น ก็คือ ‘เน็ตฟลิกซ์ (Netflix)’ บริษัทสตรีมมิง (streaming) ระดับโลกที่ไม่มีใครไม่รู้จักนั่นเอง

ที่บอกว่าแนวคิดการทำงานของเน็ตฟลิกซ์ มีความพิเศษกว่า Flat Organization ก็เพราะว่า เน็ตฟลิกซ์มองลึกลงไปถึงการสร้าง ‘ความหลากหลาย’ นอกเหนือจากความเท่าเทียมในที่ทำงานด้วย

โดยเน็ตฟลิกซ์มองว่า การสร้างความหลากหลายทั้งเรื่องเพศและเชื้อชาติในที่ทำงาน จะทำให้เกิดการปลดล็อกอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถด้านนวัตกรรม ความสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ไอเดียและคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลกได้อย่างแท้จริง

จาก รายงานความไม่แบ่งแยก ประจำปี 2021 ของเน็ตฟลิกซ์ ได้ระบุว่า ในปัจจุบัน เน็ตฟลิกซ์มีพนักงานทั่วโลกที่เป็นผู้หญิงถึง 51.7% และมีพนักงานในสหรัฐอเมริกาที่มีพื้นเพมาจากเชื้อชาติที่ถูกกีดกันในอดีต อย่างชาวเอเชีย ชาวผิวดำ ชาวฮิสแปนิก (Hispanic) หรือลาตินอเมริกา ชาวตะวันออกกลาง ชาวอเมริกันพื้นเมือง มากถึง 50.5%

การที่เน็ตฟลิกซ์สามารถสร้างความหลากหลายของกลุ่มพนักงานได้มากขนาดนี้ คงเป็นเพราะมีการดำเนินงานตามแนวคิด ‘การไม่แบ่งแยกและความหลากหลาย (Inclusion and Diversity)’ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราก็ได้พบประเด็นที่น่าสนใจจากการทำงานตามแนวคิดนี้ ทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่

1. มองผ่านเลนส์ที่ไม่แบ่งแยก
เมื่อในบริษัทมีพนักงานที่มาจากหลายเชื้อชาติ การสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างพนักงานด้วยกัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น เน็ตฟลิกซ์จึงได้มีการสร้าง ‘แหล่งข้อมูลสำหรับพนักงาน (ERG)’ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของเพื่อนร่วมงานในกลุ่มต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายให้พนักงานเกิดความเป็นพันธมิตรต่อกัน และไม่แบ่งแยกด้วยภาษาหรือเชื้อชาติอีกต่อไป

2. สร้างโอกาสการเข้าถึงสำหรับคนเก่งรุ่นใหม่
ปัญหาเชิงระบบและค่านิยมเก่าๆ คือสิ่งที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงและเทคโนโลยีได้ เน็ตฟลิกซ์จึงทลายข้อจำกัดเหล่านั้น และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ผ่านการจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมและการออกแบบ UX/UI บนเว็บไซต์ให้กับนักศึกษาชาวผิวสีของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ฟอล์ก (Norfolk State University) เพื่อเฟ้นหาคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในอนาคต

3. สวัสดิการที่ไม่เฉพาะเจาะจงให้ใครคนใดคนหนึ่ง แต่มีให้สำหรับ ‘ทุกคน’
หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้พนักงานตัดสินใจทำงานกับบริษัทต่อคงหนีไม่พ้น ‘สวัสดิการที่ดี’ อย่างแน่นอน ซึ่งความพิเศษของสวัสดิการที่เน็ตฟลิกซ์มอบให้พนักงานทุกคน คือความไม่แบ่งแยกเพศในการใช้สวัสดิการนั้นๆ ใครๆ ก็สามารถใช้สวัสดิการที่เมื่อก่อนมีไว้ให้แค่เพศใดเพศหนึ่งได้

ตัวอย่างเช่น การลาพักเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยไม่คำนึงถึงเพศของผู้ปกครอง สวัสดิการที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพของพนักงานเพศทางเลือกในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นอกจาก 3 ประเด็นที่ได้กล่าวไปข้างต้น ในอนาคต เน็ตฟลิกซ์ได้วางแผนที่จะสร้างโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์หน้าใหม่ ผ่านการเรียนรู้ในโครงการ Bootcamp ที่ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสำหรับชาวฮิสแปนิก (HSI) และมหาวิทยาลัยสำหรับคนผิวสี (HBCU) เพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างความแตกต่างอย่างเท่าเทียมในบริษัทต่อไป

จากแนวคิดการทำงานแบบเน็ตฟลิกซ์ที่เราได้นำมาเล่าให้ทุกคนฟังกันในวันนี้ ทำให้เราเห็น ‘ความกล้า’ ที่จะฉีกกรอบรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อหวังผลลัพธ์ที่ดีกว่าในอนาคต

และนี่อาจจะถึงเวลาที่บริษัทในไทย จะนำ Flat Organization หรือแนวคิดการสร้างความหลากหลายในองค์กรมาใช้กับบริษัทของตัวเอง เพราะนอกจากจะให้ผลลัพธ์ในการทำงานที่ดีมากๆ แล้ว ยังทำให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาล (Governance) ตามแนวคิด ESG ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ด้วยค่ะ

Sources: https://bit.ly/3Ol0NZI

https://bit.ly/3xJlusG

https://bit.ly/3v0DzjU

https://bit.ly/3v0cSMq