ในปัจจุบันมีแนวคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจ และการพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอยู่มากมาย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแนวคิดเหล่านี้ขึ้นมานั้น คงหนีไม่พ้น ‘ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี’ เพราะนี่คือยุคศตวรรษที่ 21 ที่มีการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ หากใครตามไม่ทัน ก็คงตกขบวนไปโดยปริยาย
โดยแนวคิดที่เรากำลังจะพาทุกคนไปรู้จักกัน อย่าง ‘Microfactory’ ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ และต่อยอดจนเกิดเป็นแนวคิดในการสร้างโรงงานสไตล์ ‘ทำน้อย แต่ได้มาก’ (Less is More) ซึ่งมองเผินๆ ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่มันกลับเป็นขั้วตรงข้ามทางความคิดของ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) มหาเศรษฐีผู้เป็นเจ้าของบริษัทผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชื่อดังอย่างเทสลา (Tesla) และล่าสุดเตรียมขึ้นแท่นเป็นเจ้าของ ‘ทวิตเตอร์’ (Twitter) คนใหม่ หลังจากที่สามารถปิดดีลเข้าซื้อบริษัทมาได้อย่างสดๆ ร้อนๆ
แต่ในวันนี้ คงต้องพักเรื่องของอีลอนกับทวิตเตอร์เอาไว้ก่อน เพราะเราจะขอพาทุกคนไปสำรวจแนวคิด ‘Microfactory’ ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับ ‘Gigafactory’ แนวคิดที่เขาสุดแสนจะภาคภูมิใจกับมัน ซึ่งสองสิ่งนี้ จะแตกต่างกันสุดขั้วขนาดไหน เราไปหาคำตอบพร้อมกันเลย
[ Microfactory VS Gigafactory ]
Microfactory เป็นแนวคิดของการสร้างโรงงานขนาดเล็กที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในกระบวนการผลิตเลยแม้แต่นิดเดียว โดยเครื่องจักรแบบดั้งเดิม จะถูกแทนที่ด้วย ‘หุ่นยนต์’ หรือเครื่องจักรขนาดเล็กอย่างเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) และจะทำการควบคุมเครื่องจักรทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Things (IoT) หรือการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางในการส่งผ่านข้อมูลไปที่เครื่องจักรแต่ละตัว โดยที่ไม่ต้องป้อนข้อมูลซ้ำหลายรอบ
Microfactory เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในระบบอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมได้ในหลากหลายมิติ อย่างแรกคือ ทำให้ประหยัดต้นทุนทั้งเงินและเวลา เพราะใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรขนาดเล็ก จึงไม่จำเป็นต้องสร้างโรงงานขนาดใหญ่ รวมถึงไม่จำเป็นต้องจ้างแรงงานประจำไลน์ผลิตด้วย เพราะใช้การสั่งงานทุกอย่างผ่านระบบ IoT อยู่แล้ว
อย่างที่สองคือ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการผลิตสินค้ามากขึ้น ในอุตสาหกรรมแบบเดิมจะเน้นไปที่การผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ที่ในปัจจุบัน ไม่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้บริโภคบางกลุ่มอีกต่อไป เพราะการมาของความเชื่อที่ว่า ‘ฉันมีเพียงหนึ่งเดียว’ ทำให้ใครหลายๆ คน เลือกที่จะแสดงตัวตนของตัวเองผ่านสิ่งของที่ใช้ โดยที่สิ่งของสิ่งนั้น ต้องมีฉันเพียงคนเดียวที่เป็นเจ้าของ
และแน่นอนว่า ขั้วตรงข้ามของ Microfactory ที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ก็ต้องเป็นโรงงานขนาดใหญ่อย่างที่อีลอน เรียกว่า Gigafactory จริงๆ แล้ว แนวคิดนี้ ก็ไม่ต่างไปจากแนวคิดของระบบอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่เต็มไปเครื่องจักรขนาดใหญ่ มีแรงงานประจำไลน์ผลิตเป็นร้อยเป็นพันชีวิต เน้นการผลิตจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาพของระบบอุตสาหกรรมที่เราทุกคนต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
โดยข้อดีของ Gigafactory ก็คือการผลิตสินค้าจำนวนมากในหนึ่งครั้ง จะทำให้ต้นทุนต่อชิ้นถูกลง รวมถึงยังมีกำลังการผลิตสูง ทำให้สามารถผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เลือกใช้กระบวนการผลิตแบบนี้
‘ขนาดเหรียญยังมีสองด้าน แล้วนับประสาอะไรกับแนวคิดการทำงานทั่วไป’
พอมาคิดดูดีๆ แล้ว ทั้ง Microfactory และ Gigafactory ก็มีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบที่แตกต่างกันออกไป อย่าง Microfactory จะเหมาะกับการทำการตลาดเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) มากกว่า เพราะมีความยืดหยุ่นในกระบวนการผลิต แต่กลับมีกำลังการผลิตต่ำ ทำให้ไม่เหมาะกับการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก ส่วน Gigafactory ถึงแม้จะใช้ต้นทุนในการผลิตสูงกว่า แต่การผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่หลายๆ อุตสาหกรรมต้องการอยู่ดี
ดังนั้น แนวคิดแต่ละแบบ ก็คงมีความเหมาะสมของตัวเองในบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย รวมถึงปัจจัยจากข้อกำหนดและกฎหมายต่างๆ มากกว่า แล้วในมุมมองของทุกคน คิดว่า แนวคิดการสร้างโรงงานแบบใดที่จะมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคตสูงกว่ากัน?
Sources: https://bit.ly/3xPkTpf
https://bit.ly/3veQIWG
https://bit.ly/3vGd1nn