‘เปิดเบื้องหลังการทำงานของ AI’ ที่ Meta ใช้คู่กับอัลกอริทึมในการเผยแพร่คอนเทนต์ให้ผู้ใช้งานมองเห็น

Share

เมตา(Meta) เผยปัจจุบันมีบัญชีของผู้ใช้งานเฟซบุก(Facebook) และอินสตาแกรม(Instagram) กว่า 1,000 ล้านบัญชี การแบ่งปันเรื่องราวในแพลตฟอร์มจึงต้องการ อัลกอริทึม(Algorithm) ในการจัดการการมองเห็นของแต่ละบัญชีให้เป็นไปตามเหมาะสม ตามความต้องกรของผู้ใช้งาน

แต่ปัจจุบันเมตาได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการทำงานส่วนนี้ ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา เรื่องใหญ่ที่สุดคงจะเป็นการถูกปิดการมองเห็นของครีเอเตอร์(Creator) และอินฟลูเอนเซอร์(Influencer) ซึ่งส่งผลให้ผู้เล่นหลายรายในอุตสาหกรรมนี้บอกลา เพราะปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไข คอนเทนต์ดีแค่ไหนถ้าไม่มีคนมองเห็นจะอยู่ได้อย่างไร?

การใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำงานในหน้าที่นี้ ถือว่ามีความเหมาะสมกับองค์กร เนื่องด้วยความเยอะของคอนเทนต์ในแต่ละวันถ้าไม่มีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย พนักงานที่ืำงานในตำแหน่งนี้คงจะจบปัญหาด้วยการลาออกกันหมด

[ การทำงานที่ดีขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม Meta ]

กล่าวโดยเมตา “เราพยายามทำให้การทำงานของปัญญาประดิษฐ์โปร่งใสมากยิ่งขึ้น เรานำพวกมันเข้ามาเป็นส่วนช่วยเพื่อให้ผู้ใช้งานทุกคนได้เห็นสิ่งต้องการได้อย่างเหมาะสม” 

“เราเข้าใจว่า Generative AI เป็นเรื่องที่ใหม่ เต็มไปด้วยความเสี่ยง และความหวาดกลัวของผู้ใช้งาน หรือครีเอเตอร์ แต่เราได้ทำการพัฒนาให้มันสามารถทำงานได้ดีขึ้นด้วยการใช้ข้อมูลของผู้ใช้งานที่มากขึ้นเพื่อการแนะนำคอนเทนต์ที่เหมาะสมที่สุด”

[ การคาดการณ์ของ AI ส่งผลต่อการแนะนำอย่างไรบ้าง? ]

คุณค่า (Value of Content) วิเคราะห์จากการแชร์คอนเทนต์ของผู้ใช้งานว่าชอบคอนเทนต์ในประเภทไหนบ้าง ประกอบกับการทำแบบสำรวจเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์ที่ต้องการมากที่สุด นำไปเป็นปัจจัยในการสร้างคำแนะนำ และส่งผลต่อการมองเห็นของโพสต์ ว่ามีคุณค่ามากพอที่จะแนะนำให้เห็นหรือไม่?

เข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งาน (Personal Data) วิเคราะห์การอัปโหลดของข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นโพสต์ความรู้สึก รูปภาพ หรือวิดีโอ นำไปวิเคราะห์ให้เป็นหนึ่งในปัจจัยการแนะนำคอนเทนต์ที่เหมาะสม 

อย่าง คุณกนก ชอบโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นผู้นำที่ดี และลงรูปภาพเกี่ยวกับการทำงาน ระบบจะทำการคาดการณ์ และแนะนำคอนเทนต์ที่เหมาะกับคุณกนก เพื่อสร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์ด้วยมากที่สุด

สัญญาณ (Signals) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ปัญญาประดิษฐ์จะใช้ในการคัดกรองคอนเทนต์ ส่วนมากจะใช้กับคอนเทนต์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความอันตราย อย่าง คอนเทนต์ผิดกฎหมาย หรือคอนเทนต์ที่ถูกการรายงานว่าเป็นอันตรายต่อคอมมูนิตี้ จำพวกนี้ปัญญาประดิษฐ์จะไม่แนะนำให้ขึ้นหน้าฟีดของคุณ

ดังนั้น ปัญญาประดิษฐ์จะพยายามเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานเพื่อคาดการณ์ และแนะนำคอนเทนต์ที่เหมาะสมที่สุดตามความเข้าใจของมันให้ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังคำนึงถึงความปลอดภัยต่อข้อมูลที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้

[ 3 ขั้นตอน Show more, Show less ปรับได้ด้วยตัวเอง ]

นอกเหนือจากปัญญาประดิษฐ์แล้ว คุณยังสามารถปรับแต่งความต้องการของตัวเองได้ว่าอยากจะได้รับคอนเทนต์แบบไหนมากขึ้น หรือน้อยลง ด้วยฟีเจอร์ Show more, Show less 

สามารถใช้งานได้ง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน 

1.กดที่จุดสามจุดบนโพสต์นั้นๆ

2.เลือกฟีเจอร์ Show more หรือ Show less

3.เราจะแนะนำโพสต์ตามที่คุณต้องการ

จะทำให้เราได้รับคอนเทนต์ที่ต้องการมากยิ่งขึ้น คุณยังสามารถเพิ่มผู้คนเข้าไปในรายการโปรดของคุณได้ทั้งบนเฟซบุก และอินสตาแกรม เพื่อให้คุณสามารถดูเนื้อหาจากบัญชีรายการโปรดของคุณได้ตลอดเวลา

ถือว่าเป็นทางออกสำหรับผู้ใช้งานที่กำลังประสบปัญหาคอนเทนต์ไม่ตอบสนองกับความต้องการได้เป็นอย่างดี แต่ต้องมาลุ้นกันอีกว่าปัญญาประดิษฐ์เหล่านั้นมันจะจัดหมวดหมู่ได้ถูกต้องหรือไม่?

[ Meta Content Library และ API ฟีเจอร์สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล ]

Meta Content Library และ API เปรียบเสมือนว่าเป็นแหล่งรวบรวม ที่ให้อารมณ์เหมือนห้องสมุด แต่เก็บรักษาจำพวก โพสต์สาธารณะ จากครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ นักธุรกิจ และผู้ใช้งานทั่วไป ไว้ใช้สำหรับการทำงานด้านวิเคราะห์ข้อมูล 

ฟีเจอร์นี้เปิดกว้างให้เข้าถึงได้เพื่อการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างผู้ใช้งาน และผู้พัฒนาให้มีแนวทางร่วมกัน ด้วยจุดหมายที่ต้องการให้แพลตฟอร์มถูกใช้งานได้ตรงตามความต้องการ อย่างดีที่สุด

เราจะเห็นได้ถึงท่าทีของเมตาที่มีต่อกระแสลบในช่วงนี้ว่า พวกเขาก็พยายามที่จะทำให้การจัดการด้านอัลกอริทึมโปร่งใสมากยิ่งขึ้น แต่ระบบยังไม่มีความเสถียรมากพอ ทั้งผู้ใช้งานทั่วไป ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ต้องคอยปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายอยู่สม่ำเสมอ

หวังว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะทำให้ปัญหาด้านการมองเห็นโพสต์ของแพลตฟอร์มในเครือเมตา ถูกแก้ไขขึ้นอย่างเหมาะสม สถานการณ์ของผู้อ่านเพจ Future Trends เป็นอย่างไรบ้าง อัลกอริทึมเริ่มกลับมาแนะนำตรงตามความต้องการแล้ว หรือยังแย่อยู่เหมือนเดิม

เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์

Source: https://bit.ly/3JHALPI