‘จงฟังอย่างตั้งใจ’ 5 เคล็ดลับ สู่การเป็นผู้ฟังที่ดี เพื่อเข้าถึงใจผู้คน

Share

การเป็นผู้พูดที่ดี นอกจากจะเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะการทำงานที่ต้องสื่อสารกับผู้คนมากมายที่หลากหลาย ทั้งหัวหน้า ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน ขณะเดียวกัน เมื่อมีผู้พูดก็ต้องมีผู้ฟัง ฉะนั้นการเป็นผู้ฟังที่ดีก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญที่จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงใจของคู่สนทนา

การเป็นผู้ฟังที่ดีอาจทำได้ยากกว่าที่คิด แต่ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะเรียนรู้ นักพฤติกรรมศาสตร์พบว่า การเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้า พัฒนามุมมองต่อโลก หรือแม้แต่เปลี่ยนใจคน โดยมีข้อควรปฏิบัติต่อไปนี้

ตัดสิ่งรบกวนภายนอก

ก่อนเริ่มต้นบทสนทนาอย่าลืมตัดสิ่งรบกวนต่างๆ ออกไป เช่น เก็บโทรศัพท์มือถือ ปิดโทรทัศน์ ปิดเพลง ถอดหูฟังออก เป็นต้น ซึ่งงานวิจัยพบว่า เพียงแค่การมองเห็นโทรศัพท์มือถือก็สามารถทำให้คู่สนทนารู้สึกใกล้ชิดกับผู้เล่าได้น้อยลง

ให้ความสนใจอย่างจริงใจ

หัวใจสำคัญของการสนทนาแบบซึ่งหน้าคือ การสนใจอีกฝ่ายอย่างใจจริง เพื่อทำให้คู่สนทนารู้สึกว่า เราเข้าใจสิ่งที่พวกเขาพูด และการแสดงเจตนาดีต่อคู่สนทนา อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า จะแสดงทีท่าสนใจพยักหน้าไปอย่างส่งๆ โดยนักวิจัยพบว่า เพียงการยิ้มและพยักหน้าระหว่างการฟังนั้น ไม่ได้ผลเท่าไรนัก

สิ่งที่แสดงออกถึงการรับฟังเพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่า เรากำลังสนใจฟังอยู่ นอกจากการจ้องตาหรือพยักหน้าแล้ว จะต้องถามคำถามและใช้ภาษากายที่สื่อถึงความเข้าใจ รวมถึงการแสดงออกถึงความอยากหรือต้องการที่จะเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อด้วย

ระวังการขัดจังหวะ

เมื่อเริ่มสนทนาสิ่งสำคัญคือ พยายามอย่าขัดจังหวะระหว่างคู่สนทนากำลังพูด หากต้องการพูดหรือถามสิ่งใด ให้รอจังหวะที่คู่สนทนาพูดจบเรื่องหรือหยุดพัก โดยถามคำถามปลายเปิดที่เป็นประโยชน์ต่ออีกฝ่าย หรือทำให้บทสนทนาดำเนินต่อไปได้ เช่น “เรื่องเป็นยังไงต่อ” หรือ “แล้วคุณรู้สึกยังไง” เป็นการยืนยันว่า เราตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาพูด และช่วยให้ผู้พูดดำดิ่งไปในความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการจะสื่อ

เงียบสักครู่เพื่อทบทวน

สุดท้าย อย่ากลัวความเงียบ การขอเวลาเพื่อคิดทบทวนในสิ่งที่ฟังหรือขอเวลาคิดคำตอบในคำถามไม่ใช่เรื่องแย่ การหยุดบทสนทนาชั่วครู่เพื่อคิด นอกจากเราจะได้เวลาคิดแล้วยังเป็นการช่วยให้คู่สนทนาได้ทบทวนในสิ่งที่ตนพูดไปด้วยเช่นกัน

สรุปสิ่งที่ฟัง

อีกวิธีที่ยอดเยี่ยมในการแสดงความสนใจและเข้าใจอย่างจริงใจคือ การสรุปสิ่งที่ได้ฟังและถามว่า “พลาดเรื่องอะไรไปหรือไม่” การสรุปเช่นนี้จะทำให้คู่สนทนารู้สึกว่า ที่ผ่านมาเราตั้งใจฟัง และกำลังทำความเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาพูด หากระหว่างการสนทนาบังเอิญคิดเรื่องอื่น ฟังไม่ทัน หรือไม่เข้าใจ ให้ถามเพื่อความกระจ่าง

สิ่งเหล่านี้ เป็นส่วนประกอบเล็กๆ ที่สำคัญ ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อผู้พูดรู้สึกว่ามีคนที่รับฟังอย่างจริงใจ พวกเขาจะมีความพึงพอใจ ความเชื่อมั่น และเชื่อมความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดได้มากขึ้น โดยในที่ทำงาน พนักงานที่รู้สึกว่ามีคนรับฟัง โดยทั่วไปจะมีภาวะหมดไฟน้อยลง และมองผู้ที่รับฟังในแง่ดีมากขึ้นอีกด้วย

งานวิจัยยังพบว่า การฟังที่ดีจะสามารถทำให้คนเปิดใจได้มากขึ้น เป็นการสร้างพื้นที่ซึ่งไร้การตัดสินและให้ความรู้สึกปลอดภัยทางใจ การเปิดใจรับฟังอย่างจริงใจอาจไม่ได้มุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนใจใคร และการสนทนาอาจมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่การรับฟังจะนำไปสู่บทสนทนาที่ลึกซึ้งขึ้นได้ บางเรื่องอาจสร้างความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้อย่างจริงใจ

เขียนโดย: Phoothit Arunphoon

Source: http://bit.ly/3WtrqhT