อนาคตที่ดีอยู่ที่ว่าเราจะเจียระไนปัญหาในอดีตที่พบเจอนั้นอย่างไร?

Share

คอลัมน์: สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก
เขียน: โอมศิริ วีระกุล

จากประสบการณ์ทำงานมาจวบจนเข้าวัย 32 ปีเศษ ผ่านการทำงานมาหลายที่ ซึ่งก็มากพอที่ผมกล้าที่จะบอกว่าไม่มีที่ทำงานแห่งไหนสมบูรณ์แบบหมดหรอก หากจะเปรียบให้เห็นภาพก็อาจลองทำเป็นรายการ Check List เช่น การเดินทาง ตำแหน่งงาน เงินเดือน สวัสดิการ หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และวัฒนธรรมองค์กร

ถ้าหากใครเจอ Check List เหล่านี้แล้วดันทะลึ่งดีหมดทุกข้อ ก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะถือว่าคุณได้ถูกรางวัลใหญ่ที่สุดในชีวิตรางวัลหนึ่ง ฉะนั้น จงรักษามันไว้ให้ดี

ทว่าเงื่อนไขเหล่านี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ตลอดชีวิตการทำงาน ยิ่งเราอายุมากขึ้น เงื่อนไข Check List ของเราจะน้อยลง เนื่องจากเราจะเริ่มติดเงื่อนไขของชีวิตไม่ว่าจะเป็นภาระการเงินที่ต้องรับผิดชอบ อายุงานที่มากขึ้น ตำแหน่งที่สูงขึ้น เงินเดือนที่มากขึ้น จนเริ่มกลัวต่อการริเริ่มในการเปลี่ยนแปลง หรือที่เราเรียกภาวะแบบนี้ว่า Comfort Zone  ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากติดกับดักชีวิตการทำงานแบบนี้

สิ่งที่พอแก้ไขได้สำหรับเรื่องนี้ คือ Mind Set + Learning

โดยส่วนตัวเราเชื่อว่าคำแหล่านี้จะช่วยพยุงและเปิดโอกาสให้ชีวิต มันทำให้เราไม่ได้เป็นคนทำงานประเภท Single Job อย่างเดียว ยิ่งโลกที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับโอกาสที่เปิดพร้อมสำหรับคนที่มีศักยภาพที่หลากหลายมากขึ้นก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างทางเลือกให้แก่ชีวิตไว้หลายเส้นทาง เราเรียกคนที่มีทักษะเหล่านี้ว่า Hybrid Job ซึ่งก็ถือเป็นข้อดีทักษะเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้แก่คนที่อยากทดลองอะไรใหม่ๆ เสมอ

ส่วนข้อเสียนั้นแน่นอนว่ามันมีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อยากจะเขียนถึงคือ การที่คนหนึ่งคนเดินออกจากที่ทำงานไป มันไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ได้เรื่องหรือย่ำแย่จนทำอะไรไม่ได้ เพียงแค่เขาอาจจะไม่เหมาะกับงานหรือสภาพแวดล้อม ณ เวลานั้น  หากมองโลกในแง่ร้าย มันอาจเป็นความล้มเหลวในวันนี้ แต่หากมองโลกในแง่ดี มันคือการไม่เสียเวลากับสิ่งที่ไม่ใช่ และยังถือเป็นการเปิดโอกาสใหม่เพื่อไปพบเจอสิ่งที่เหมาะสมกว่าในอดีต

แน่นอนว่ามีบ้างที่บางครั้งเราจะจมอยู่กับอดีตที่น่าผิดหวังอย่างความทุกข์ ความเศร้า ความไม่เข้าใจ ซึ่งผมก็เคยเป็นกลุ่มคนเหล่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้มาตลอดชีวิตการทำงานจนถึงวัย 32 ปี คือ การมัวแต่มองหาแง่ลบในปัญหาที่เกิดขึ้น มันไม่เคยช่วยให้ชีวิตเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเสียเท่าไหร่

ในทางกลับกัน ถ้าเราลองเรียนรู้และมองหาโอกาสในปัญหาที่เกิดขึ้น นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้เราพบปัญญา และส่งผลให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้

ในส่วนข้อดีที่เรามี ขอให้รักษาเอาไว้ เมื่อใดที่เราเหนื่อยล้าและหมดกำลังใจ การคำนึงและนึกถึงคำชื่นชม จะทำให้เรามีกำลังใจในการจัดการปัญหาในชีวิตในการทำงานต่อไป

จงให้โอกาสกับตัวเองเสมอ ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง เมื่อเขียนถึงเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำครูสอนของ อาจารย์ รุ่งมณี ชุ่มชื่น อดีตของครูประจำชั้นในช่วงมันธยมปลายของผม

สายวันหนึ่งที่โรงเรียน อาจารย์เดินเข้ามาปลอบใจผม ในวันที่รู้ว่าลูกศิษย์ตนนั้นเอนทรานซ์ไม่ติดในคณะที่อยากเรียน

อาจารย์เดินเข้ามาเรียกชื่อผมพร้อมกับปรบบ่าผมอย่างอ่อนโยน แล้วสอนผมไว้ว่า

“ไม่เป็นไรนะโอมศิริ เพชรอยู่ที่ไหนก็เป็นเพชร ซึ่งแต่ละคนต้องรอการเจียระไน บางคนถูกเจียระไนด้วยความผิดหวัง ความเชื่อ ความพยายามแล้วพยายามอีก ซึ่งทั้งหมดที่ครูบอก ล้วนใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้เพื่อตกผลึกไม่เท่ากัน ฉะนั้นไม่ว่าเราจะเจอเรื่องที่เลวร้ายที่สุด หรือดีที่สุดในชีวิตแค่ไหน ให้เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมันทำให้เราสร้างอดีตที่มีคุณภาพต่อการออกแบบเส้นทางชีวิตของเราในอนาคตต่อไป”

เวลาผ่านไปกว่า 14 ปี คำสอนของอาจารย์ รุ่งมณี ย้อนกลับมาสอนลูกศิษย์คนนี้อีกครั้งในฐานะคนวัยทำงานคนหนึ่ง ที่ได้ผ่านการเจียระไนมาระดับหนึ่ง จนเริ่มรู้และเข้าใจความหมายของอาจารย์ที่เคารพและรักที่สุดท่านหนึ่งว่าการเผชิญหน้ากับปัญหาที่เข้ามาในปัจจุบัน เราควรทำให้มันเป็นอดีตที่มีคุณภาพได้อย่างไร