ปฏิเสธไม่ได้ว่า การได้รับโอกาสให้ไต่ขึ้นไปอีกระดับอย่างการเป็น ‘หัวหน้า’ ไม่ได้หมายถึง ความเก่งงานที่ติดตัวเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมีทักษะ ‘เก่งคน’ ควบคู่กันด้วย อำนาจที่มาพร้อมกับตำแหน่งแห่งที่ที่ไม่คุ้นชิ้น จะสั่งลูกน้องทำอะไรก็ได้ จัดการนู่น ดูแลนี่ตามใจอยาก
แต่พอเอาเข้าจริงๆ บางคนกลับพบว่า ไม่ใช่เรื่องที่เวิร์กเท่าไร เพราะต้องแลกมาด้วยความไม่ค่อยสมัครใจ ซึ่งถ้าเปรียบ ก็เหมือนเวลาที่เรากำลังจะไปอาบน้ำ แต่พอแม่ตะโกนสั่ง เลยเกิดความรู้สึกไม่อยากทำ จากที่จะลุกไปอาบอยู่แล้วกลายเป็นว่านั่งแช่ที่โซฟาต่อไปเรื่อยๆ
เช่นเดียวกัน ในโลกของการทำงาน ลูกน้องบางคนก็ไม่ชอบถูกสั่ง การบริหารให้ลูกน้องทำงานด้วยความเต็มใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคนี้ เนื่องจากช่วยให้งานเป็นไปอย่างราบรื่น แฮปปี้ทั้ง 2 ฝ่าย แถมบางทีหัวหน้าก็อาจจะได้ข้อมูลบางอย่างที่เป็นประโยชน์ ซึ่งตามปกติ ลูกน้องไม่มีความจำเป็นต้องบอกด้วยซ้ำ
แล้วถ้าไม่ชอบชี้นิ้วสั่งใคร แต่อยากให้ลูกน้องทุ่มสุดตัวกับงานต้องทำยังไงบ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะมาแนะนำสุดยอด 4 วิธีบริหารจากหนังสือ Leading Without Authority ของเคท เฟอร์ราซซี (Keith Ferrazzi) กัน
1. ให้ความสำคัญกับ ‘เป้าหมายร่วม’
ไม่ว่าใครก็มี ‘คุณค่า’ บางอย่างในชีวิตที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษอยู่แล้ว โดยก็อาจจะต่างกันไปตามแต่ละคน ในฐานะหัวหน้า ควรหยิบสิ่งเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลองพูดคุยแล้วหาแรงจูงใจที่ ‘ตรงกัน’ ดูว่าพอจะมีแนวทางไหนบ้างที่จะเดินไปด้วยกันได้ ให้งานเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งเสริมเป้าหมายของพวกเขา ไม่ใช่เพียงการรับเงินเดือนไปวันๆ เท่านั้น
2. ฉลองความสำเร็จเล็กๆ ของพวกเขา
เพราะความยิ่งใหญ่ล้วนเกิดมาจากความสำเร็จเล็กๆ แน่นอนว่า แม้สมการที่มากกว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า ความน้อยนิดจะไม่มีค่าโดยปริยาย หากลูกน้องทำอะไรบางอย่างสำเร็จ ที่ถึงจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ให้หาโอกาสชื่มชมอย่างจริงใจ ทำให้พวกเขารู้สึกว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่มีคนเห็นคุณค่า เพราะตินั้นง่ายกว่าชม ติมาเยอะแล้ว งั้นเปลี่ยนมาชมเยอะๆ บ้าง แล้ววันนี้คุณชมลูกน้องบ้างหรือยัง?
3. แชร์ความเปราะบางของกันและกัน
ในวันที่เหนื่อยล้า ฟ้าถล่ม เป้าหมายเลือนลาง โดนเจ้านายใหญ่ว่า หรือลูกค้าบ่น ถ้าไม่ไหวก็ไม่ต้องฝืน เหนื่อยก็บอกไปตรงๆ ไม่มีใครเคยบัญญัติเอาไว้สักหน่อยว่า เป็นหัวหน้าต้องเข้มแข็งตลอดเวลา เราเป็นมนุษย์ มีความรู้สึกนึกคิด ไม่แปลกเลยที่จะเกิดความรู้สึกแบบนี้
แชร์ความเปราะบางที่มีออกไป กังวลอะไรก็เล่า ไม่ต้องเก็บไว้คนเดียว เพราะก็ไม่แน่หรอกว่า มันอาจจะช่วยเชื่อมโยงคุณกับลูกน้องให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้งานต่างๆ ลื่นไหล ไม่มีสะดุด โดยที่ไม่ต้องชี้นิ้วสั่งก็ได้
4. ใส่ใจ และดูแลกัน
ใส่ใจ และดูแลในที่นี้อาจจะไม่ต้องถึงขั้น ‘บริษัทเราอยู่กันแบบครอบครัว’ ซะทีเดียว แต่ต้องเป็นบรรยากาศการทำงานที่ทุกคนรู้สึกผ่อนคลาย ได้เป็นตัวเอง ทั้งเรื่องงาน และจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามสังเกตปัญหา อุปสรรคต่างๆ การพูดคุยแบบตัวต่อตัว รวมไปถึงการประชุมรวมแลกเปลี่ยนเรื่องราวตลอดสัปดาห์ก็เช่นกัน
สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครชอบการถูกสั่ง บงการ หรือบังคับให้ทำตามหรอก หากหัวหน้าอยากใ่ห้ลูกน้องทุ่มสุดตัว ก็ต้องทุ่มสุดตัวสร้างทั้ง 4 ข้อด้านบนให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งหากทำสำเร็จ เป้าหมายงานอีกนับสิบนับร้อยที่ยากเย็นแค่ไหน ก็ไม่เกินเอื้อมถึงอย่างแน่นอน!
Source: https://bit.ly/3vnLWFg