หน้าที่ของหัวหน้า คือการสนับสนุนให้ทีม ‘เติบโต’ 10 สิ่งที่ลูกน้องอยากได้จากงาน อยากนำให้ดีต้องอ่าน!

Share

“ก่อนที่คุณขึ้นมาเป็นหัวหน้า ความสำเร็จคือการพัฒนาตัวเอง แต่หลังจากที่คุณขึ้นมาเป็นหัวหน้า ความสำเร็จคือการทำให้คนอื่นได้เติบโต”

นี่คือคำกล่าวของแจ็ค เวลช์ (Jack Welch) ซีอีโอระดับตำนานของอาณาจักรเจเนอรัล อิเล็กทริกส์ (General Electric) ที่ขึ้นชื่อว่า เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้มองเผินๆ ภาพการเป็นหัวหน้าจะดูสวยหรู มีอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆ ง่าย สบายก็ตาม แต่แท้จริงแล้ว กลับมีรายละเอียดความรับผิดชอบมากกว่าที่คิด เพราะหน้าที่หลักไม่ใช่แค่การเก่งงานเท่านั้น แต่ต้องเก่งคน ดูแล และสนับสนุนให้ลูกน้องได้เติบโตด้วย

แล้วเราจะสนับสนุน และดึงศักยภาพของลูกน้องออกมาได้ยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดู 10 สิ่งที่ลูกน้องอยากได้จากงานโดยริก คอนโลว์ (Rick Conlow) ซีอีโอผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจมากว่า 26 ปีกัน รับรองว่า ถ้าอ่านจบแล้วนำไปปรับใช้ คุณจะกลายเป็นสุดยอดหัวหน้าที่แท้จริง ไม่ใช่คนที่มีตำแหน่งสูงกว่าเฉยๆ อีกต่อไป!

1. ความคาดหวัง และเป้าหมายที่ชัดเจน : รู้ว่าทำไปทำไม?

งานที่ดี มีความหมายคืองานที่รู้ว่า ‘ทำเพื่ออะไร?’ การทำงานที่ไร้เป้าหมาย ไร้ความชัดเจนก็ไม่ต่างอะไรจากไม้ตายซากไปวันๆ ดังนั้น ต้องบอกเป้าหมาย และหาจุดร่วมระหว่างเป้าหมายของงานกับความคาดหวังของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี ทำความเข้าใจให้ตรงกัน ให้พวกเขารู้ว่า ที่ตื่นขึ้นมาทำๆ ทุกวัน ตื่น และทำไปทำไม?

2. การยอมรับ และความชื่นชม : ทำแล้ว ‘มีคนเห็นหัว’

ทฤษฎีบันได 5 ขั้น ลำดับความต้องการมนุษย์ของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ได้มีการกล่าวถึงขั้นที่ 3 ไว้ว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็ต้องการความรัก และการยอมรับจากสังคม

ลึกๆ แล้ว ไม่ว่าใครก็อยากได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างเหมือนกันหมด ทว่า ในบางครั้งหัวหน้าบางคนก็มองข้ามสิ่งนี้ไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่อาจเกิดจากความเคยชินหรือความรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแสดงออกก็ตาม ที่จริงแล้ว เรื่องนี้สำคัญมาก

เมื่อไรที่พวกเขาทำดี ให้แสดงออกถึงการยอมรับผ่านคำชม ไม่ต้องกลัวว่า ลูกน้องจะเหลิง ได้ใจ เพราะยิ่งพวกเขารู้สึกดีมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีแรงใจ ผลักดันไปสู่เป้าหมายใหม่ๆ ให้สำเร็จมากขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงนี่อาจเป็นตัวชี้ชะตาเลยว่า พวกเขาจะอยู่ทนหรือไม่ทนอยู่ หรือสรุปง่ายๆ ว่า ‘ทำดีแล้วต้องได้ดี ทำดีแล้วต้องมีคนเห็นหัว’ นั่นเอง

3. การสื่อสาร : คุยรู้เรื่อง ไม่ งง ชีวิต

อันที่จริงสิ่งนี้ถือเป็นหัวใจหลักของการทำงานเลยก็ว่าได้ ทั้งตำแหน่งงานที่ต้องคุยกับคนจำนวนมากหรือน้อย ก็ล้วนแต่ต้องสื่อสารกับคนในทีมด้วยกันหมด เพราะฉะนั้น การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพควรมีความชัดเจนพอๆ กับเป้าหมายในข้อแรก เพื่อป้องกันโอกาสผิดพลาด และปัญหาอื่นที่ตามมา

หัวหน้าควรสื่อสาร และกำหนดช่องทางให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น การให้ฟีดแบ็คที่ควรสื่อสารกันแบบตัวต่อตัวมากกว่าการพิมพ์ข้อความหรือการประชุมรวม เป็นต้น อีกทั้งอุปสรรคอย่างออนไลน์ การ Work from home ก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวว่า ประสิทธิภาพการสื่อสารนั้นต้องลดตามไปด้วย

4. ความก้าวหน้า และการเติบโต : ทำแล้ว ‘โต’

ประเด็นนี้เป็นคีย์เวิร์ดยอดฮิตที่คนทำงานทุกระดับต่างให้ความสำคัญ การให้พวกเขาติดอยู่ในตำแหน่งแห่งที่เดิม ไม่ดึงศักยภาพ และไม่พัฒนาทีมนับเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจโบกมือลาด้วยเหตุผลที่ว่า ‘เหนื่อยก็พัก เขาไม่เห็นค่าก็พอ’ และมีตอนจบของความสัมพันธ์เฉกเช่น ‘การแยกย้ายกันไปเติบโต’

ฉะนั้น ตราบใดที่เข็มนาฬิกายังหมุนวน จงทุ่มเทใช้ทุกนาที ทุกชั่วโมงอย่างคุ้มค่า พัฒนาพวกเขาให้เติบโต มอบหมายงานให้ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อที่ว่า วันหนึ่งพวกเขาจะได้รันวงการแทนเราได้

5. ความเชื่อใจ : ไว้ใจกันบ้างรึเปล่า?

ปฏิบัติกับลูกน้องอย่างมืออาชีพ ให้เกียรติพวกเขา ไม่ก้าวก่าย รู้จักไว้ใจให้เป็น ไม่มองว่า ตัวเองอยู่เหนือกว่า ส่วนลูกน้องนั้นด้อยกว่า หากทำอะไรผิดพลาดหรือสัญญาอะไรไว้ ก็ควรรักษาคำพูด และยอมรับผิดแต่โดยดี

6. ความรับผิดชอบ : คอยแนะ คอยสอน ไม่โยนลงทะเลทันที

หัวหน้าก็คล้ายกับโค้ชที่มีหน้าที่คอยปลุกปั้นทีมให้เก่งแล้วไปรันวงการต่อ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มาถึงแล้วจะเก่งทันที ในฐานะหัวหน้าจึงควรคอยแนะ คอยสอนงานพวกเขา หมั่นถามไถ่ถึงความเป็นไปอยู่เสมอ และเมื่อเกิดปัญหา ให้สอนให้พวกเขาคิด แก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก

7. ความเคารพ : หัวหน้าที่เคารพ เคารพกันบ้างไหม?

ขึ้นชื่อว่า เป็นหัวหน้าที่ต้องนำลูกน้อง สิ่งต้องห้ามอย่างแรกๆ ก็คือ ‘ความลับ’ เพราะหากมีกับลูกน้องบางคนแล้วก็อาจทำให้ลูกน้องคนอื่นรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเคารพจากหัวหน้าที่พวกเขาต่างเคารพรักเสมอมา และทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนนอกสายตาที่ไม่มีความสำคัญ

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะวัยไหนหรืออายุต่างกันเท่าไร ก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เปิดเผย จริงใจ และอย่างที่เน้นไปในข้อ 5 ว่า ถึงแม้พวกเขาจะมีตำแหน่งเล็กกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า หัวหน้าจะด้อยค่า ปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เกรงใจได้

8. ความภูมิใจในงาน : พูดได้เต็มปากว่า ‘นี่คืองานของเรา’ และไม่อายที่จะโชว์ใคร

สร้างบรรยากาศ และรูปแบบการทำงานที่ดี ให้อิสระลูกน้องได้ลงมือทำอย่างเต็มที่ กระตุ้นให้พวกเขายกระดับขีดความสามารถ ฝีมือไปอีกระดับ ส่งเสริม คอยชี้แนวทางที่เป็นประโยชน์ ทำให้ทีมเต็มไปด้วยบรรยากาศการทำงานที่สนุก ถึงแม้งานจะเหนื่อยหรือหนักก็ตาม

9. การเรียนรู้ : ทำงานเหนื่อยแล้วเก่งขึ้นด้วยรึเปล่า?

ลองย้อนกลับมาถามตัวเองว่า งานที่ให้ลูกน้องทำ เหนื่อยแค่ไหน แล้วเหนื่อยที่ว่า ทำให้เก่งขึ้นด้วยรึเปล่า? เพราะสุดท้ายแล้ว การทำงานคือการเรียนรู้ ทุกครั้งที่ใครสักคนตั้งใจ ทุ่มเททำ มันควรสอน ควรทำให้เขาเติบโตไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกลับด้วย หัวหน้า และบริษัทจึงควรให้น้ำหนักกับเรื่องการพัฒนาทักษะ ความสามารถ เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

10. ความสำเร็จ : ‘จับต้องได้’ ใช้ความสามารถอย่าง ‘ถูกที่ ถูกทาง’

ความสำเร็จนั้นหอมหวาน ใครๆ ต่างก็อยากไปยืนอยู่ตรงจุดนั้น หัวหน้าต้องไม่เพียงแค่ออกคำสั่ง แต่ต้องเก่งคน รู้จักใช้คนให้ ‘ถูกที่ ถูกทาง ถูกความสามารถ’ ด้วย รวมไปถึงต้องตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ อยู่บน ‘พื้นฐานของความเป็นจริง’ ไม่ง่ายเกินไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เกินกำลังจนทำให้ลูกน้องมีทัศนคติแย่ๆ กับงาน

ในศาสนาคริสนาคริสต์จะมีหลักบัญญัติ 10 ประการที่ชาวคริสต์ใช้ในการดำเนินชีวิต 10 สิ่งนี้ในโลกของการทำงานก็เช่นกัน ถ้าหัวหน้านำไปปรับจูน หาแนวทางร่วมกันกับลูกน้อง สุดท้ายแล้ว ใจของทุกฝ่ายจะฟูฟ่อง พร้อมทำงานในทุกวัน และถึงแม้ ‘ตำแหน่งจะอยู่กับเราไม่นาน แต่ตำนานจะอยู่กับคุณตลอดไป’ อย่างแน่นอน!

Source: https://bit.ly/3FWF5aT