ภาพการโดนตามงานนอกเวลา การปั่นงาน และประชุมหามรุ่งหามค่ำถือเป็นหนึ่งในความปกติใหม่ที่จริงๆ แล้ว ‘ไม่ปกติ’ ของออฟฟิศหลายแห่ง ทุกวันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่เชิดชูการทำงานหนัก รู้สึกว่า เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ และมีคุณค่าในสายตาของคนอื่น
เช่นเดียวกัน อย่างฝั่งอเมริกาเองก็มีแนวคิด ‘We live to work.’ ไม่ต่างจากบางคนในบ้านเรา โดยพวกเขามองว่า ทุกคนต่าง ‘ใช้ชีวิตเพื่อทำงาน’ มากกว่าการทำงานเพื่อสนุกกับชีวิต สิ่งเดียวที่จะทำให้เกิดความสำเร็จได้ คือ การทำงานอย่างหนัก และยิ่งทำงานหลายชั่วโมงมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจในตัวเองมากขึ้นด้วย เพราะที่แน่ๆ เจ้านายสุดที่รักก็คงตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยเหล่านี้ด้วยการเลื่อนตำแหน่งหรือโบนัสเล็กๆ น้อยๆ
ทว่า หากย้อนกลับมาดูอีกหนึ่งบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตอย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนล่าสุด ชายที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี และเป็นเจ้าของสถิติ ‘เพอร์เฟกต์ออลคิล (Perfect All Kill)’ ทุกเขตแล้ว จะพบว่า เขาไม่เคยนั่งทำงานถึงดึกๆ ดื่นๆ ด้วยซ้ำ พอเลิกงานตอน 6 โมงเย็นก็เด้งตัวกลับบ้านทันที และเตรียมพร้อมกลับมาทำต่อในวันรุ่งขึ้นตอน 9 โมงเช้าอีกครั้ง
เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน สมัยที่ยังเป็นผู้บริหารบริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (Q House) ชัชชาติเคยให้สัมภาษณ์กับอะเดย์ บูเลติน (a day BULLETIN) เกี่ยวกับการทำงานดึกที่ออฟฟิศไว้ว่า เขามักบอกลูกน้องทุกคนเสมอว่า ในโลกของการทำงาน เราไม่ได้ทำงานให้ Q House แต่เราทำงาน ‘เพื่อดูแลครอบครัวของเราเอง’ ดังนั้น ไม่ต้องคิดว่ามีหนี้บุญคุณซึ่งกันและกัน เราทำงานกันแบบมืออาชีพ ‘เพื่อตัวเอง’ มาทำงานด้วยกันเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลคนที่เรารัก
ชัชชาติแสดงความเห็นไว้ว่า หากเขาเห็นลูกน้องนั่งทำงานหนึ่งถึงสองทุ่มทุกวัน นี่เป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะนั่นแปลว่า บริษัทใช้งานลูกน้องมากเกินไป หรืออีกนัยหนึ่งคือ ประสิทธิภาพการทำงานของลูกน้องคนนั้นอาจยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร และถ้าต้องกลับบ้านดึกทุกวัน ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ความทุ่มเทที่ทำลงไปทั้งหมดก็สูญเปล่า
ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามซะทีเดียว แต่เขามองว่า องค์กรควรมีตัวชี้วัดในการทำงานให้เสร็จในกรอบเวลาด้วย นอกจากนี้ ชัชชาติก็จะไม่ปล่อยให้ลูกน้องทำงานถึงดึก ไม่กวนให้ต้องทุ่มเทกันถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่งแบบนี้เป็นอันขาด
เขาบอกว่า แนวคิดในการดูแลคนของคาซูโอะ อินาโมริ ผู้บริหารเจแปนแอร์ไลน์ ถือเป็นหนึ่งในแนวคิดที่ตนชื่นชอบ โดยก็ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า “เราต้องดูแลลูกน้องให้ดีก่อน ลูกน้องถึงจะดูแลบริษัทให้เราเอง” เพราะการเอาเวลาไปดูแลครอบครัว ปัญหาในสังคมส่วนรวมก็จะลดลง ซึ่งถ้าทุ่มเทจนไม่มีเวลา ท้ายที่สุดแล้ว พอครอบครัวมีปัญหา สิ่งนี้ก็จะย้อนศรกลับมาที่ลูปภาพรวม
โดยแนวคิดดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีอำนาจมากมาย สามารถชี้นิ้วสั่งลูกน้องได้ทันที แต่เขากลับรู้จัก ‘เคารพในขอบเขต และเวลาของผู้อื่น’ ปล่อยให้ลูกน้องได้มีเวลาพักผ่อนอย่างที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมชัชชาติถึงกลายเป็นผู้นำตลอดกาลในใจของหลายๆ คนได้อย่างง่ายดาย
ในวันที่สังคมเอาแต่ถามหา ‘ความสำเร็จ’ ต้องทุ่มสุดตัว ถวายวิญญาณให้งาน ต้องประสบความสำเร็จ มีสิ่งต่างๆ ภายในอายุ xx ปี ให้ได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องพาลูกน้องวิ่งไปพร้อมกับกระแสพวกนั้นเสมอไปก็ได้ เลิกงานแล้วก็ ‘พัก’ หยุด War Time หยุดสมอง หยุดลิดรอนสิทธิ์ในร่างกายของคนอื่น
ถึงแม้การทำงานหนักในวันนี้จะทำให้สบายในวันหน้า แต่ลองคิดกลับกันว่า ร่างกายของเรา และลูกน้องจะรอสบายไปถึงวันหน้าด้วยรึเปล่า และถึงที่สุดแล้ว มันจะไปจบลงที่ตรงไหนกันแน่?
งานที่ดีต้องทำให้ชีวิตทุกคนดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง เราทำงานเพื่อเอาเงินไปใช้ชีวิต ไปซื้อความสุข ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อทำงาน ลูกน้องเองก็ไม่ต่างกัน
Sources: https://bit.ly/3LJLXJH