‘สปิริตที่เหมือนกัน’ ทำให้ MIT Media Lab เลือกจับมือกับ KBTG สร้างความร่วมมือในการทำวิจัยเพื่ออนาคต และเป็นครั้งแรกที่ MIT Media Lab ร่วมกับ KBTG และธนาคารกรุงเทพ ยกแล็บจากสหรัฐอเมริกา มาจัดเป็นงานสัมมนา MIT Media Lab Southeast Asia Forum ที่กรุงเทพ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเปิดเซสชันพูดคุยกันถึง 2 วันเต็มในด้านต่างๆ ทั้ง AI, Augmented Reality, Smart City ฯลฯ โดยได้ผู้อำนวยการ MIT Media Lab ซึ่งเป็นถึงอดีตผู้บริหาร NASA มาขึ้นเวทีเล่าถึงสิ่งที่กำลังพัฒนาให้ฟังอีกด้วย
ที่ผ่านมา การทำรีเสิร์ชอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวในประเทศไทย แต่สำหรับต่างประเทศ มันเป็นเรื่องที่หลายสถาบันให้ความสำคัญ และมองว่าเป็น ‘การลงทุนระยะยาว’ เช่นที่ MIT Media Lab แล็บรีเสิร์ชระดับโลก พวกเขาผลิตเทคโนโลยีโดยนำเอาหลายศาสตร์มาศึกษาผสมผสานกัน เช่น Art, Science, Design, Engineering เพื่อสร้างสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตผู้คนได้จริง และถ้าบอกว่า MIT Media Lab คือผู้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมเปลี่ยนโลกอย่าง Google Maps หลายคนก็คงร้องอ๋อ…ออกมาแน่ๆ
เพราะการมองว่าการทำวิจัยคือการลงทุนระยะยาว เป็นมายเซ็ท (Mindset) ที่ตรงกันกับ KBTG (กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป) องค์กรเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย เชื่อว่าการคอลแล็บกันของทั้งสองในครั้งนี้จะต้องมีอะไรเจ๋งๆ ด้านการเงิน ผลิตออกมาตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้ใช้อย่างแน่นอน
“MIT Media Lab เขาทำรีเสิร์ชไม่ได้ตั้งคำถามจาก ทำไปทำไม? แต่เขาถามกลับว่า ทำไมถึงไม่ทำล่ะ” คุณกระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล Group Chairman, KASIKORN Business-Technology Group บอกเล่าให้ฟัง “ซึ่งมันเป็นวิธีคิดแบบเดียวกับเราเลย และเขาไม่ได้มองระยะสั้น แต่มองไปข้างหน้าร้อยๆ ปีเลย เขาพูดถึงอนาคตของโลกข้างหน้าว่าจะมีอะไรบ้าง และกระทบยังไง”
สิ่งที่คุณกระทิงบอกเป็นเรื่องที่ คุณพีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร เห็นด้วยอย่างยิ่ง เขาเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ปัจจุบันได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในทีม MIT Media Lab Researcher ด้าน Fluid Interfaces Group และเป็น KBTG Fellow ได้รับทุนวิจัยจาก KBTG – เขาสนใจไดโนเสาร์มาแต่เด็ก และความคลั่งไคล้นั้นก็พาเขาไปถึงระดับ Global เขาบอกว่า วิธีการทำรีเสิร์ชของ MIT Media Lab สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากคนที่นั่นคือ “วัฒนธรรมที่แข็งแรง จะเหนือกว่ากลยุทธ์เสมอ” เพราะวัฒนธรรม = คนทำงาน
“วัฒนธรรมที่ดีของการทำงานจะทำให้ได้เทคโนโลยีที่ดี ที่นั่นเชื่อว่าโปรเจกต์ที่เกิดจากแพสชันจะออกมาได้ดี และดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการทำงานกับ KBTG เหมือนกับ Extension-office ของ Media Lab เลย เหมือนทำงานอยู่ที่ต่างประเทศไม่ใช่ประเทศไทย มันเป็นการทำงานที่ Seamless ทุกคนอยากทำเพราะมีแพสชันในการทำงานอย่างยิ่ง” คุณพีพี เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
ความร่วมมือกันในด้านรีเสิร์ชและดาต้าระหว่าง KBTG x MIT Media Lab จะเป็นในลักษณะการทำวิจัยร่วมกันโดย KBTG ส่งนักวิจัยไปร่วมทำกับ MIT Media Lab ขณะเดียวกันการดึง Media Lab มาจัดงานที่ไทยร่วมกับพันธมิตรบริษัทไทยอื่นๆ พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้ “อันที่จริงเราเห็นคนไทยให้ความสนใจมากในด้านวิทยาศาสตร์ เพียงแค่ในแวดวงคนไทย ขาดคนเก่งที่ Connect คนเก่งไว้ด้วยกัน เราเชื่อว่าถ้าทำได้ สร้างภาพใหญ่ได้ ก็สามารถสร้างอะไรเปลี่ยนประเทศไทยได้” ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director, KBTG Labs บอกเป้าหมายในการพาร์ตเนอร์กับ MIT Media Lab
ด้าน ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงศ์ Principal Research Engineer เสริมว่า KBTG อยากเป็นบริษัทไทยที่สามารถเชื่อมกับ MIT Media Lab และสร้าง Ecosystem ที่รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีให้ไปได้ไกลสำหรับประเทศไทย “ในอนาคต เราอยากสร้าง หรือรวมบริษัทต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน มาช่วยกันต่อยอดการทำรีเสิร์ช แต่ละคนถนัดคนละอย่าง ซึ่งทำให้สเกลการทำงานมันจะไม่ได้เริ่มจากศูนย์”
ทั้งนี้ สิ่งที่เราน่าจะได้เห็นจากการ Collab ของ KBTG x MIT Media Lab มีหลายอย่างที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการเงินที่เป็นแกนหลักของ KBank ในอนาคตเราจะได้เห็นการเข้ามาของ AI ในโลกของการเงินมากขึ้น เช่น เรื่องของ Facial Recognition หรือ Natural language Processing (NLP) การที่ AI สามารถสื่อสารภาษามนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งสามารถปรับใช้กับ Call Center หรือบริการต่างๆ ที่ปัจจุบันทำโดยพนักงานได้
อย่างไรก็ตามคุณกระทิงบอกว่า การรีเสิร์ชและพัฒนาของ KBTG ไม่ได้มุ่งเน้นการทำให้ AI มาทดแทนแรงงานมนุษย์ แต่เทคโนโลยีจะต้องช่วยเหลือมนุษย์ “เทคโนโลยีต้องขยายขีดความสามารถมนุษย์ ไม่ใช่การแทนที่มนุษย์นะ เพราะถ้าทำคนตกงานมันก็ไม่มีประโยชน์ไง เราเชื่อว่ามนุษย์กับเทคโนโลยีจะอยู่ร่วมกัน” คุณกระทิง กล่าวทิ้งท้าย