‘ยืนยันเปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยีและการศึกษา’ KBTG ประกาศหนุนทุนวิจัย KBTG Fellowship ครั้งแรก สำหรับ MIT Media Lab

Share

จุดเริ่มต้นจากการพูดคุยระหว่าง ‘กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล’ ประธานกลุ่ม KBTG ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director Kasikorn Labs กับ ‘พัทน์ ภัทรนุธาพร’ ชายหนุ่มที่เป็นที่รู้จักจากการเป็นเด็กไทยคนแรกในสาขา Fluid Interfaces ที่ทำงานวิจัยด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ อยู่ใน MIT Media Lab ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ศูนย์วิจัยนวัตกรรมเพื่อโลกอนาคต’

ทำให้ ‘กระทิง’ เห็นโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการไปสู่ระดับภูมิภาคให้กับบริษัทและประเทศไทย ตอนนั้น KBTG จึงตัดสินใจเข้าร่วม MIT Media Lab Research Consortium เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยด้านบริการทางการเงินยุคอนาคต

ภายในปลายปี 2565 นี้ KBTG เตรียมส่งนักวิจัยอีก 1 คนไปร่วมวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI), UX/UI (User Experience/User Interface) และเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ MIT Media Lab แล้ว

KBTG เชื่อว่า ‘ความเชี่ยวชาญ’ ของ MIT Media Lab ที่ไม่เคยกลัวกับการก้าวเข้าไปสู่พรมแดนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ KBTG จึงได้ตัดสินใจสนับสนุน ‘ทุนวิจัย’ แบบ Fellowship ให้กับนักศึกษาวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาของ MIT Media Lab ภายใต้ชื่อ ‘KBTG Fellow’

‘ทีม-ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล’ Managing Director ของ KBTG อธิบายถึงความพิเศษของทุนวิจัยแบบ Fellowship ว่า เป็นทุนการศึกษาประเภทที่เปิดกว้างให้ผู้ได้รับทุนวิจัยสามารถกำหนดหัวข้อวิจัยเองได้ ในขอบเขตการศึกษาที่ผู้ให้ทุนวิจัยและผู้ได้รับทุนวิจัยตกลงกัน โดยผู้ให้ทุนวิจัยต้องมั่นใจและไว้ใจว่า ผู้ได้รับทุนจะสามารถสร้างผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์กับผู้ให้ทุนวิจัยได้ นับเป็นทุนวิจัยระดับสูงสุดในทุกประเภท

KBTG เป็นบริษัทเทคฯ แรกในประเทศไทยที่ร่วมกับ MIT Media Lab ให้ทุนวิจัยจากความร่วมมือ แบบ Fellowship โดยเรียกทุนวิจัยนี้ว่า KBTG Fellowship

KBTG Fellowship จะพิจารณาสิทธิ์ให้กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทุนหลังปริญญาเอก รองดุษฎีบัณฑิต นักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัย หรือตำแหน่งเทียบเท่าของ MIT Media Lab โดยมีการทำวิจัยด้านเทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับพันธกิจของ KBTG และธนาคารกสิกรไทย ที่ผ่านการพิจารณาจาก KBTG และ MIT Media Lab ทุนมีระยะเวลา 2 ปี และอาจได้รับการต่ออายุตามข้อตกลงต่อไป

และแน่นอนว่าผู้ได้รับทุนวิจัย KBTG Fellowship ทุนแรกจะเป็นใครไปได้ นอกจาก ‘พัทน์ ภัทรนุธาพร’ ผู้สร้างแรงบันดาลใจและทำให้ KBTG ได้เริ่มต้นงานกับ MIT Media Lab

โดย ‘กระทิง’ ยืนยันว่า ‘พัทน์’ คนนี้มีความสามารถในระดับที่ว่า “ถ้าสมัยผมเด็กๆ เก่งได้สัก 1 ใน 3 ของน้อง ผมจะดีใจมาก” KBTG จึงหวังว่าจะสามารถส่งเสริมให้เด็กไทยคนนี้สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับคนไทยและคนทั่วโลก KBTG รู้สึกยินดีมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนคนไทยที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีได้เติบโตในเวทีโลก

“นอกจากการสร้างเทคโนโลยีดีๆ เราอยากเปลี่ยนประเทศไทยด้วยการศึกษา เรามีคนไทยเก่งๆ เยอะมาก เราอยากสนับสนุน ช่วยเหลือ เป็นลมใต้ปีก ให้ KBTG Fellowship นี้ทำให้คนเหล่านั้นไม่ต้องกังวลอะไรอีกแล้ว ให้คนไทยที่กำลังไปได้ไกล ไปไกลยิ่งขึ้น และไปให้ไกลที่สุดตามความฝันของเขา เพราะเขาคือตัวแทนประเทศนี้ สิ่งนี้เป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ของ KBTG ครับ” กระทิงกล่าว

ส่วน ‘พัทน์’ เองรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ร่วมค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในความร่วมมือระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab เพราะเขาเชื่อว่าจะสามารถนำงานที่ตอนนี้อาจจะดูเป็นโลกอนาคตมาสู่สังคมไทยได้ แม้หลายคนจะคิดว่าไอเดียใหม่พวกนี้ดูบ้ามากๆ แต่เขาไม่อยากให้ลืมว่า ในตอนที่ MIT Media Lab ทำจอสัมผัสครั้งแรก ทำ Google Map ครั้งแรก ทำ Wearable Technology ครั้งแรกก็มาก่อนยุคทั้งนั้น แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้เชื่อในการลงทุนเพื่ออนาคต และ KBTG เองได้ก้าวมาสู่สเตปนั้นแล้ว

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ยิ่งใหญ่ของ KBTG หรือ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป บริษัทเทคโนโลยีที่เป็นขุมพลังเบื้องหลังความสำเร็จของธนาคารกสิกรไทย โดยน่าจับตามองมากๆ ว่า KBTG Fellowship นี้จะสร้างสิ่งใหม่แบบไหน และสร้างแรงกระเพื่อมมากน้อยแค่ไหนในวงการเทคโนโลยีโลกต่อไป