จาก ‘ฟาร์มไหม’ สู่ ‘ฟาร์มทัวร์’ แหล่งท่องเที่ยวเกษตรยั่งยืน – วัฒนธรรมอีสาน

Share

“จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีชาวอีสาน รวมทั้งการผลิตผ้าไหม การทำเกษตรอินทรีย์ ที่มีส่วนร่วมในการฟื้นฟู อนุรักษ์ ส่งเสริม เรียนรู้ ร่วมพัฒนาชุมชน และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”

เสียงบรรยายทักทายจากไกด์ หลังรถบัสนำทัวร์เริ่มเคลื่อนที่สู่เส้นทางท่องเที่ยว ‘จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์’ ของ ‘จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม’ (Jim Thompson Farm) ประจำปี 2565 ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ภายใต้ชื่องาน ‘มาโฮมมาต้อน สะออนดอกไม้’

จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม พื้นที่กว่า 720 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างเขาพญาปราบและอ่างเก็บน้ำลำสำลาย ในตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ได้เนรมิตประดับตกแต่งพื้นที่ให้งดงามไปด้วยพืชนานาพรรณ ดอกไม้ สถาปัตยกรรมอีสาน และงานศิลปะร่วมสมัย รวมถึงกลิ่นไอศิลปะ วัฒนธรรมอีสาน อันงดงามที่อบอวลเคล้าลมหนาวในเดือนสุดท้ายของปี พร้อมสะกดทุกคนที่เยี่ยมชมให้อยู่ในภวังค์

รู้จักกับ ‘จิม ทอมป์สัน’

จิม ทอมป์สัน หรือ เจมส์ แฮริสัน วิลสัน ทอมป์สัน (James Harrison Wilson Thompson) คือ ชายชาวอเมริกัน เกิดเมื่อปี 2449 ที่รัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา เป็นอดีตหน่วยโอเอสเอส (Office of Strategic Service: OSS) หรือหน่วยสืบราชการลับ (ภายหลังเปลี่ยนเป็น ซีไอเอ (Central Intelligence Agency: CIA) ซึ่งผันตัวมาประกอบกิจการผ้าไหมในประเทศไทย และก่อตั้ง ‘บริษัท อุตสาหกรรม ไหมไทย จำกัด’ เมื่อปี 2491 ก่อนจะหายตัวไปอย่างเป็นปริศนาในบ่ายวันที่ 26 มี.ค. 2510 ขณะเดินทางไปมาเลเซีย

นอกจากอุตสาหกรรม ไหมไทยแล้ว ปัจจุบันอาณาจักร ‘จิม ทอมป์สัน’ ยังประกอบไปด้วย แบรนด์ผ้าไหม จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson), พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson House Museum), หอศิลป์จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center), มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน (James H.W. Thompson Foundation), ห้องสมุด วิลเลียม วอร์เรน (William Warren Library) และ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม (Jim Thompson Farm) เป็นต้น

จาก ‘ฟาร์มหม่อนไหม’ สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

Future Trends ได้พูดคุยกับ ‘ต้อง บุตรศรีชา ผู้จัดการ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม’ ถึงที่มาและเบื้องหลัง ‘จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์’ แปลงเกษตรและสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งให้ความสำคัญกับความงาม ชุมชน และความยั่งยืน

ต้อง บุตรศรีชา เล่าว่า “ช่วงปี 2531 เราได้ซื้อที่ดิน จำนวน 2 แปลง ในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่กว่า 720 ไร่ (ฟาร์ม 1) และ 2,800 ไร่ (ฟาร์ม 2) เพื่อทำฟาร์มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยได้พัฒนาส่งให้กับเกษตรกรกว่า 18 จังหวัดทั่วภาคอีสาน และรับรังไหมกลับเพื่อใช้ผลิตผ้าไหมต่อไป โดยในพื้นที่ เรามีทั้งโรงสาวเส้นไหม โรงทอผ้า โรงฟอกย้อม และโรงพิมพ์ผ้าด้วย”

ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เราจะมีเวลาว่างระหว่างวัน ประกอบกับพื้นที่ของฟาร์มมีเป็นจำนวนมาก จึงเกิดเป็นแนวคิดที่จะปลูกพืชพรรณอื่นๆ ซึ่งทำเป็นเกษตรอินทรีย์ เช่น ฟักทองสายพันธุ์ต่างๆ ผักสลัด เป็นต้น กระทั่งต่อมา ในปี 2542 จึงได้เริ่มเปิดขายสินค้าทางการเกษตร โดยเปิดขายช่วงสั้นๆ ในเดือน ธ.ค. – ม.ค.

เมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงเริ่มนำรถบัสพาคนเที่ยวชมพื้นที่ภายในฟาร์ม ทำมาเรื่อยๆ ถึงปี 2549 จำนวนคนที่มากขึ้น จึงเกิดต่อยอดความคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนที่มาเที่ยวชมฟาร์มสามารถอยู่ภายในฟาร์มได้ทั้งวันโดยไม่ต้องไปเที่ยวที่อื่น จนเกิดเป็นแนวคิดพัฒนาฟาร์มเป็นแหล่ง ‘การท่องเที่ยวเชิงเกษตร’ รวมถึง ‘ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน’

ปี 2550 ได้เปิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมอีสาน และได้รับเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี โดยในปี 2555 – 2556 มีนักท่องเที่ยวรวม 2 – 3 แสนคน เฉพาะช่วงปีใหม่ประมาณ 2 – 3 หมื่นคน กระทั่งได้หยุดฟาร์มทัวร์ไปช่วงปี 2563 – 2564 เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 และกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งในปี 2565

สัมผัสความงามของศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน

จิม ทอมป์สัน และพื้นที่ภาคอีสานมีความสัมพันธ์อันดีมาเนิ่นนาน จึงได้มีความคิดนำวัฒนธรรมประเพณีอีสาน ‘ฮีต 12 เดือน’ เข้ามาใช้ รวมถึงมีการไปรวบรวมเรือนและอาคารสถาปัตยกรรมอีสาน มาจัดตั้งเป็นหมู่บ้านไว้ในพื้นที่ฟาร์ม มีทั้งแบบที่ไปจำลองแบบมาสร้าง และแบบที่ยกเอาของจริงมาด้วย เช่น เฮือนแฝด เฮือนเกย หอไตรของวัด นอกจากเป็นการตกแต่งเพิ่มความงามให้สถานที่ ยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมไปในตัว

นอกจากนี้ ยังมีเวทีแสดงดนตรี ซึ่งจัดแสดงศิลปะและดนตรีพื้นบ้านอีสาน และอีสานร่วมสมัยอีกด้วย โดยผู้ชมจะได้สัมผัสกับความเป็นพื้นบ้านอีสานที่สวยงาม ที่นับวันยิ่งหาดูได้ยากในยุคสมัยปัจจุบัน

ทั้งงดงามและยั่งยืน

นอกจากจุดขายเรื่องธรรมชาติและวัฒนธรรมอีสาน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ยังให้ความสำคัญกับความ ‘ยั่งยืน’ ได้แก่ ‘ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม’ โดยการทำเกษตรอินทรีย์ และนำสินค้าเหลือจากร้าน จิม ทอมป์สัน มาขายราคาพิเศษ หรือนำเศษวัสดุจากการผลิตสินค้าเหลือใช้กลับมาผลิตเป็นสินค้าและของที่ระลึก

‘ความยั่งยืนด้านสังคม’ เช่น แรงงานในฟาร์มทั้งหมดเป็นคนในชุมชน งานปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีคนงานกว่า 200 คน โรงงานสาวไหมกว่า 300 คน รวมเป็นแรงงานประมาณ 500 คน

ส่วนงานฟาร์มทัวร์ที่เป็นงานเฉพาะกิจประจำปี จะจ้างเป็นกรณีพิเศษ สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยไม่ต้องจากบ้านไปทำงานต่างถิ่น หลายคนทำเกษตรของตัวเองอยู่แล้ว งานในฟาร์มก็สามารถเป็นแหล่งรายได้เสริมได้

นอกจากนี้ ช่วงมีกิจกรรมฟาร์มทัวร์ สินค้าของชาวบ้านในพื้นที่ละแวกฟาร์มก็ขายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา และรีสอร์ตของชาวบ้านก็มีคนเช่าเต็มแทบทุกวัน รวมถึงร้านอาหารของชาวบ้านทั้งนอกและในฟาร์มต่างได้รายได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมฟาร์มทัวร์

‘ความยั่งยืนขององค์กร’ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม พยายามจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี ซึ่งนอกเหนือจากปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลผลิตทางการเกษตร ผ้าไหม และฟาร์มทัวร์แล้ว ยังเปิดให้เช่าพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์และละคร เป็นรายได้มากพอให้บริหารจัดการฟาร์มได้ทั้งปี และในอนาคตอาจจัดเป็นการท่องเที่ยวแบบแคมป์คาร์

‘ความยั่งยืนทางการเกษตร’ ฟาร์มพยายามทำเรื่องเกษตรธรรมชาติ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี หรือการทำนาข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่ฟาร์ม 2 ประมาณ 30 – 40 ไร่ ปีละ 2 ครั้ง โดยจะได้ผลผลิตข้าวมาขายช่วงฟาร์มทัวร์ทุกปี อีกทั้งยังมีหลายองค์กรหลายคณะต้องการเข้ามาศึกษาดูงานด้านการเกษตรเป็นจำนวนมาก ซึ่งฟาร์มยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความรู้

ศิลปะในหัวใจ

ไม่ใช่แค่การแสดงดนตรีและสถาปัตยกรรมอีสานเท่านั้น ในฟาร์มยังร่วมกับศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยทั่วทั้งฟาร์ม โดยปี 2565 ได้รับเกียรติจาก ‘ยุรี เกนสาคู’ ศิลปินและนักออกแบบสาวลูกครึ่งไทย – ญี่ปุ่น ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ มาออกแบบคาแร็คเตอร์และธีมงาน นำสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของฟาร์ม เช่น บุญหลายควายหนุ่ม สัตว์คู่บุญของฟาร์ม รถบัสสีสดใสประจำฟาร์ม และดอกไม้สีสดใสมาสร้างเป็นคาแร็คเตอร์การ์ตูน ภายใต้คอนเซปต์งานออกแบบที่มีสีสันจัดจ้าน

เรื่องศิลปะเป็นสิ่งที่ จิม ทอมป์สัน ให้ความสำคัญเสมอมา ไม่ใช่แค่ที่ฟาร์ม แต่ยังมี ‘พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน’ (Jim Thompson House) อาณาจักรบ้านเรือนไทยไม้สัก 6 หลัง ที่เคยเป็นที่พำนักของ เจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมริมคลองแสนแสบในซอยเกษมสันต์ 2 ในซอยเดียวกันยังมี ‘หอศิลป์จิม ทอมป์สัน’ (Jim Thompson Art Center) แหล่งท่องเที่ยวไลฟสไตล์ ทั้งศิลปะ ห้องสมุด คาเฟ่ งานอีเวนท์ต่างๆ ร้านอาหาร และบาร์

เกษตร ศิลปะ วัฒนธรรม และผู้คน รวมเป็นหนึ่งสู่ความยั่งยืน

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ความน่าสนใจของ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม คือ การนำด้านต่างๆ ทั้ง เกษตร ศิลปะ วัฒนธรรม และผู้คน รวมเป็นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม จึงเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งของการจัดการที่มุ่งสู่ความยั่งยืนผ่านกิจกรรมหรือการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ชัดผ่าน ‘จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์’

จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG (Environment, Social, และ Governance) โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล เพื่อความยั่งยืน ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

ใกล้วันหยุดปีใหม่ หลังฝ่าฟันการทำงานมาทั้งปี ใครมองหาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจไม่ไกลมากจากกรุงเทพฯ ‘จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม’ เป็นอีกหนึ่งแห่งที่น่าสนใจ ที่จะต้อนรับทุกท่านด้วยแสงแดดและสายลมเย็น พร้อมความงดงามของดอกไม้และพืชนานาพรรณ เป็นอีกตัวเลือกที่รับรองว่า เมื่อได้ไปเยือนแล้ว จะประทับใจมิรู้ลืม

จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เปิดต้อนรับทุกท่าน ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2565 ถึง 2 ม.ค. 2566 สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและจองตั๋วได้ที่ https://bit.ly/3BGecXJ

เขียนโดย : Phoothit Arunphoon

ภาพจาก : Jim Thompson Farm

Sources: https://bit.ly/3HRrJ2m

https://bit.ly/3jmGzny