1. หุ่นยนต์ต้องไม่ทำร้ายมนุษย์ หรือปล่อยให้มนุษย์ได้รับอันตรายโดยการอยู่เฉยๆ
2. หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ จะขัดกับกฎข้อแรก
3. หุ่นยนต์ต้องปกป้องการมีอยู่ของตัวเอง ตราบใดที่การกระทำนันไม่ขัดกับกฎข้อแรก และข้อสอง
นี่คือกฎ 3 ข้อที่ว่าด้วยเรื่องหุ่นยนต์ของไอแซก อาซิมอฟ (Isaac Asimov) เจ้าพ่อนักเขียนนิยาย Sci-Fi ผู้จินตนาการถึงอนาคตของหุ่นยนต์ และอนาคตในอีกหลายหมื่นปีข้างหน้า แล้วเขาเป็นใคร มาจากไหน กฎนี้ยังใช้ได้จริงอยู่รึเปล่า? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
‘ไอแซก อาซิมอฟ’ ตัวพ่อแห่งวงการ Sci-Fi
ไอแซก อาซิมอฟ คือนักเขียนนิยายชื่อดังที่เกิดในปี 1920 เมื่ออายุ 3 ขวบ เขาได้ย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่บรุกลิน นิวยอร์ก โดยไอแซกได้ศึกษาปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ ปริญญาโทด้านแพทย์ และปริญญาเอกด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี 1945
หลังจากจบการศึกษา เขาได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน แต่นอกเหนือจากบทบาทการเป็นเรือจ้างพาลูกศิษย์ไปสู่ฝั่งฝันแล้ว ไอแซกก็ยังเป็นนักเขียนด้วย เขาเผยว่า เริ่มเขียนนิยาย Sci-Fi มาตั้งแต่ปี 1939 ซึ่งเรื่องแรกนั่นก็คือ ‘Marooned off Vesta’
โดยนับจากนั้นเป็นต้นมา เขาก็ได้ฝึกเขียน และผลิตชิ้นงานออกมาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานชิ้นเอกอย่าง Foundation I, Robot หรือแม้กระทั่ง Nightfall เรื่องสั้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่ไม่เคยพบในความมืด แต่พอวันหนึ่งมันกลับมาเป็นครั้งแรกในรอบ 2,049 ปี ส่งผลให้เขาก้าวขึ้นสู่การเป็นตัวพ่อนักเขียนนิยาย Sci-Fi ของวงการไปโดยปริยาย
‘Foundation’ ผลงานชิ้นเอกของไอแซก อาซิมอฟ
Foundation คืออีกหนึ่งผลงานเขียนอันเลื่องชื่อของไอแซก อาซิมอฟ ที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1951 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการล่มสลาย และการเกิดใหม่ของจักรวรรดิหรือแสงสว่างแห่งอนาคต โดยถูกพัฒนามาจาก 5 เรื่องสั้นที่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
มีใจความสำคัญว่า ฮาริ เซลดอน (Hari Seldon) นักคิดค้นศาสตร์แห่งการทำนายอนาคตได้ทำนายว่า จักรวรรดิกำลังล่มสลายใน 500 ปี และจะก้าวเข้าสู่ยุคมืดในอีก 30,000 ปีข้างหน้านี้
โดยไอแซกก็ถือเป็นนักเขียนคนแรกๆ ที่เสนอทฤษฎีว่าด้วยเรื่องพลังงานปรมาณูที่จะปฏิวัติสังคม ในการระบุถึงวิธีการที่ Foundation สถาบันสถาปนาที่รวมเอาความรู้จักรวาลมาไว้ในสารานุกรมจะตอบสนองต่อปัญหาที่ตนทำนายไว้
อีกทั้งก็ยังพูดถึงศาสนาพื้นเมืองเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า มันไม่ต่างอะไรจากยาควบคุมมวลชน และการมาของวิทยาศาสตร์ในฐานะความเชื่อใหม่ของมวลมนุษยชาติ โดย Foundation ก็ได้คว้ารางวัล Hugo Award นิยายที่ดีที่สุดในปี 1966 ด้วย
แม้กฎ 3 ข้อที่ว่าด้วยเรื่องหุ่นยนต์ของไอแซกจะเป็นที่นิยมมากสักเท่าไร แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป และจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง เนื่องจาก ตอนที่บัญญัติกฎยังไม่ได้มีหุ่นยนต์แบบต่างๆ มากมายขนาดนี้ เช่น หุ่นยนต์สอดแนม หุ่นยนต์ทิ้งระเบิด และหุ่นยนต์ที่สร้าง DNA เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่แปลกว่า ทำไมมันถึงอาจจะไม่เวิร์กกับความเป็นจริงในตอนนี้นั่นเอง
Sources: https://bit.ly/42xkfcs