ทำไม iPod จึงเป็น ‘One Major Thing’ ของ Apple ตลอดกาล

Share

“This is an excellent rectangle.”

คำนิยามถึงเครื่องเล่นเพลงอัจฉริยะจาก Business Insider ที่มีการเปิดตัวไอพอดครั้งแรกเมื่อปี 2001 หลังจากนั้น เครื่องเล่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่จุเพลงหลายพันเพลงก็ส่งให้แอปเปิล (Apple) กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ด้วยยอดขายมากกว่า 400 ล้านเครื่อง ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเพลงในสหรัฐอเมริกาเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ ‘Nostalgia’ ของคนมิลเลนเนียลไปโดยปริยาย

แม้ว่าปี 2017 จะถึงจุดสิ้นสุดของนวัตกรรมฮาร์ดไดร์ฟขนาดจิ๋วไปแล้ว แต่ปัจจุบันคนเจนวายที่เติบโตมาพร้อมกับไอพอดก็ยังคงโหยหา และคิดถึงการฟังเพลงผ่านอุปกรณ์เล็กกระทัดรัดอยู่ดี

ขณะที่โทรศัพท์มือถือที่ครอบคลุมฟังก์ชันการฟังเพลงได้แบบไม่จำกัด แต่ ‘iPod’ กลับได้ชื่อว่าเป็น ‘One Major Thing’ ของแอปเปิลที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมดนตรีได้สั่นสะเทือนมากที่สุด แถมยังพ่วงมาพร้อมกับ ‘Scroll Wheel’ อันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้การฟังเพลงของเราเปลี่ยนไปตลอดกาล

จุดเริ่มต้นของ ‘iPod’ เกิดขึ้นพร้อมกับช่วงเวลาที่สื่อดิจิทัลกำลังเฟื่องฟู ตลาดใหม่ๆ ที่เข้ามาซัพพอร์ตอุตสาหกรรมบันเทิงได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งการฟังเพลงจากแผ่นซีดี สเตอริโอขนาดใหญ่ เครื่องเล่นเทปชนิดพกพาอย่าง ‘ซาวนด์อะเบาต์’ รวมถึงการ Rip ไฟล์เพลงลงคอมพิวเตอร์ก็ด้วย

แต่ปัญหาของวิธีการเหล่านี้ก็คือ การพกพาเครื่องเล่นเพลงในช่วงแรกๆ ไม่สะดวกนัก เพราะมีขนาดใหญ่เทอะทะและยังจุเพลงได้น้อยอีกด้วย

ในตอนนั้นเองที่แอปเปิลมองเห็นโอกาสในตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้เล่นเจ้าสนามอยู่แล้ว การจะลงไปสู้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีแอปเปิลต้องโยน ‘สิ่งใหม่’ เข้าไป ไม่ใช่แค่การต่อยอด-พัฒนาของเดิมให้อยู่ในเลเวลที่ดีขึ้น

กระทั่งจอน รูบินสไตล์ (Jon Rubinstein) อดีตหัวหน้าฝ่ายฮาร์ดแวร์ของบริษัทได้พบกับฮาร์ดไดร์ฟขนาดจิ๋ว แต่มีความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลและพกพาได้ด้วย แน่นอนว่านี่คือสิ่งที่แอปเปิลกำลังมองหา จากนั้น มันได้ถูกคิดค้นปรับแต่งจนกลายเป็นเครื่องเล่นเพลง ‘iPod’ เปิดตัวสู่สายตาคนทั่วโลกพร้อมกันครั้งแรกเมื่อปี 2001

แม้ว่าไอพอดจะได้รับกระแสตอบรับและเสียงชื่นชมจากแฟนเดนตายของแอปเปิล และคอดนตรีทั่วโลก แต่อีกด้านหนึ่งก็มีนักวิจารณ์ออกมาแสดงความเห็นว่า ไอพอดเป็นโปรดักต์ราคาสูงที่มีการตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้อยู่แล้ว โดยเป็นกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นนั่นคือผู้ใช้งานที่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง เพราะสิ่งที่น่าสนใจจริงๆ คือการใช้งานที่ถูกออกแบบมาอย่างเฟรนด์ลี่ รวมถึงการตลาดของแอปเปิลที่หากได้ลองใช้ไอพอดไปแล้ว ผู้บริโภคก็อาจพิจารณาที่จะลองใช้โปรดักต์อื่นตามมาอีก

นอกจากนี้ ไอพอดยังเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมดนตรี มีส่วนช่วยส่งเสริมสนับสนุนปัญหาลิขสิทธิ์เพลงด้วย โดยช่วงต้นทศวรรษ 2000 การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับวงการดนตรีที่พุ่งทยานไปข้างหน้า การดาวน์โหลดเพลงฟรีและนำมาปล่อยแบบผิดลิขสิทธิ์ไม่อาจทำให้อุตสาหกรรมเพลงดำรงอยู่ได้ แต่ ‘iTunes’ เข้ามาเชื่อมต่อ เป็นตัวกลางระหว่างผู้บริโภคด้วยการโยนโซลูชันการซื้อเพลง และราคาที่ไม่แพงลงไป

“iPod และ iTunes เป็นเหมือนแสงสว่างในช่วงเวลาอันเยือกเย็นของอุตสาหกรรมนี้” ประธานสมาคมอุตสาหกรรมแผ่นเสียงเคยให้สัมภาษณ์กับ Newsweek นิตยสารสัญชาติอเมริกัน

แต่ผ่านเวลาไปพักใหญ่ในช่วงที่มิวสิค สตรีมมิง เข้ามาแทนที่ อำนวยความสะดวกสบายให้กับคอเพลงมากกว่า ยอดขายไอพอดจึงค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ กระทั่งทิม คุก (Tim Cook) ออกมาบอกว่า ทุกคนรู้ดีว่ายอดขายไอพอดตกต่ำ กและปัจจุบันไลน์สินค้าไอพอดก็หลงเหลือไว้เพียง ‘iPod Touch’ เท่านั้น ส่วนรุ่นคลาสสิกที่มีวงล้อ ‘Scroll Wheel’ ถูกพับเก็บไปเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบัน แอปเปิลหันมาแตกไลน์มิวสิค สตรีมมิ่ง ด้วย ‘Apple Music’ ที่ยังคงทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมเพลงและคนฟังไว้อย่างใกล้ชิด แม้จะไม่ได้ใช้วิธีปัดวงล้อระหว่างฟังแบบเดิมแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไอพอดได้ทำหน้าที่ปฏิวัติวงการดนตรี ทำให้การฟังเพลงกลายเป็นเรื่องเซ็กซี่อย่างมีชั้นเชิง

Sources: https://bit.ly/3vaBulO

https://bit.ly/3LduZ72

https://bit.ly/3y4g7V9

https://cnet.co/3OB4tXE