เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในหน้าฟีดไทม์ไลน์ของใครหลายๆ คนอาจจะเคยพบเห็นคลิปวิดีโอ การไลฟ์สดขายของของชาวจีนที่ต้องร้องว้าวกับระดับความไวแสง ในการโชว์สินค้า โดยแต่ละชิ้นจะได้รับแอร์ไทม์เฉลี่ยเพียงแค่ 1 วินาทีเท่านั้น
ผู้ที่ได้รับชมอาจจะคิดว่าการขายของเช่นนี้จะได้รับความสนใจจากผู้ซื้อได้อย่างไร แต่ในความเป็นจริงการขายสินค้าเช่นนี้ สร้างผลกระทบมากกว่าที่คุณคิดเสียอีก
วันนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับเทรนด์ใหม่แห่งการซื้อของ ‘Impulse Purchase’ การซื้อสินค้าแบบของมันต้องมี ที่หากคุณไม่ระวังตัวอาจจะ เอฟสินค้าเกินกว่าเงินที่คุณมีในกระเป๋าได้เลย
[ ‘Impulse Purchase’ คืออะไร ]
“คำนิยามอันสวยหรูของมัน คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีลักษณะการซื้อสินค้าทันทีโดยไม่คิดไตร่ตรองให้ดีก่อน”
แต่ถ้าให้พูดตามภาษาชาวบ้านก็คือ คำพูดที่ว่า “ของมันต้องมี” นั่นแหละ ซื้อแบบไม่คิดเพียงแค่เห็นราคาว่าสามารถเข้าถึงได้ หรือ ความอยากได้บังตาเอาไว้
ในมุมมองของความรุนแรงในพฤติกรรม Impulse Purchase นั้นอาจจะดูไม่ได้รุนแรงถึงขั้นอันตรายต้องห้ามเด็ดขาด แต่มันก็ค่อนข้างที่จะทำให้สุขภาพทางการเงินของคุณสั่นคลอนได้ กับเพียงแค่พฤติกรรมการซื้อของโดยไม่คิดเนี่ยแหละ
[ 4 ประเภทของ ‘Impulse Purchase’ ]
1. Pure impulse purchasing หรือ “ของมันต้องมีอย่างแท้จริง”
ประเภทแรกคือ ของมันต้องมีอย่างแท้จริง อธิบายให้เห็นภาพ “คุณซื้อของที่ร้านค้าและกำลังจะจ่ายเงิน คุณเห็นลูกอมและขนมอยู่ข้างที่คิดเงิน ในหัวคุณไม่ได้คิดสิ่งใดแต่การกระทำคือคุณหยิบสินค้าเหล่านั้นขึ้นตระกร้าของคุณ” นี่คือพฤติกรรมของประเภทที่ 1 ไม่ร้ายแรงเท่าไหร่นัก แค่เผลอๆ หยิบแบบลืมตัว
2. Suggestion impulse purchasing หรือ “ของมันต้องมีแบบกระตุ้น”
ประเภทที่สองคือ ของมันต้องมีแบบกระตุ้น อธิบายให้เห็นภาพ “คุณกำลังซื้อน้ำหวานอยู่ แต่ก็หันไปเห็นป้ายแนะนำสินค้าประเภทหนึ่งเป็นน้ำที่ไม่มีแคลลอรี่ หวานศูนย์เปอร์เซ็นต์ คุณหยุดการซื้อน้ำหวานและหันไปซื้อน้ำประเภทนั้นแทน” นี่คือพฤติกรรมที่ถูกกระตุ้น ผลกระทบอาจจะมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างในตัวอย่างคืออาจจะต้องการดูแลสุขภาพจึงเปลี่ยนการซื้อสินค้าเมื่อถูกกระตุ้น
3. Reminder impulse purchasing หรือ “ซื้อไปก่อนของมันต้องมี”
ลูกค้าในประเภทนี้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ต้องการซื้อสินค้าเลย หรือ พูดง่ายๆ ว่าเขามีโอกาสในการซื้อสินค้าเราตอนนี้ 0 เปอร์เซ็นต์ แต่จะทำอย่างไรให้เขาซื้อสินค้าเรากัน มันคือการกระตุ้นเช่นเดียวกับประเภทที่ 2 แต่ว่ามีข้อจำกัดต้องเป็นลูกค้าเก่าเท่านั้น ดังนั้น ประเภทนี้จึงจะเกิดขึ้นกับการซื้อขายแบบ B2B เสียมากกว่า
4. Planned impulse purchasing หรือ “ของมันต้องมีเพราะโปรโมชั่นดี”
ประเภทสุดท้ายจะเป็นการหลอกล่อด้วยราคาของสินค้าที่อาจจะถูกกว่าตลาดแต่ต้องซื้อในจำนวนมากๆ ซึ่งตรงกับแนวคิดที่ให้คุณซื้อสินค้าเยอะๆ โดยไม่คิดไตร่ตรองให้ดีก่อน ถูกล่อลวงด้วยความคุ้มค่าที่ไม่สนเหตุสมผล เป็นประเภทที่ค่อนข้างอันตรายเพราะถ้าขาดสติเพียงแค่นิดเดียวคุณอาจจะมีปัญหาทางด้านการเงินได้ทันที
[ สรุปส่งท้าย ]
หากให้พูดในกรณีศึกษา การไลฟ์สดที่เป็นเทรนด์ใหม่จากจีน เรามองว่ามันเป็นการ ‘Impulse Purchase’ รูปแบบหนึ่งอาจจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมอยากรู้ว่าสิ่งที่โชว์ให้ดูนั้นคืออะไรกัน หรือ อาจจะอยู่ในประเภทของ Planned impulse purchasing ที่ใช้โปรโมชั่นมาล่อลวงให้ซื้อสินค้าโดยไม่คิด
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการคิดวิเคราะห์ก่อนกระทำสิ่งใดก็ตาม ทุกๆ เรื่องล้วนควรผ่านกระบวนความคิดก่อนที่จะตัดสินใจ
ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะหมดตัวได้จากเพียงแค่ คำว่า “ของมันต้องมี”
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Sources: https://www.simplicitydx.com/blogs/impulse-buying-in-social-commerce-fact-or-fiction
https://www.shopify.com/retail/10-tactics-for-impulse-buying