“เด็กสมัยนี้นี่มัน…” รู้จัก The ‘Kids These Days’ Effect เหตุผลที่ผู้ใหญ่ชอบใช้ตัวเองเป็นมาตรวัด

Share

“เด็กสมัยนี้นี่มัน…”
“เด็กสมัยนี้ก็เป็นแบบนี้แหละ”

ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สองประโยคด้านบนคือวลีอันน่าเจ็บปวดที่คนรุ่นใหม่มักจะได้ยินออกมาจากปากของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘มนุษย์ผู้ใหญ่’ อยู่เสมอ ซึ่งในหลายๆ ครั้ง ก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไรด้วย อย่างเช่น การตำหนิว่าเด็กรุ่นใหม่นั้นมีความอดทนที่ต่ำ ขี้เกียจ ไม่มีความเคารพ หรือแม้กระทั่งการไม่ได้เป็นไปตามพิมพ์เขียวที่ผู้ใหญ่คาดหวัง

โดยหลักๆ แล้ว ก็เป็นผลมาจากความคิด ความเชื่อ มุมมองที่แตกต่างกัน อีกทั้ง การมองด้วยสายตาที่ ‘ไม่เป็นกลาง’ ก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญของเรื่องนี้เช่นกัน

เมื่อไม่กี่ปีก่อน จอห์น พรอตซ์โก (John Protzko) และโจนาธาน สกูเลอร์ (Jonathan Schooler) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา บาร์บารา (University of California, Santa Barbara) เคยพูดถึงประเด็นดังกล่าวในงานวิจัยเรื่อง ‘Kids these days: Why the youth of today seem lacking’ บนวารสาร Science Advances เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ไทยเท่านั้นที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เด็กสมัยนี้แย่กว่าสมัยก่อนเยอะ” แต่จริงๆ แล้ว ผู้ใหญ่อเมริกันส่วนใหญ่ก็พูดประโยคนี้เหมือนกัน

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันอายุ 33-51 ปี จำนวน 3,458 คน เกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อเด็กรุ่นใหม่พบว่า ลึกๆ แล้วที่มีต้นตอมาจากการประเมินผ่านการอิงกับเกณฑ์ของ ‘ตัวเอง’

โดยในการศึกษาครั้งแรก พวกเขาขอให้ผู้ใหญ่ตอบแบบสอบถามว่า หากเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ ตนคิดว่าเด็กรุ่นใหม่มีความเคารพผู้ใหญ่น้อยกว่าหรือไม่? ผลปรากฏว่า ผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กสมัยนี้มีความเคารพผู้ใหญ่น้อยกว่ามักจะเป็นคนที่ชื่นชอบอำนาจเผด็จการ (Authoritarianism) เป็นพิเศษ

ส่วนการศึกษาครั้งที่ 2 พวกเขาถามผู้ใหญ่ว่า ตนคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ฉลาดน้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ หรือไม่? ผลปรากฏว่า ผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กรุ่นใหม่ฉลาดน้อยลงมักจะเป็นคนที่มีระดับสติปัญญา (Intelligent  Quotient หรือ I.Q.) สูง

ในการศึกษาครั้งที่ 3 จากการถามผู้ใหญ่ว่า ตนคิดว่าเด็กรุ่นใหม่รู้สึก Enjoy กับการอ่านหนังสือมากแค่ไหน? พวกเขากลับพบว่า ผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบอ่านหนังสือ หรืออ่านไม่เป็นมักเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเป็นประจำ

และในการศึกษาครั้งที่ 4 กับ 5 ที่เป็นการเจาะลึกของผู้ใหญ่ที่ชอบอ่านหนังสือก็ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า แท้จริงแล้ว ที่ผู้ใหญ่เหล่านี้คิดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบอ่านหนังสือมากเท่ากับคนรุ่นก่อนๆ นั้นเป็นผลพวงมาจากการมีความทรงจำที่บิดเบี้ยว และการรับรู้ในทักษะการอ่านของตัวเอง

โดยปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังของผู้ใหญ่ที่สบถออกมาว่า “เด็กสมัยนี้นี่มัน…” หรือ ‘The Kids These Days Effect’ นั่นก็คือ การมีความเอนเอียงของหน่วยความทรงจำ (Memory Bias) ที่ถูกแต่งแต้มด้วยความเป็นตัวเองในปัจจุบัน และการพยายามนึกถึงอดีต ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีแนวโน้มจะหยิบสิ่งต่างๆ มาสวมทับโดยไม่รู้ตัว หรือการมี ‘อคติ Presentism’ ที่ฝังแน่นอยู่ภายในก้นบึ้งจิตใต้สำนึก

เพราะฉะนั้น นี่เลยทำให้พวกเขาเอาแต่ผลิตซ้ำความคิด ความเชื่อ และความทรงจำแบบผิดๆ เผลอคิดว่า เด็กสมัยนี้ทำได้ไม่ดีเพียงเพราะตัวเองทำได้ดี รวมไปถึงการที่คนมีอายุมักมองว่า ชีวิตในอนาคตของตัวเองไม่น่าจะดีไปกว่าชีวิตในอดีต

ตรงกันข้ามกับคนอายุน้อยที่มองว่า ชีวิตในอนาคตของตัวเองสามารถดีกว่าอดีต และปัจจุบันได้อีก หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘เด็กสมัยนี้มองโลกด้วยสายตาแห่งความหวังที่มากกว่า’ นั่นเอง

เจสัน ดอร์ซีย์ (Jason Dorsey) ประธานศูนย์วิจัยด้านการเคลื่อนไหวของเจเนอเรชัน (Center for Generation Kinetic) อธิบายว่า “ทุกวันนี้ เจนแซด (Gen Z) กำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 และแรงกดดันโดยตรงจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนๆ ไม่เคยเจอ นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายเรื่องสุขภาพจิต การเว้นระยะห่างทางสังคม และการเรียนทางไกลเข้ามาเกี่ยวด้วย”

เจสันทิ้งท้ายไว้ว่า “หนทางการแก้ปัญหานี้ คือการสร้างบทสนทนาให้คนสองวัยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่เรียกเด็กรุ่นใหม่ว่า ‘พวกเกล็ดหิมะ (Snowflakes)’ หรือเด็กรุ่นใหม่ที่เรียกผู้ใหญ่ว่า ‘ไดโนเสาร์ (Dinosaurs)’ ทุกคนต่างก็เป็นคนเหมือนกัน และต้องอยู่ในโลกใบเดียวกัน”

เราเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เจอปัญหา และมีวิธีการรับมือกับความเจ็บปวดที่ไม่เหมือนกัน คงไม่แฟร์นักที่จะเอาสิ่งที่ตัวเองเคยเจอหรือมีไปเป็นมาตรฐานตัดสินคนรุ่นอื่น ทุกคนต่างก็มีสนามรบเป็นของตัวเอง อย่าให้คำเหล่านี้กลายเป็นวาทกรรมที่คอยสร้างบาดแผลให้คนฟังอย่างไม่จบไม่สิ้นเลยนะ 🙂

Sources: https://bit.ly/3yFFtYB

https://bit.ly/3Vs1fsB

https://bit.ly/3MvueHX

https://bit.ly/3T2aXjY

https://bbc.in/3A4wwte