ก่นด่ารุนแรง ไม่ได้ช่วยให้คนได้ดีเสมอไป ‘อยากได้น้ำผึ้ง อย่าตีรังผึ้ง’ แนวคิดการบริหารฉบับ Dale Carnegie

Share

“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี เวลาเลี้ยงลูกอย่าเอาแต่ทะนุถนอม เมื่อทำผิด ต้องรู้จักตีสั่งสอนบ้าง เพื่อให้ลูกหลาบจำ และไม่ผิดซ้ำซากอีก”

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปสักเท่าไร สำนวนนี้ก็ยังคงเป็นจริงในแง่มุมของการเลี้ยงลูกสำหรับบางครอบครัว แต่สำหรับโลกของการทำงานก็อาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะจริงๆ แล้ว ความรุนแรงไม่ได้เท่ากับความรัก แถมไม้เรียว การก่นด่ารุนแรง และความกดดันก็อาจจะไม่ได้สร้างคน Groom ลูกน้องให้เติบโตได้ดีด้วย

แล้วทำไมความรุนแรงถึงไม่ใช่คำตอบที่ดี เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น? ในบทความนี้ Future Trends จะเล่าให้ฟังผ่าน ‘ถ้าอยากได้น้ำผึ้ง อย่าตีรังผึ้ง’ แนวคิดการบริหารของเดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) อาจารย์ และผู้แต่งหนังสือขายดีระดับโลกกัน

“If You Want to Gather Honey, Don’t Kick Over the Beehive.” ถ้าอยากได้น้ำผึ้ง อย่าเตะหรือตีรังผึ้ง

นี่คือคำแนะนำสุดคลาสสิกของเดล คาร์เนกีที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อปี 1936 ในหนังสือ How to Win Friends & Influence People โดยเป็นแนวคิดที่เขาระบุว่า หากต้องการบริหารจัดการทีมให้ดี และมีประสิทธิภาพ ควรใช้ความเข้าอกเข้าใจ และปฏิสัมพันธ์กันด้วยมิตรไมตรี ไม่บังคับหรือขู่ เพื่อตักตวงประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว

การวิพากษ์วิจารณ์ ประณาม หรือบ่นเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เพราะนอกจากไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ก็ยังทำให้สถานการณ์แย่ลง สร้างบาดแผลให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บปวด และขุ่นเคืองใจในระยะยาวด้วย

มันไม่ต่างอะไรกับคนเลี้ยงผึ้งที่อยากได้น้ำผึ้ง แต่ดันทะลึ่งไปตีรังให้ผึ้งกระเจิง พอถึงเวลานั้น ก็ย้อนศรกลับมาปล่อยเหล็กในใส่เราอีก และบางทีความเจ็บปวดจากคำวิจารณ์ที่แหลมคมอาจกินเวลาของคนคนหนึ่งไปตลอดชีวิตเลยก็ได้

เดลแนะนำว่า “อย่าวิพากษ์วิจารณ์ ประณาม หรือบ่นใคร ไม่ว่าพวกเขาจะทำผิดพลาด ทำออกมาแย่แค่ไหนก็ตาม ให้พยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงทำเช่นนั้น เพราะวิธีนี้จะช่วยให้เรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Sympathy) ความอดทน อดกลั้น (Tolerance) และความมีเมตตา (Kindness) มากขึ้น ก่อนจะพยายามเปลี่ยนใครสักคน ควรเริ่มที่ตัวเองก่อน เนื่องจาก ทำแล้วมันได้ประโยชน์มากกว่า และอันตรายน้อยกว่า”

มีบทความหนึ่งบนเว็บไซต์ออปเซิร์ฟเวอร์ดอตคอม (Observer.com) อธิบายประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ตามปกติ เรามักจะจดจำความทรงจำเชิงบวก (Positive Memories) ที่มีอารมณ์เป็นองค์ประกอบหลักได้ อย่างเช่น ความรักของพ่อแม่ ความภูมิใจในตัวลูก

ส่วนเหตุการณ์เชิงลบมักถูกจดจำด้วยภาพที่ชัดเจนมากกว่า และสมองของเราใช้เวลาครุ่นคิดถึงมันหลังจากเกิดขึ้นมากกว่า เพราะเหตุการณ์เหล่านี้มักอยู่ท่ามกลางความรู้ความเข้าใจที่มากกว่า ดังนั้น มนุษย์เราจึงมีแนวโน้มจะจมปลักกับแง่ลบมากกว่าแง่บวกนั่นเอง

นอกจากนี้ สตีเวน สตอซินี (Steven Stosny) ผู้ก่อตั้งคอมแพชชันพาวเวอร์ (CompassionPower) และผู้แต่งหนังสือ Empowered Love ได้พูดถึงเรื่องดังกล่าวบนเว็บไซต์ไซโคโลจี ทูเดย์ (Psychology Today) ว่า “เวลาที่เราวิจารณ์คนอื่น เราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพวกเขา แต่เราทำเพื่อปกป้องอีโก (Ego) ของตัวเอง มันเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารกับผู้คน เป็นการกระทำที่ลดคุณค่าของพวกเขาลง เรามักจะเอาอีโกมาทำร้าย และพยายามส่งมันไปให้คนอื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น”

การสอนหนังสือต้องใช้ทั้งศาสตร์ และศิลป์ฉันท์ใด การบริหารก็อาศัยทั้งศาสตร์ และศิลป์ฉันท์นั้น ถ้าหัวหน้าสักแต่จะวิจารณ์ ประฌาม หรือบ่น ไม่ลองทำความเข้าใจก่อน ทำตัวแบบ Garbage in – Garbage out แนวคิดที่ว่า ‘ถ้าเอาขยะใส่ลงไป เราก็จะได้ขยะกลับมา’

หรือสำนวนไทยอย่าง ‘รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง’ มัวแต่โทษฟ้า โทษฝน โทษทุกอย่างที่ขวางหน้า ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก วันหนึ่งลูกน้องที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำผึ้ง และอาศัยอยู่ในรังก็อาจจะทนไม่ไหว ไม่ให้น้ำผึ้ง และปล่อยเหล็กในใส่ให้เจ็บปวดในที่สุด…

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ ตอนนี้อยากได้น้ำผึ้ง แต่กำลังตีรังผึ้งอยู่รึเปล่า? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bit.ly/3TjIpTf

https://bit.ly/3TFXTjY

https://bit.ly/3THxFhj

https://bit.ly/3Df11OA

https://bit.ly/3TvTyAc

https://bit.ly/3CNOLTF