นอกจากความยากของงานที่ต้องรับผิดชอบในทุกๆ วันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกหนึ่งโจทย์สุดหินในการทำงานสำหรับหัวหน้าหลายๆ คน คงหนีไม่พ้นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในทีมของตัวเอง ยิ่งทีมเข้ากันมากเท่าไร ประสิทธิภาพการทำงานในทีมก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น
ถึงแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า ทีมที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่การจะสร้างทีมที่ดีกลับไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด และบางทีปัญหาก็เกิดจากตัวหัวหน้าเองด้วยซ้ำ
ไม่ว่าจะด้วยจำนวนชั่วโมงบิน หรือการสั่งสมประสบการณ์มามากกว่าคนอื่นๆ ทำให้หลายๆ ครั้ง หัวหน้าจะมีภาพการทำงานเป็นของตัวเองตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะหน้าที่ของหัวหน้าคือการมองภาพรวมให้ขาด แล้วคอยนำทางทีมไปเรื่อยๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือภาพการทำงานที่หัวหน้ากับทีมเห็นกลับไม่ตรงกัน
ถ้าหัวหน้าเลือกที่จะคุยกับทีม และปรับภาพการทำงานให้ตรงกันก็ถือเป็นเรื่องที่ดีไป แต่ถ้าหัวหน้ายังคงยึดถือการทำงานตามภาพที่ตัวเองวางไว้ และไม่ยอมรับฟังใครเลย ก็ไม่ต่างกับการวางตัวเป็นศูนย์กลางของวงโคจรที่ลูกทีมมีหน้าที่แค่หมุนรอบไปมา
และการที่หัวหน้าเอาแต่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ถือเป็นการวางระเบิดเวลาลูกที่อันตรายที่สุดให้กับทีมของตัวเอง…
แล้วหัวหน้าจะสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพื่อสร้างสมดุลการทำงานระหว่างตัวเองกับทีมได้อย่างไรบ้าง?
Future Trends จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘Humanistic Leader’ ศาสตร์แห่งการเป็นหัวหน้าที่มีความสมดุลในทุกๆ ด้าน และเข้าใจทุกคนอย่างถ่องแท้ในแบบฉบับของเครก นาธานสัน (Craig Nathanson) นักเขียนที่มีประสบการณ์การทำงานกับบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ มากว่า 20 ปี
ก่อนจะเป็น ‘Humanistic Leader’ ต้องเข้าใจตัวเอง
จริงๆ แล้ว นิยามของ Humanistic Leader ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อน แต่หมายถึงหัวหน้าที่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คน’ กับ ‘งาน’ อย่างสมบูรณ์ เพราะหัวหน้าบางคนเก่งเรื่องการดูแลทีม แต่ไม่เก่งเรื่องการบริหารงาน ส่วนหัวหน้าบางคนก็เก่งเรื่องการบริหารงานมาก แต่ดูแลทีมไม่ได้เลย
ดังนั้น Humanistic Leader จึงเป็นศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อปั้นคนให้เป็นหัวหน้าสายสมดุลที่มีความครบเครื่องรอบด้านนั่นเอง
แต่การจะสร้างรากฐานความเป็นหัวหน้าแบบ Humanistic Leader ได้อย่างสมบูรณ์ ต้องเริ่มจากการเข้าใจตัวเอง (Self-Awareness) เป็นอันดับแรกก่อน ซึ่งหัวหน้าต้องตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทในทีมของตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ที่แท้จริงคืออะไร ขอบเขตการทำงานกับทีมมีแค่ไหน และสิ่งสำคัญที่ทีมต้องโฟกัสคืออะไรกันแน่
หลังจากที่หัวหน้าทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทในทีมของตัวเอง และสามารถกำหนดขอบเขตการทำงานได้แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการคิดเชิงระบบ (System Thinking) หรือการมองภาพรวมการทำงานในทีม ถือเป็นส่วนสำคัญที่ชี้วัดความสำเร็จในการนำทีมของหัวหน้าเลยทีเดียว
เมื่อหัวหน้าเข้าใจหน้าที่ของตัวเองอย่างถ่องแท้ และมองภาพรวมการทำงานที่สอดคล้องกับทีม ความเป็น Humanistic Leader หรือหัวหน้าสายสมดุลที่เข้ากับทุกคนได้ดีก็จะเกิดขึ้นในที่สุด
4 นิสัยการเป็น ‘Humanistic Leader’ ที่เข้ากับทุกคนได้ดี
นอกจากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับความหมายของ Humanistic Leader แล้ว เรายังรวบรวม 4 นิสัยการพัฒนาตัวเองในสไตล์ของ Humanistic Leader มาฝากทุกคนกันด้วย เพื่อให้ได้ลองนำไปใช้กับการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและการบริหารทีมของตัวเอง
1. เชื่อใจลูกทีมที่ทำงานด้วยกัน
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาการยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของหัวหน้า คือความไม่เชื่อใจ และการไม่ยอมปล่อยวางจากงานที่มอบหมายให้ลูกทีมไปแล้ว การที่หัวหน้ายังคอยจ้ำจี้จ้ำไช กำหนดทิศทางการทำงานในทุกขั้นตอน มีแต่จะทำให้ลูกทีมรู้สึกอึดอัด และไม่มีความสุขในการทำงาน
ซึ่งหัวหน้าสามารถปล่อยวางการทำงานของทีมได้ โดยเริ่มจากความเชื่อมั่นในความสามารถของลูกทีม ปล่อยให้พวกเขาเป็นคนจัดการงานที่ได้รับมอบหมาย ส่วนหัวหน้าก็ทำหน้าที่สนับสนุนเมื่อเกิดปัญหา และคอยตรวจสอบความถูกต้องที่ปลายทางก็พอ
2. รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด
ในยามที่เกิดปัญหาหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คนแรกที่ทีมจะนึกถึงคือ ‘หัวหน้า’ แม่ทัพที่คอยกำหนดทิศทางการทำงานของทีม ทำให้หัวหน้าต้องคอยให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาอยู่ตลอด แต่บางครั้งการให้คำปรึกษากลับกลายเป็นการออกสั่งที่สุดแสนจะอึดอัดใจแทน
ดังนั้น หัวหน้าต้องอ่านเกมให้ออก รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เพื่อให้คำปรึกษากับทีม และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
3. มีความเข้าอกเข้าใจ
ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นหัวหน้า เมื่อหัวหน้าเข้าใจข้อจำกัดและธรรมชาติการทำงานของลูกทีมแต่ละคนแล้ว การทำงานของทีมจะดำเนินไปด้วย ‘ทุกคน’ ไม่ใช่แค่ความต้องการของ ‘หัวหน้า’ เพียงคนเดียว
4. สร้างการมีส่วนร่วมในทีม
บรรยากาศการทำงานดี ย่อมต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทีม สร้างทีมที่เป็นทีมจริงๆ และไม่ปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งรู้สึกโดดเดี่ยว
ดังนั้น หัวหน้าต้องพยายามสร้างการมีส่วนร่วมในทีม หยิบยกความสำเร็จมาพูดคุยกับทีมบ่อยๆ ให้ทีมรู้สึกมีจุดมุ่งหมายในการทำงาน รวมถึงคอยรับฟังความเห็นของลูกทีมแต่ละคนอยู่เสมอ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานที่ใส่ใจทีมมากขึ้น โดยไม่ยึดถือความต้องการของตัวเองเป็นหลัก
ถึงแม้การทำงานที่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จะเป็นปัญหาที่อยู่ในสังคมการทำงานมานาน แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ หากนำเทคนิคที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ไปปรับใช้ทีละเล็กทีละน้อย รับรองว่า วิธีการทำงานและการบริหารทีมของคุณจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน